'ศรีสุวรรณ' เตรียมบุกศาลาว่าการ กทม.ไล่เช็กบิล 'แอชตัน อโศก'

ศรีสุวรรณเตรียมบุกร้องผู้ว่าฯ ชัชชาติศุกร์นี้ สั่งเอาผิดคนเซ็นให้สร้างแอชตัน อโศก พร้อมไปร้องเรียน รฟม.-กรมที่ดิน- คชก.

03 ส.ค.2566 - นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวชุมชนสุขุมวิท 19 แยก 2 รวม 16 คนได้ยื่นฟ้อง ผอ.เขตวัฒนากับพวกรวม 5 คนตั้งแต่ปี 2559 โดยมีประเด็นสำคัญคือพื้นที่คอนโดพิพาทไม่มีทางเข้าออกกว้างอย่างน้อย 12 เมตร ติดถนนสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด ขณะที่ทางเข้าออกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ดินที่ รฟม.ได้มาจากการเวนคืนเพื่อทำขนส่งมวลชนสาธารณะ จึงไม่อาจนํามาให้เอกชนเช่าใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ของการเวนคืนได้ หน่วยงานของรัฐจึงไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น โดยให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม.6 เลขที่ 18/2558 ลว. 23 ก.พ.2558 และเลขที่ 69/2558 ลว. 16 ก.ค.2558 และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลว. 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข และเลขที่ 129/2560 ลว. 17 พ.ย.2560 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าว

กรณีดังกล่าว ผู้ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบโดยตรงคือเจ้าพนักงานท้องถิ่นของ กทม.ซึ่งมีหลายหน่วยทั้งในสำนักงานเขตวัฒนา กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม. สำนักการจราจรและขนส่ง ประกอบด้วย ผู้รับแจ้งตามมาตรา 39 ทวิทั้ง 3-4 ใบ ผู้อนุญาตให้เชื่อมทางสาธารณะ ผู้ให้ใบรับรองเปิดใช้อาคาร คณะกรรมการพิจารณาแบบของสำนักควบคุมอาคาร โดย กทม.ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเอาผิดทางวินัย อาญา และทางแพ่ง ตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อไป

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงจะนำความตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นที่สุดและเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายแล้วไปยื่นร้องเรียนให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเอาผิดทางวินัย อาญา และทางแพ่งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นของ กทม.ซึ่งเป็นผู้เซ็นรับแจ้งหรืออนุญาตทั้งหมด รวมทั้งสั่งให้หยุดการใช้อาคารดังกล่าวตาม ม.41, 42 ของ พรบ.ควบคุมอาคาร 2522 ด้วย

โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ว่าฯชัชชาติ ในวันศุกร์ที่ 4 ส.ค.2566 เวลา 10.00 น. ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. และหลังจากนี้จะไปร้องเรียน รฟม. กรมที่ดิน และ คชก.ต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยุ่งแล้ว! อดีตผู้สมัคร สว. จ่อร้องศาลปค.สูงสุด ไต่สวนคุ้มครองประกาศผลเลือก สว.

อดีตผู้สมัครสว. จ่อยื่นศาลปกครองสูงสุด ขอไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวประกาศผลเลือกสว.ชุดเชื่อมโยงการเมือง ชี้เป็นการเลือกสว.ที่มีการหักหลังกันอย่างน่าเกลียด น่าเวทนา จี้กกต.ฟันสว.นกแล และผู้สมัครแจ้งประวัติไม่ตรงกลุ่มอาชีพ

'ดร.สามารถ' แพร่บทความ บทเรียนสูญ 1.3 แสนล้าน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ต้องมีผู้รับผิดชอบ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ รถไฟฟ้าสายสีส้ม "บทเรียนที่ต้องเรียน" มีเนื้อหาดังนี้

'ศาลปค.สูงสุด' ชี้ขาดแล้ว รฟม.เดินหน้าเซ็นสัญญา BEM ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องในคดี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562