'นักวิชาการอิสระ' ชี้ถึงเวลากระจายอำนาจโครงสร้างตร.ยุบสตช.เหลือกองปราบฯทำหน้าที่เหมือนเอฟบีไอ

'กมล' ยกเหตุตำรวจถูกยิงที่บ้านกำนันนก ถึงเวลากระจายอำนาจโครงสร้างตำรวจ ยุบสตช.ให้เหลือกองปราบปรามหน่วยเดียวทำหน้าที่เหมือนเอฟบีไอ ที่เหลือโอนให้เป็นตำรวจท้องถิ่น ยกเลิกชั้นยศ ตั้งตำแหน่งตามอำนาจหน้าที่แทน

13 ก.ย. 2566 - นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ถึงเวลากระจายอำนาจโครงสร้างตำรวจ(เสียที) มีเนื้อหาดังนี้

มหาโศกนาฏกรรมจาก หนองบัวลำภูที่ตำรวจกราดยิงฆ่าหมู่ประชาชน ถึงกรณีตำรวจมาเป็นบริวารเจ้าพ่อกำนันนกนครปฐมที่ตำรวจน้ำดีถูกสังหารกลางงานเลี้ยงท่ามกลางตำรวจนั่งล้อมรอบ
การปฏิรูปตำรวจได้พูดกันมานาน ตั้งแต่สมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุฬานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้งตำรวจน้ำดี พลเอก วสิษฐ์ เดชกุญชร เป็นประธานคณะกรรมการร่างแผนการปฏิรูปตำรวจ
ถึงวันนี้ วงการตำรวจยังเหมือนเดิม เช่น การซื้อตำแหน่ง การรับส่วยสารพัด การคุ้มครองธุรกิจสีเทา
หลักการของการปฏิรูปตำรวจควรมีหลักใหญ่ๆตามนี้
การกระจายอำนาจโดยการยุบสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เหลือกองปราบปรามหน่วยเดียวทำหน้าที่เหมือนเอฟบีไอของอเมริกา
ที่เหลือโอนให้เป็นตำรวจท้องถิ่นจัดการกันเอง ขึ้นต่อผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้ง และนายกเทศมนตรีเหมือนระบบตำรวจญี่ปุ่นและอเมริกา
ยกเลิกชั้นยศ ตั้งตำแหน่งตามอำนาจหน้าที่แทน
ตั้งคณะกรรมการตำรวจที่มาจากการเลือกตั้งที่มีองค์ประกอบหลายภาคส่วนในท้องถิ่น เป็นต้น
ตัวอย่างการปฏิรูปตำรวจไทย ศึกษาจากอเมริกาที่ไม่มีนายพล ไม่มีโครงสร้างแบบกองทัพ
ระบบตำรวจอเมริกัน : ระบบการกระจายอำนาจ
ระบบตำรวจอเมริกันมีชั้นยศน้อยมาก แต่แบ่งอำนาจความรับผิดชอบตามหน้าที่มากกว่า คล้ายๆกับพนักงานของบริษัท อเมริกาไม่มีระบบหรือโครงสร้างตำรวจแห่งชาติ แต่มีการแบ่งอำนาจและหน้าที่เป็นส่วนงานตามภูมิศาสตร์ 5 โดย มี 5 หน่วยงานหลักดังนี้
1. Federal
2. State
3. County Police , Sheriffs 4. Municipal
5. Other

1. Federal : ตำรวจส่วนกลาง ซึ่งขึ้นต่อกระทรวงยุติธรรม
The Federal Bureau of Investigation (FBI), หน่วยสืบสวนกลางหรือ เอฟบีไอ มีหน้าที่สืบสวน สอบสวนในทุกระดับทั่วประเทศ เป็นตำรวจส่วนกลางของชาติ ขึ้นต่ออธิบดีกรมอัยการ ( Attorney General ) และ ผู้อำนวยการหน่วยสืบราชการลับ(Director of National Intelligence) มีอำนาจครอบคลุมในการสืบสวนและจับในคดีกว่า 200 ประเภท เอฟบีไอ แม้ว่าบทบาทหน้าที่หลักมีขอบเขตออยู่ภายในประเทศ แต่ ก็มีตัวแทนทำงานเป็นสำนักเล็กๆในสถานทูต 60 แห่ง ทั่วโลก และในสถานกงศุลอีก 15 แห่ง เพื่อทำงานลับ

