'ก้าวไกล' ระทึก! คาดศาล รธน. เปิดห้องไต่สวนคดีแก้ 112 ชี้จุดตายยุบพรรคฟันยกเข่ง

‘ทนายธีรยุทธ’ คาดศาล รธน. เปิดห้องไต่สวน คดีแก้ 112 ชี้จุดตาย ‘ก้าวไกล’ ถ้าเข้าข่ายล้มล้างฯ สารตั้งต้นยุบพรรค-เอาผิดยกเข่ง

28 ก.ค. 2566 – ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า คำร้องคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ คือคำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนญวินิจฉัยว่าการกระทำของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ… เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ซึ่งล่าสุด พรรคก้าวไกลได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอขยายเวลาในการส่งคำชี้แจงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาออกไปหลังครบกำหนด 15 วันที่ต้องส่งคำชี้แจง

ธีรยุทธ สุวรรณเกษร

โดยนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ผู้ร้องคดีดังกล่าว กล่าวถึงกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญต่อจากนี้ว่า การขอขยายเวลาการส่งคำชี้แจงของพรรคก้าวไกล สามารถทำได้ แต่ก็จะไม่เกิน 15 วัน ซึ่งมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงอาจจะให้ขยายเวลาได้แค่ครั้งเดียว และหลังจากนั้นเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญ คงจะมีการเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายคือตัวผู้ร้อง คือตน กับผู้ถูกร้อง คือพรรคก้าวไกลและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายเข้าสู่การพิจารณาไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะความแรงของเนื้อหาในคำร้องคดีนี้มีมาก สังคมจับจ้อง ที่บอกว่าแรง เพราะในคำร้องกล่าวหาว่า “ล้มล้างฯ “ทำให้ประชาชนย่อมสนใจว่าพรรคก้าวไกลที่กำลังได้รับความนิยม ทำไมถึงถูกกล่าวหาว่าล้มล้าง บางคนอาจมองว่าไม่เห็นล้มล้างตรงไหน แค่จะไปแก้ไขกฎหมาย แต่เขาก็มองในแง่มุมที่เขานิยม ทำให้อาจมองไม่เห็นอะไรบางอย่าง แต่เรามองในสภาวะของกฎหมาย โดยนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสองคำร้องก่อนหน้านี้คือคดียุบพรรคไทยรักษาชาติและคดีแกนนำม็อบสามนิ้วถูกร้องว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างฯ

โดยหากดูจากคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ มาประกอบกับเรื่องนี้เราจะเห็นภาพอย่างหนึ่งว่าในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้เขียนไว้ว่า คำว่า การกระทำใด อันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย หรือด้อยค่า หรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกลดสถานะจนอาจนำไปสู่ความสิ้นสูญในอนาคต คำว่า เซาะกร่อนหรือบ่อนทำลาย คำวินิจฉัยศาลไม่ได้วินิจฉัยตรงๆ ว่าเป็นลักษณะใด แต่ได้บอกสโคปของการพิจารณาคดีของศาลว่าอยู่ในหลักตรงนี้ และวิธีการดู ก็ดูแบบวิญญูชน คือแบบที่ประชาชนทั่วไปเขามองไปแล้ว ว่าถ้าเป็นแบบนี้ อาจจะเกิดแบบนั้นตามมา และอาจเป็นอย่างนั้นขึ้นตามมา คำว่าเซาะกร่อนบ่อนทำลาย จึงเทียบเคียงแบบชัดๆ ไม่ได้ ทั้งหมดก็อยู่ที่ดุลยพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะเห็นควรอย่างไร

“ประเมินจากกระบวนการพิจารณาคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งการให้ฝ่ายผู้ถูกร้องคือพรรคก้าวไกล แก้ข้อกล่าวหาภายใต้กรอบ 30 วันและกระบวนการต่างๆ ในการไต่สวนของศาล ที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 45-60 วัน ก็คาดว่าประมาณปลายเดือนตุลาคม อาจจะได้เห็นอะไรบางอย่าง” นายธีรยุทธ ระบุ

