กระทบชิ่งสถาบัน! 'สส.ก้าวไกล' บีบ กสม. เผชิญหน้าต้นตอปัญหา อ้าง ม.112 บกพร่องขัดสากล

12 ส.ค.2566 - เพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล เผยแพร่เนื้อหาการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา มีวาระการประชุมสำคัญ ว่าด้วยการรับทราบรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2565 และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มี สส.พรรคก้าวไกลหลายคนร่วมอภิปราย โดยเฉพาะต่อประเด็นสิทธิทางการเมืองและสิทธิของผู้ลี้ภัย

‘ลูกเกด’ ชี้ไม่ครอบคลุมทุกการละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะจากผู้มีอำนาจ ถาม ‘กสม.’ เกรงใจผู้มีอำนาจมากไปหรือไม่

‘แก้วตา-โตโต้’ ติง ไร้รายงานกรณีผู้ลี้ภัยถูกรัฐบาลไทยส่งกลับประเทศ จี้เร่งปรับปรุงกฎหมาย เข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลที่สูญหายโดยการบังคับ

ผู้อภิปรายคนแรกของพรรคก้าวไกล คือ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี เรียกร้องให้ กสม. ทำหน้าที่อย่างกล้าหาญมากกว่านี้ โดย น.ส.ชลธิชา กล่าวว่าส่วนตัวขอชื่นชมการทำงานของ กสม. ที่ผ่านมา แต่เห็นว่ายังคงต้องการความกล้าหาญมากกว่านี้ในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะต่อการตรวจสอบองคาพยพของรัฐ ที่ไม่ยอมให้สิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกันต่อประชาชน

ประการแรก การรับเรื่องร้องเรียนและการตรวจสอบ ซึ่งตนขอชื่นชมระบบการร้องเรียนของ กสม. ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและติดตามเรื่องได้ง่าย แต่จากการรับฟังภาคประชาสังคมที่ผ่านมา พบว่าการร้องเรียนผู้มีอำนาจหรือการร้องเรียนที่กระทบต่อความมั่นคงด้วยช่องทางดังกล่าวมักไม่เป็นผล และยังไม่เห็นความพยายามของ กสม. ให้มีการตรวจสอบติดตามหลายๆ เรื่อง เช่น กรณีการถูกอุ้มหายและอุ้มฆ่านักกิจกรรมชาวไทยในประเทศเพื่อนบ้าน และกรณีผู้ชุมนุมถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง เป็นต้น

ประการที่สอง กสม. ตีความอำนาจของตัวเองตามกฎหมายให้แคบ จนไม่สามารถดำเนินบทบาทเชิงรุกในบางกรณีได้ เช่น การสังเกตการณ์กรณีฟ้องร้องกลั่นแกล้งปิดปาก การละเมิดสิทธิในต่างแดนที่มีนักลงทุนชาวไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง และการสังเกตการณ์การชุมนุมที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญน้อยเกินไป

พร้อม แนะ กสม. ขยายขอบเขตอำนาจตรวจสอบเชิงรุกในกระบวนการยุติธรรม ชลธิชาอภิปรายต่อว่ารายงานดังกล่าว ยังขาดความครอบคลุมข้อเท็จจริงและสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยผู้มีอำนาจ และการชี้ชัดอย่างตรงไปตรงมาว่าผู้มีอำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง เช่น การสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรต้านเอเปค ที่รายงานของ กสม. ไม่ได้ระบุให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกรณีที่มีผูุ้ชุมนุมถูกกระสุนยางยิงเข้าตาขวาจนตาบอด และกรณีที่มีผู้ชุมนุมหลายคนถูกยิงบริเวณส่วนบนของร่างกาย ซึ่งขัดกับหลักสากลในสลายการชุมนุม ตลอดจนการไม่ให้สิทธิในการประกันตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม หรือกำหนดเงื่อนไขประกันตัวอย่างไม่ได้สัดส่วน ขัดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เช่น การติดกำไลอีเอ็ม การห้ามเข้าร่วมชุมนุม ห้ามกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น