2. State ตำรวจของรัฐ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ เช่น ตำรวจของรัฐ ( State police ) ตำรวจทางหลวง (Highway patrol) , กำลังพลของรัฐ ( State Troopers) . มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย การสืบสวน สอบสวน ในขอบเขตทั้งรัฐ โดยการลาดตระเวนบนทางหลวง และทางด่วน ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่และเชื่อมต่อระหว่างรัฐ ช่วยเหลือในด้านการสืบสวนสอบสวนแก่ตำรวจอำเภอและท้องถิ่นที่มีทัพยากรไม่พอ และมีขอบเขตงานแค่ในพื้นที่ของตน

3. County ตำรวจของอำเภอ มีชื่อเรียกว่า Sheriff มีหน้าที่และบทบาทดูแลและบังคับใช้กฎหมาย การสืบสวน สอบสวนในพื้นที่ห่างไกลในชนบทที่ยังไม่เป็นเมืองใหญ่ บางรัฐมีบทบาทร่วมกับตำรวจประจำเมือง บางรัฐทำหน้าที่เฉพาะอย่าง เช่น ลาดตระเวนบนทางหลวง นำหมายศาลไปส่งจำเลย ดูแลผู้พิพากษาและความปลอดภัยในศาล ควบคุมนักโทษมาขึ้นศาล ดูแลและลาดตระเวนเขตป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ

4. Municipal ตำรวจของเมือง หรือตำรวจ(ประจำ) ท้องถิ่น มักจะมีชื่อตามเมือง เช่น NYPD ( New York Police Department) คือ ตำรวจเมืองนิวยอร์ก หรือ LAPD ( Los Angeles Police Department) คือ ตำรวจเมืองลอสแอนเจลิส ชื่อเหล่านี้มักปรากฏให้เห็นจนคุ้นตาในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด
งบประมาณจะมาจากภาษีของประชาชนในแต่ละเมืองหรือท้องถิ่น ตำรวจเป็นลูกจ้างหรือพนักงานขององค์กรปกครองท้องถิ่น

5. Other ตำรวจเฉพาะด้าน เช่น ตำรวจจราจร ( Transit police ) ตำรวจโรงเรียน- ( ( School district police ), ตำรวจมหาวิทยาลัย (Campus police) , ตำรวจสนามบิน ( Airport police) ตำรวจรถไฟ( Railroad police) , ตำรวจอุทยานแห่งชาติ ( Park police) เป็นต้น ตำรวจเหล่านี้ รวมทั้ง Sheriff อาจจะเป็นลูกจ้างของบริษัทรักษาความปลอภัยเอกชนที่หน่วยงานของรัฐจ้างมาทำหน้าที่นี้ ( ทหารอเมริกันที่ไปรบในประเทศอิรัคบางหน่วยก็เป็นลูกจ้างของบริษัทเหล่านี้ หรือคุกบางแห่งก็เช่นเดียวกัน

หน้าที่หลักๆของตำรวจมี 3 ด้าน คือ

1. รักษาความสงบสุขและดูแลความปลอดภัยของประชาชนและสังคม ป้องกันการก่อความไม่สงบต่อผู้อื่น เช่น เมื่อประชาชนมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ตำรวจมีหน้าที่มาดูแลรักษาความสงบสุขและดูแลความปลอดภัยของประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหรือเกิดความเสียหายต่อสาธารณสมบัติ เป็นต้น

2. การบังคับใช้กฎหมายที่ถูกละเมิด เช่น การปล้น การฆาตกรรม การขโมย การฝ่าฝืนกฎจราจร ฯลฯ ซึ่งผิดกฎหมาย

3. การให้บริการฉุกเฉิน
ชั้นยศและตำแหน่งของตำรวจอเมริกัน
ตำรวจอเมริกันไม่ได้มีชั้นยศหรือตำแหน่งแบบข้าราชการ แต่แบ่งตามหน้าที่และความรับผิดชอบ ตำแหน่งต่อไปนี้ใช้โดยทั่วไปในสำนักงาน กรม หรือ กอง ของตำรวจทั้งในระดับรัฐและระดับเมือง
ตำแหน่งสูงสุดของตำรวจซึ่งมีหลายชื่อที่เรียกกัน คือ Police Commissioner/Chief of Police/Superintendent: ถ้าแปลเป็นไทย คือ หัวหน้าตำรวจ มีหน้าที่ 4 ด้าน คือ

1. แต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
2. ตรวจตราและติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
3. กำหนดนโยบายและออกระเบียบให้หน่วยงานตำรวจทั้งหมดนำไปปฏิบัติ
4. ทำรายงานผลการปฏิบัติงานเสนอผู้ว่าการรัฐหรือ นายกเทศมนตรีอย่างสม่ำเสมอ
Assistant Chief: ผู้ช่วยหัวหน้าตำรวจ
เป็นตำแหน่งอันดับสอง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักงานตำรวจในระดับรัฐที่ดูแลหลายเมือง
Deputy Chief/Deputy Commissioner/ Deputy Superintendent: รองหัวหน้าตำรวจ
เป็นตำแหน่งอันดับสาม มีหน้าที่แล้วแต่จะได้รับการมอบหมายจากหัวหน้าตำรวจ

