องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ร่อนแถลงการณ์ค้านลดโทษคนโกงชาติ วอนนายกฯทบทวน

11 ธ.ค.2564 - ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่ แถลงการณ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เรื่อง คัดค้านการลดหย่อนผ่อนโทษให้กับผู้ต้องขังคดีคอร์รัปชัน

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯ แก่ผู้ต้องขัง ส่งผลให้ผู้ต้องขังในคดีคอร์รัปชันหลายรายที่ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับเศรษฐกิจของประเทศตลอดจนความอัปยศอดสูของชาวนา กลายเป็นประเด็นแห่งความชอกช้ำของสังคมอย่างที่ประวัติศาสตร์ไม่อาจจะลืมได้ แต่ขณะนี้กลับได้รับการลดหย่อนโทษอย่างรวดเร็วด้วย

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ในฐานะตัวแทนของสังคมในการสร้างพลังของคนไทยในการล้มล้าง ต่อต้านการคดโกงแผ่นดินมีข้อสังเกตว่า ในการพระราชทานอภัยโทษฯ เมื่อปี พ.ศ. 2559 ได้ยึดหลักว่า จะไม่พิจารณาลดหย่อนผ่อนโทษให้กับคดีคอร์รัปชัน คดีข่มขืนและคดียาเสพติด ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ได้ทำกันมาอยู่แล้ว ตามที่พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรีและอดีต รมว.ยุติธรรม ได้เคยกล่าวไว้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ทราบว่าด้วยเหตุใดและโดยใคร ทำให้หลักเกณฑ์ที่เคยเป็นหลักความเชื่อมั่นของระบบยุติธรรมเปลี่ยนแปลงไปจนเอื้อประโยชน์ในการลดหย่อนผ่อนโทษให้กับนักโทษโดยเฉพาะคดีคอร์รัปชันอย่างไม่น่าได้ลดหย่อนรวดเร็วขนาดนั้น

การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำเสมอว่า คอร์รัปชันเป็นเรื่องร้ายแรงของสังคมไทย ต้องปราบปรามอย่างจริงจัง คนผิดต้องถูกจับติดคุกโดยเร็วด้วยโทษทัณฑ์ที่เด็ดขาดรุนแรง รวมทั้งประกาศให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ การลดหย่อนผ่อนโทษขึ้นครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องสวนทางกับความรู้สึกของประชาชน บ่อนทำลายความพยายามของ ป.ป.ช. อัยการ และศาล ในการเอาคนผิดมาลงโทษ ซึ่งเท่ากับส่งเสริมให้คนโกงไม่เกรงกลัว และกลับทำให้คนที่เป็นพยานและคนชี้เบาะแสกลโกงต้องหวาดกลัวว่าคนโกงที่ติดคุกไม่กี่วันแล้ว เมื่อถูกปล่อยตัวออกมาจากคุก อาจกลับมาคุกคามสวัสดิภาพของพวกเขาเหล่านั้นได้

ดังนั้นเพื่อให้คนโกงชาติ ทำร้ายสังคมเกิดความยำเกรงกับบทลงโทษที่รุนแรงให้สาสม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณานำหลักเกณฑ์การอภัยโทษ พ.ศ. 2559 กลับมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนในกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการให้อภัยโทษ การลดหย่อนผ่อนโทษ และการพักโทษนั้นจะสามารถกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขใด นอกจากนั้นให้มีการกำหนดเพิ่มเติมถึงข้อห้ามที่เข้มงวดอย่างยิ่งสำหรับคดีคอร์รัปชันร้ายแรงและมีโทษรุนแรงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

ก. กระทำโดยนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงหรือข้าราชการในกระบวนการยุติธรรม
ข. ความผิดตามที่รัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้
ค. คดีที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของชาติ
ง. การเสนอชื่อรับสิทธิ์ของผู้ต้องขังคดีร้ายแรงต้องมีกระบวนการทบทวนอย่างเหมาะสม
จ. เงื่อนไขอื่น เช่น ต้องไม่ได้รับสิทธิ์ต่อเนื่องกัน หรือ ผู้ต้องขังต้องถูกจำคุกแล้วอย่างน้อยกี่ปี เป็นต้น

ในการนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันขอย้ำเสนอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ทบทวนในกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนยังมีความเชื่อถือ เชื่อมั่นและไว้วางใจว่าคณะรัฐบาลชุดนี้ยังคงให้ความสำคัญต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างจริงใจและจริงจังสมเจตนารมณ์ อย่าให้คนไทยและสังคมรู้สึกว่าได้รับการคดโกงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อระบบยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอย้ำว่า เราและคนไทยจะไม่ยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและจะทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
11 ธันวาคม 2564

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

องค์กรต้านโกง แนะรัฐบาลแก้ไข 6 ข้อคอร์รัปชันที่นานาชาติมองไทย เพื่อเรียกความเชื่อมั่น

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ รัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันจริงหรือ? มีเนื้อหาดังนี้ .

'ดร.มานะ' แฉต่างชาติมองไทย ผ่าน 5 เรื่องคอร์รัปชั่น นักโทษชายชั้น 14 โจ่งแจ้ง

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ ต่างชาติมองไทย ผ่าน 5 เรื่อง

อึ้ง! ปปช. เปิดตัวเลขติดสินบนทั่วโลก เสียหาย 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

'ป.ป.ช.' จัดเสวนาปราบโกง พบทั่วโลกติดสินบนเสียหาย 2 ล้านล้านดอลลาร์ 'ประธานหอการค้าตปท.' ชี้ เสถียรภาพการเมือง-ทุจริต กระทบการตัดสินใจลงทุน