ฟังเข้าใจง่ายๆ เเต่ละเอียด "อัยการธนกฤต" อธิบายสาเหตุไม่มีการขอนับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ ระบุ คดีหวยบนดินฟ้องก่อนเป็นคดีแรก จึงขอนับโทษต่อจากคดีใดไม่ได้ เผยคดีเอ็กซิมแบงค์ที่ฟ้องภายหลังแต่ตัดสินก่อน เเต่ โจทก์ ป.ป.ช. ในขณะนั้น ไม่ได้ขอแก้ฟ้อง คดีหวยบนดินให้นับโทษต่อ จากคดีเอ็กซิมแบงค์
24 ส.ค.2566 - ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐาน ให้ความเห็นทางกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า สาเหตุที่ไม่มีการขอนับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ ด้วยมีผู้มาสอบถามผมหลายคนว่า เพราะเหตุใดจึงไม่มีการขอนับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการให้ความรู้ทางกฎหมายในเรื่องนี้แก่ท่านที่สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ผมขออธิบายโดยสรุปดังนี้
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า คดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องรับโทษทั้ง 3 คดี มีการฟ้องคดีหวยบนดินเป็นคดีแรก เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551
ต่อมาจึงมาฟ้องคดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ เป็นคดีที่สอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 และฟ้องคดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ปเป็นคดีสุดท้าย เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม. 5/2551
แต่ทั้ง 3 คดีนี้ คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ ซึ่งถูกฟ้องเป็นคดีที่สอง กลับกลายมาเป็นคดีแรกที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิน
จากนั้นจึงตัดสินคดีหวยบนดินตามมา และปิดท้ายด้วยการตัดสินคดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป
เมื่อคดีหวยบนดินถูกฟ้องเป็นคดีแรก จึงยังไม่มีคดีเอ็กซิมแบงค์ที่จะมาขอให้นับโทษต่อในขณะที่ฟ้องคดีหวยบนดิน เพราะยังไม่มีการฟ้องคดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ต่อศาล
ดังนั้น โดยสภาพความเป็นจริงแล้ว ในขณะที่ฟ้องคดีหวยบนดิน จึงขอนับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ไม่ได้ เพราะยังไม่มีคดีเอ็กซิมแบงค์ที่จะขอให้นับโทษต่อ
อย่างไรก็ตาม ในบรรดา 3 คดีนี้ คดีเอ็กซิมแบงค์ที่ถูกฟ้องเป็นคดีที่สอง กลับกลายมาเป็นคดีแรกที่ศาลตัดสินดังที่กล่าวไปในตอนต้น โดยมีคำพิพากษาตัดสินคดีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 และตัดสินคดีหวยบนดินตามมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562
ดังนั้น ถึงแม้ในขณะฟ้องคดีหวยบนดิน เป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะขอนับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว แต่เมื่อศาลฎีกาได้ตัดสินคดีเอ็กซิมแบงค์ก่อนคดีหวยบนดิน
โจทก์ในคดีหวยบนดิน คือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดย ป.ป.ช. เข้ามาเป็นคู่ความแทน และเป็นโจทก์ในคดีเอ็กซิมแบงค์ด้วย ยังสามารถขอแก้ไขคำฟ้องคดีหวยบนดิน เพื่อขอให้นับโทษในคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ได้ เพราะได้มีการฟ้องคดีและมีการตัดสินคดีเอ็กซิมแบงค์แล้ว ซึ่งแล้วแต่ดุลพินิจของศาลฎีกาว่าจะอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องคดีหวยบนดินเพื่อให้นับโทษต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์หรือไม่
แต่โจทก์ คือ ป.ป.ช. ในขณะนั้น ไม่ได้มีการแก้ไขคำฟ้องเพื่อขอให้นับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ ดังนั้น จากที่กล่าวมาจึงเป็นสาเหตุ 2 ประการ ที่ทำให้ไม่มีการขอนับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ ทั้งการที่คดีหวยบนดินเป็นคดีแรกที่ฟ้องก่อน จึงไม่สามารถที่จะขอให้นับโทษต่อจากคดีใดได้ และเมื่อต่อมา คดีเอ็กซิมแบงค์ ซึ่งถูกฟ้องภายหลัง แต่ถูกตัดสินก่อนเป็นคดีแรก
โจทก์ในคดีหวยบนดินก็ไม่ได้ขอแก้ไขคำฟ้องคดีหวยบนดิน เพื่อขอให้นับโทษต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ด้วย ทำให้การนับโทษคดีหวยบนดินซึ่งถูกตัดสินเป็นคดีที่สองให้จำคุก 2 ปี ต้องนับซ้อนไปกับโทษในคดีเอ็กซิมแบงค์ที่ถูกตัดสินเป็นคดีแรก ให้จำคุก 3 ปี โดยเริ่มนับโทษไปพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่เป็นวันที่ศาลออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุด หรือ หมายแดง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 ที่บัญญัติให้โทษจำคุกเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
ส่วนคดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป มีอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องคดี และเป็นคดีสุดท้ายที่ศาลตัดสิน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ซึ่งอัยการสูงสุดได้ขอให้ศาลนับโทษคดีชินคอร์ปต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์และคดีหวยบนดินครบถ้วนถูกต้องแล้ว เมื่อคดีชินคอร์ป ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี จึงนับโทษต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์และคดีหวยบนดินที่ตัดสินไปก่อนแล้ว รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี ( 3 ปี (3 ปี คดีเอ็กซิมแบงค์กับ 2 ปี คดีหวยบนดิน นับโทษซ้อนกัน) + 5 ปี คดีชินคอร์ป = 8 ปี) ตามที่ผมได้เคยให้ความเห็นลงในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เวลา 8.30 น.