ตำแหน่งอื่นๆ
Inspector/Commander: นักสืบ
Colonel: พันเอก เป็นผู้บริหารระดับสูง
Major/Deputy Inspector: พันโท เป็นผู้กำกับสถานีตำรวจ
Captain: พันตรี เป็นผู้บังคับหน่วย
Lieutenant: ร้อยโท เป็นหัวหน้าดูแลนายจ่า หรือบางแผนกงานในสำนักงาน
Sergeant: นายจ่า เป็นผู้ดูแลและจัดเวลาทำงานให้ตำรวจออกไปปฏิบัติการ
Detective/Inspector: นักสืบนอกเครื่องแบบ ซึ่งมีอำนาจหลายๆด้านมากกว่าตำรวจประจำการ
Officer/Deputy: เป็นตำแหน่งระดับล่างที่สุดของตำรวจ มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและรักษาความสงบในพื้นที่สาธารณะ
มีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติและยกเลิกระบบโครงสร้างตำรวจอย่างทั่วด้าน เพราะว่าตำรวจไทยยังติดยึดอยู่กับมายาคติเก่าที่ว่า
“ ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ที่ตำรวจไทยจะทำไม่ได้ “
แม้ว่าตำรวจที่ดีจะมีมาก แต่บทบาทของตำรวจเลวกับเด่นกว่าและทำให้ภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและตำรวจโดยรวม “เน่าไปทั้งข้อง”
ปัญหาหลักนั้นเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างแบบกองทัพทหาร ที่ไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การวมศูนย์อำนาจการบังคับบัญชามาอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งนำไปสู่การรับผลประโยชน์ในหลายๆรูปแบบ จึงเกิดการซื้อขายตำแหน่งกันด้วยเงินก้อนมหาศาลในแต่ละตำแหน่ง

ดังนั้นการปรับโครงสร้างโดยการกระจายอำนาจ และตัดลดงานให้เหลือเฉพาะ 3 ด้านแบบระบบอเมริกัน คือ
1.การรักษาความสงบสุข
2.การบังคับใช้กฎหมาย ( มิใช่เป็นผู้ละเมิดเสียเอง) และ
3.การให้บริการฉุกเฉินเพียงเท่านี้ และยกเลิกยศตำแหน่งทั้งหมดให้เป็นตำแหน่งตามหน้าที่ของงานที่รับผิดชอบเหมือนภาคเอกชน
ในด้านการบริหารให้โอนไปขึ้นกับงบประมาณขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นโดยมีการสรรหาคณะกรรมการตำรวจประจำจังหวัดมาเป็นผู้กำกับนโยบาย ให้ตำรวจทำหน้าที่ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎรที่แท้จริง” มิใช่ตรงกันข้ามอย่างทุกวันนี้

ต้องมีระบบประเมินผลงานเป็นประจำ ถ้าบกพร่องในหน้าที่ หรือละเมิดวินัย หรือทำความผิดอื่นก็ต้องปลดออกหรือไล่ออก ไม่ใช่ใช้ระบบย้ายไปก่อกรรมหรือทำความผิดในพื้นที่อื่น คนที่รับกรรมคือประชาชนในพื้นที่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักวิชาการ' ค้านตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีน แนะรัฐควรช่วยผู้ประกอบการแบบจีน

นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ และประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

'กมล' ยกหลักคิดนักปรัชญาการเมือง ตอบโจทย์ 'สินค้าจีนราคาถูก ดีหรือเสีย ต่อคนไทย'

นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ และประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค เผยแพร่บทความเรื่อง สินค้าจีนราคาถูกดีหรือเสียต่อคนไทย มีเนื้อหาดังนี้

จี้รัฐบาลไทย เอาอย่าง สิงคโปร์ ปฏิรูปกม.ต่อต้านมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ ทางออนไลน์ และไซเบอร์

นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ เขียนบทความ เรื่อง สิงคโปร์ ปฏิรูปกม.ต่อต้านมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ ทางออนไลน์ และไซเบอร์ (Cybersecurity Act) และ (Computer Misuse Act)

'นักวิชาการ' ยกเคสอเมริกา 'เงินดิจิทัล' ควรโอนเข้าบัญชีให้คนจน นำไปล้างหนี้จะเพิ่มกำลังซื้อ

นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึง โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า