รายงานนี้ยังไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของ ม.112 ว่าขัดกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ICCPR) อย่างไรบ้าง แม้ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานของ UN จะมีความเห็นต่อปัญหาทั้งการบังคับใช้และบทบัญญัติของกฎหมาย พร้อมข้อแนะนำและเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยมาตลอดเวลา นอกจากนี้ ต่อการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการฟ้องร้องเพื่อปิดปาก รายงาน กสม. ก็ไม่ได้ระบุลงลึกให้เห็นว่าเหตุใดจึงไม่ปรากฏกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนในการใช้กฎหมายดังกล่าว จากองค์กรและบุคลากรในวงการอัยการและศาล

ชลธิชากล่าวต่อไป ว่าตนจึงมีข้อเสนอว่า กสม. ต้องปรับปรุงโครงสร้างการทำงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง ขยายขอบเขตอำนาจให้มีการตรวจสอบเชิงรุกในกระบวนการยุติธรรม การสังเกตการณ์การดำเนินคดี โดยเฉพาะการดำเนินคดีทางการเมือง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ในรายงานถัดไป กสม. ต้องครอบคลุมถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยไม่ลดทอนมิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากผู้ละเมิด และต้องประเมินให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการกระทำใดบ้างที่ขัดหรือละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนสากล

"นอกจากนี้ กสม. ยังมีท่าทีเกรงใจต่อองคาพยพของรัฐ จนลดทอนบทบาทที่สำคัญของ กสม. ดิฉันจึงขอสนับสนุนให้ กสม. สร้างความไว้วางใจให้ภาคประชาสังคม ในลักษณะที่กล้าเผชิญหน้าต้นตอของปัญหาไปด้วยกัน" ชลธิชากล่าว

ส่วนการอภิปรายต่อประเด็นผู้ลี้ภัย มี สส.พรรคก้าวไกลอีก 2 คน คือ ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กรุงเทพฯ (เขตปทุมวัน สาทร ราชเทวี) และ ปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.กรุงเทพฯ (เขตพระโขนง บางนา) ร่วมอภิปรายชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องในรายงานของ กสม. ที่ไม่ครอบคลุมปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในประเทศไทยและผู้ลี้ภัยชาวไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปลาหมอคางดำ'ต้องเป็นศูนย์ ก่อนนิเวศย่อยยับ

จากสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย   ซึ่งปลาหมอคางดำมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศไทยเองมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อปี 2553  ซึ่งวงจรปลาหมอคางดำขยายพันธุ์รวดเร็ว ทุกๆ 22 วัน

'อนาคตไกล' รับซื้อ 'ปลาหมอคางดำ' 20 ตันเพื่อกำจัด อัด 'พิธา' ตรรกะวิบัติอ้างคนจะเพาะเลี้ยงมากขึ้น

“พรรคอนาคตไกล” บรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง รับซื้อปลาหมอคางดำ 20 ตันเพื่อกำจัด อัด "พิธา-ก้าวไกล ตรรกะวิบัติ" อ้างคนจะเพาะเลี้ยงมากขึ้น

'พิธา-ชัยธวัช' จวกรัฐมนตรีเล่นใหญ่แก้ 'ปลาหมอคางดำ' ด้วยวิธีรับซื้อ ชี้ยิ่งทำเพาะเลี้ยงมากขึ้น

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาปลาหมอคางดำระบาด ว่า ตนให้นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. และนายแพทย์วาโย อัศว

'ก้าวไกล' เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ. 'พิธา' อ้อนพี่น้องชาวลำพูนเชื่อในประชาธิปไตย

ก้าวไกลจัดสภากาแฟที่ลำพูน แลกเปลี่ยนปัญหาภาคเอกชน 'พิธา' ชี้เศรษฐกิจภาคเหนือมีแรงเฉื่อยลักษณะพิเศษโตช้า

อึ้ง!ปดิพัทธ์บอกยุบ 'ก้าวไกล' แสดงว่าไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยส่งผลสภานานาชาติ

'ปดิพัทธ์' ยอมรับมีชื่อเป็น กก.บห.ก้าวไกล เสี่ยงพ้น สส. หากพรรคถูกยุบจริง แต่เชื่อมั่นว่าการสู้คดีมีน้ำหนัก ไม่เสียดายตำแหน่งรองประธานสภา ชี้งานที่หาเสียงไว้ทำได้หมดแล้ว