ข้อสังเกต ทั้ง 3 คดีนี้ โจทก์ได้ขอให้นับโทษต่อจากคดีที่ดินรัชดาทั้งสิ้น เพราะคดีที่ดินรัชดาฟ้องก่อน เมื่อปี 2550 ส่วนอีก 3 คดี มาฟ้องภายหลัง เมื่อปี 2551 แต่คดีที่ดินรัชดา ศาลตัดสินก่อน เมื่อปี 2551 ส่วน 3 คดีนี้ ศาลมีคำพิพากษาตัดสินหลังจากเวลาล่วงไปเป็นสิบปีแล้วคือ คดีเอ็กซิมแบงค์ และ คดีหวยบนดิน ตัดสินเมื่อปี 2562 และคดีชินคอร์ป ตัดสินเมื่อปี 2563
โดยทั้ง 3 คดี ศาลไม่ให้นับโทษต่อจากคดีที่ดินรัชดาตามที่โจทก์ขอมาในฟ้อง เพราะนายทักษิณ ชินวัตร หลบหนีไป จนล่วงเลยอายุความลงโทษ 10 ปี แล้ว ซึ่งเป็นกำหนดอายุความลงโทษสำหรับโทษจำคุก 2 ปี ที่ศาลตัดสินในคดีที่ดินรัชดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 (3)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทวี' ยันให้ข้อมูลความจริงที่ไม่มีกฎหมายห้าม ใครเห็นต่างก็หาหลักฐานมาหักล้าง ปมทักษิณชั้น 14
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร
'เด็จพี่' ได้ทีจวกเหล่านักร้อง ทำให้เกิดความปั่นป่วน ขู่เมื่อร้องผิดคีย์ต้องโดนลงโทษ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยอ้างว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้าง
'จตุพร' ตอกย้ำศาลรธน.รับคำร้องคดีล้มล้าง เพื่อหยุดอหังการอำนาจ เริ่มจุดเปลี่ยนบ้านเมือง
ลุ้นศาล รธน.พิจารณาคำร้อง 'จตุพร' เชื่อรับไว้วินิจฉัยเพื่อหยุดอหังการอำนาจ ลั่นจะเริ่มจุดเปลี่ยนบ้านเมือง เปิดความหวังประเทศก้าวเดินสู่ผลประโยชน์ชาติ
'นิพิฏฐ์' เฉลย 'ยิ่งลักษณ์' กลับไทยเป็นไปได้ 'ทักษิณ' ไม่ได้พูดเล่นๆ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปิดเผยว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯหนีคดีทุจริตจำนำข้าว อาจจะกลับประเทศไทยก่อนสงกรานต์ปีหน้า ว่า ระบุว่า
เดือดพลั่ก! ยธ. แถลงโต้ กมธ.มั่นคงฯ ไม่มีอำนาจเรียก ทวี-อธิบดีกรมคุก ชี้แจงทักษิณชั้น 14
นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวรชัย บุตรดาบุตร เลขานุการกรมราชทัณฑ์ นายณรงค์ หนูคง ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ และ น.ส.วริศรา กุญชร ณ อยุธยา ผอ.กองกฎหมาย
เดือด! 'โตโต้' สวน ยธ. ยันมีอำนาจสอบทักษิณป่วยทิพย์ ลั่น กมธ.มั่นคงฯทำงานครอบจักรวาล
นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม.พรรคประชน (ปชน.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร