'พัชรวาท' ร่ายยาวขอบคุณ สส.-สว.แนะนโยบายที่มีประโยชน์

'บิ๊กป๊อด' ขอบคุณ สส.-สว. เสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวข้องกระทรวงทรัพย์ฯ บอกรวบรวมทั้งหมด เพื่อนำไปยกระดับ ฟิตจัดส่งต่อให้ส่วนราชการทำทันที โชว์ แผนแก้ฝุ่น PM 2.5 -ภัยแล้ง อย่างเป็นรูปธรรม

13 ก.ย.2566 - พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.ว่าได้รับฟังข้อเสนอแนะ และข้อห่วงใยของสมาชิกรัฐสภาอย่างครบถ้วน ซึ่งต้องขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง โดยจากนี้ ตนจะดำเนินการรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดที่มีประโยชน์ เพื่อนำไปยกระดับการพัฒนางานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ พร้อมได้สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รับไปปฏิบัติในทันที ส่วนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ก็ได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหา ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะการลดฝุ่นที่แหล่งกำเนิดจากยานพาหนะ และโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการควบคุมการเผาป่า การเผาวัสดุการเกษตร และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบการผลิต ภาคการเกษตร การจัดการพื้นที่ป่าไม้อย่างยั่งยืน และหมอกควันข้ามแดน เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวถึงการเตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ก็ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเร่งกักเก็บน้ำ สูบทอยน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรอง และเตรียมเครื่องจักรปฏิบัติการเติมน้ำจากน้ำฝน และเติมน้ำใต้ดิน รวมถึงทำแผนจัดสรรน้ำควบคู่กับแผนการเพาะปลูกในฤดูแล้ง และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก ไปจนถึงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่ โดยเน้นย้ำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และให้ตระหนักการใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้ง ได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ ทั้งแหล่งน้ำผิวดินและขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง พร้อมจัดเตรียมความพร้อมของศูนย์ผลิตน้ำดื่มสะอาด จุดบริการน้ำอุปโภค-บริโภค ชุดเจาะบ่อบาดาลและฟื้นฟูบ่อบาดาลเก่า รถบรรทุกน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในระดับส่วนกลางที่กระทรวง และระดับจังหวัด

“แนวทางการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 และเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ร้อยละ 40 ในปี ค.ศ. 2030 จึงได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินการ โดยมีแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามเป้าหมาย NDC พ.ศ. 2564 - 2573 และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข เป็นต้น รวมทั้ง ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ตลอดจน ผลักดันกลไกภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้กับภาคเอกชน และส่วนการแก้ไขปัญหาขยะยังได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม ในการประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชน การจัดการและคัดแยกขยะครัวเรือน ขยะชุมชน ยกระดับสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง 1,963 แห่ง และตรวจสอบควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงการจัดการขยะของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทการจัดการขยะของประเทศที่กระทรวงจัดทำไว้ การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด รวมถึงการเร่งรัดออกกฎหมายใหม่ให้สามารถเสนอมาตรการป้องกันใหม่ๆ อาทิ พระราชบัญญัติซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น”พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวต่อว่า ในส่วนการจัดที่ดินทำกินภายใต้โครงการ คทช. ถือเป็นการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าให้กับราษฎรในลักษณะแปลงรวม มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ยังรักษามิติในการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ประกอบด้วย 1. การจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (คทช.) โดยดำเนินการตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 2. การอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และในส่วนโครงการจัดหาน้ำบาดาล ได้สั่งการเร่งรัดกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 47 โครงการ 48 แห่ง ดำเนินการแล้วเสร็จ 29 แห่ง คงเหลือ 19 แห่ง ปัจจุบันได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว 7 แห่ง สำหรับ 12 แห่ง อยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลโดยเร่งด่วนต่อไป

พล.ต.อ.พัชรวาท ย้ำใวงท้ายว่า ในนามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน สำหรับทุกข้ออภิปราย และข้อห่วงใย เราจะใช้ 4 ปีนี้ขับเคลื่อนทุกวาระที่ทุกท่านได้ฝากกันมาให้สำเร็จ พร้อมทั้งขอเรียนว่า เรามีหน่วยงานกระจายตัวอยู่ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ท่าน สส. สว. ทุกท่าน สามารถประสานงานได้ทั้งกับผม พร้อมทั้งเสนอแนะกับคณะทำงานที่เกี่ยวข้องและข้าราชการของกระทรวง เพื่อขับเคลื่อนวาระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พีระพันธุ์' ลั่น 'รทสช.' ชงกฎหมายปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป

'พีระพันธุ์' เผย 'รทสช.' เตรียมยื่นร่างกฎหมาย ปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อปเข้าสภาวันนี้ ชี้ ต้องแก้กฎหมายที่ยุ่งยาก หวังลดภาระค่าไฟฟ้า-สร้างอาชีพใหม่ให้ประชาชน พร้อมขอบคุณ 'นายกฯ' ที่สนับสนุน

'ประเสริฐ' ขึงขังต้องเคลียร์ภูมิใจไทยโหวตประชามติแต่ไม่รู้ต้องถึงมือ 'ทักษิณ-อิ๊งค์' หรือไม่

'ประเสริฐ' รับปม 'ภูมิใจไทย' โหวตสวนร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ต้องมาคุย-ทำความเข้าใจ ตอบแทนไม่ได้ต้องถึงมือ 'ทักษิณ-อิ๊งค์' หรือไม่

'ประเสริฐ' การันตี 'มาดามหน่อย'ลงชิงเก้าอี้ อบจ.โคราชในนามเพื่อไทย

'ประเสริฐ' กระซิบเสียงดัง 'ยลดา' ประสงค์สวมเสื้อ พท.ลงชิงนายก อบจ.นครราชสีมา รอเจ้าตัวประกาศทางการ จับตา รับ 'ทักษิณ' 20 ธ.ค.ที่โคราช

'อนุทิน' ลั่นใครผิดว่าไปตามผิดปมเด็ดชีพ 'สจ.โต้ง'

มท.1 ยังไม่ทราบปม 'สจ.โต้ง' ถูกยิงดับคาบ้าน 'สุนทร วิลาวัลย์' ขอให้ ตร.สืบสวนก่อน ยันทุกอย่างเดินตามกฏหมาย ไม่มีช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นพวกใคร