เมื่อถามว่า คำร้องดังกล่าว หากสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ผลจะเป็นอย่างไร นายธีรยุทธ กล่าวว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็คงมีกรอบในการวินิจฉัย คือต้องไม่ผิดไปจากที่กฎหมายให้อำนาจ และต้องไม่วินิจฉัยนอกเหนือไปจากที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องไป ซึ่งคำร้องของตน ขอให้พรรคก้าวไกลหยุดเรื่องนี้ หยุดใช้ 112 ในการหาเสียง แต่เมื่อวันนี้การหาเสียงเลือกตั้งจบไปแล้ว ก็ขอให้พรรคก้าวไกลหยุดที่จะแสดงความเห็น หยุดการเผยแพร่ใดๆ ในเรื่องมาตรา 112 เพราะตีความจากคำวินิจฉัยที่ยกมาสองคดีข้างต้นที่่ว่า “ตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่ให้ลุกลาม” คือไม่ให้พูดต่อ ให้หยุดเสีย ให้มันหายไปเลย ไม่ต้องพูด ไม่ให้แสดงความเห็นหรือเผยแพร่ข้อความใด รวมถึงไม่สามารถเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขมาตรา 112 ต่อรัฐสภาด้วย โดยร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอค้างอยู่ตอนสภาฯ สมัยที่แล้ว หากพรรคเขาไม่ถอนร่างออกฯ แต่ทางสภาฯ ก็ต้องถอนออกไปทันที เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร

นายธีรยุทธ กล่าวว่า แต่ลำดับแรก ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยก่อนว่า พฤติการณ์ของเขาเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองหรือไม่ หากเข้าข่าย มันก็จะเป็นสารตั้งต้นเหมือนกับที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกไว้ คำร้องคดีนี้จะเป็นสารตั้งต้น เพราะก่อนจะมีคำวินิจฉัยออกมา ทางตุลาการศาล รธน. ต้องวินิจฉัยก่อนว่าพฤติการณ์ของนายพิธาและส.ส.พรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างฯ เข้าข่ายเซาะกร่อนหรือไม่ หากเข้าข่ายก็คงอาจไปดูว่าแล้วจะเป็นการล้มล้างในวันข้างหน้าได้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าเข้าข่ายก็อาจจะมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลหยุดเรื่อง 112 ตรงจังหวะนี้ คือการวินิจฉัยว่าจะเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย ถ้าเข้าข่าย นี้คือเหตุผลในการจะนำไปสู่การร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล ตามมาตรา 92 (2) ของพรบ.พรรคการเมืองฯ ที่บัญญัติว่า หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้ กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคและและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค

ทั้งนี้การเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลที่เสนอสภาฯ สมัยที่แล้ว คนที่เซ็นอยู่ข้างท้ายในร่างดังกล่าว คนแรกก็คือนายพิธาในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยมี สส.พรรคก้าวไกล ลงชื่อรับรองการเสนอร่างเข้าสภาฯ ซึ่งหากศาลมองไกลไปถึงคำว่า “พรรค” แล้ว จุดเกิดเหตุมันอยู่ที่การเสนอร่างฯ ไม่ใช่แค่นายพิธา ที่จะโดน แต่ สส. ที่ร่วมลงชื่อรับรองร่างดังกล่าวอีกหลายสิบคน ให้เสนอสภาฯ ก็อาจจะโดนด้วย

“คำร้องคดีนี้ หากสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธาและพรรคก้าวไกล หยุดเรื่อง 112 ศาลจะวินิจฉัยก่อนว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง เข้าข่ายเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ และจะมีผลเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ในวันข้างหน้า ซึ่งหากเห็นว่าเข้าข่าย ก็อาจเห็นควรมีคำสั่ง ให้หยุดการกระทำต่างๆ ตามที่ผู้ร้องได้ร้องต่อศาล หากเป็นเช่นนั้น เหตุผลจากคำวินิจฉัย ว่าพฤติกรรมเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ และอาจเป็นการล้มล้าง เหตุผลดังกล่าวนั้น จึงจะเป็นหลักฐานอันควรเชื่อว่า เป็นเหตุอันควรยุบพรรค ซึ่งจะเป็นคำร้องดอกสองต่อไป” นายธีรยุทธ ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปิยบุตร' ดักคอพรรคจ้องดูด สส.งูเห่า เอาไปก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเสถียรภาพรัฐบาล

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สัดส่วนพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมนัดแรก

ศาลรธน.มติ 6 ต่อ 3 ชี้โทษอาญา ตาม พ.ร.บ.เช็คไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัย ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คปี 2534 มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เผยคดียุบพรรคก้าวไกล-ถอดถอนเศรษฐา เสร็จสิ้นก่อน ก.ย.

ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนกรณีการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ว่ามีหลายเรื่องอาทิเรื่องกฎหมายเช็คขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่อง MOU

ดัชนีการเมืองไทยร่วง! ปากท้องฉุดเรตติ้งรัฐบาล 'เศรษฐา' ตามหลัง 'พิธา'

วนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,367 คน

ปูดดีลใหญ่พลิก! จับตาสอย 'เศรษฐา' ดัน 'อนุทิน' นายกฯ

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก