นายกฯ ประกาศเจตนารมณ์ 'วันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล' โชว์ผลงานปี 64 ปิดจ็อบแล้ว 4.5 พันคดี

ป.ป.ช. ผนึก ACT จัดกิจกรรม “วันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล” ด้าน “บิ๊กตู่” ลั่น สร้างความโปร่งใส-ดันสังคมไร้ทุจริต สางปัญหาจริงจัง “วัชรพล” โชว์ผลงานปี 64 ปิดจ็อบแล้ว 4.5 พันคดี กางแผนใหม่ใช้ชุดข้อมูลความเสี่ยงทุจริต พร้อมปูพรมสอบ

9 ธ.ค.2564 - ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช.จัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) โดยมีการเปิดวีดิทัศน์การประกาศเจตนารมณ์เรื่องในวันดังกล่าว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาสากลที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และสร้างความเสียหายต่อประเทศเป็นอย่างมาก แสดงถึงการขาดจิตสำนึกในการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมออกจากกัน นอกจากทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดินแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลมีเจตจำนงมุ่งที่จะสร้างภาครัฐโปร่งใส และสร้างสังคมไทยปลอดการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งสร้างจิตสำนึกและค่านิยมละอายต่อการทุจริต ประพฤติมิชอบทุกรูปแบบให้เกิดขึ้น และมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐด้วยแนวคิด “คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสังคมไทย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคเครือข่ายต่างๆ ได้มีการพัฒนาปรับปรุงข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้มีความทันสมัย มีความเป็นสากล และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเป็นระบบ รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์ จิตสำนึกในการไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง

นายกฯ กล่าวว่า การสร้างวัฒนธรรมสุจริต เพื่อหล่อหลอม ปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนคนไทยทุกคน เพื่อให้มีความละอายต่อการกระทำผิด ไม่เพิกเฉย และไม่ยอมให้ผู้อื่นกระทำการทุจริต ที่จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวม เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

จากนั้น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวประกาศเจตจำนงต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ในคอนเซ็ปต์ ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ประกาศเจตจำนงของผู้นำประเทศและผู้นำทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปราบปรามการทุจริต 2.ผสานพลังคนไทยและทุกภาคส่วนให้ตื่นรู้พร้อมต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ เพื่อให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต 3.ให้คนไทยและนานาชาติรับรู้ถึงความมุ่งมั่นและการแก้ไขปัญหาการทุจริตในประเทศไทย เพื่อผลักดันการยกระดับดับนีการรับรู้การทุจริต (ค่า CPI) ให้สูงกว่าร้อยละ 50 ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ต่อมา พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวคำแถลงประเด็น ผลงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต หลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ครบรอบ 3 ปี ตอนหนึ่งว่า การทำงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นช่วงปัดกวาดจัดระเบียบภายใน โดยใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารและการตัดสินใจอย่างเข้มข้นในทุกภารกิจ ทั้งด้านปราบปราม ตรวจสอบทรัพย์สิน และป้องกัน คู่ขนานไปกับการเปิดกว้างในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวด้วยว่า ส่วนผลงานด้านการปราบปรามการทุจริตในปี 2564 นั้น ดำเนินการเสร็จแล้ว 4,552 คดี อย่างไรก็ดีในกรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ไม่ฟ้องคดี สำนักงาน ป.ป.ช. มีการฟ้องคดีเองเพิ่มขึ้น โดยคดีสำคัญที่ฟ้องเองชนะและคดีถึงที่สุดแล้ว เช่น คดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติให้เงินกู้แก่รัฐบาลเมียนมา 4,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจากบริษัทในเครือชินคอร์ป กรณีกล่าวหาการทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (คดีหวยบนดิน) เป็นต้น

ประธานคณะกรรมการ ป.ป. กล่าวว่า ส่วนคดีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนั้น ในปีงบประมาณ 2564 ดำเนินการไป 28 เรื่อง แบ่งเป็นการยื่นบัญชีเท็จ 21 บัญชี กรณีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 7 เรื่อง มีมูลค่าทรัพย์สินทีร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นเงิน 471,094,091 บาท โดยข้อมูลดังกล่าวการที่จำนวนเรื่องที่ส่งเข้าสู่ศาลมีจำนวนคดีลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากข้อกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการพิจารณาคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการวิเคราะห์และพิสูจน์ในเรื่องของเจตนาประกอบการพิจารณาด้วย

ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการจัดสร้างชุดข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริตที่เป็นปัจจุบันเพื่อนบันทึกลงในแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (Corruption Risk Mapping) โดยนำข้อมูลความเสี่ยงจากทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด นำมาวิเคราะห์ จำแนก และบันทึกเป็นชุดข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริต ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรากฏประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นคล้ายกันในหลายพื้นที่ จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การบุกรุกป่า การรุกล้ำลำน้ำ การจัดสรรพื้นที่ป่าเพื่อเกษตรกรรม การลักลอบดูดทรายในลำน้ำ ฯลฯ ที่เกิดขึ้นหลายจังหวัด 2.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ เสาไฟฟ้าประติมากรรม เสาไฟฟ้านวัตกรรม ประปาหมู่บ้าน ทางระบายน้ำ เขื่อน ฯลฯ เกิดขึ้นในหลายจังหวัด 3.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต การใช้จ่ายงบประมาณโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (เงินกู้ 4 แสนล้านบาท) อาทิ โครงการโคกหนองนา โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง หรืออุทกภัย เป็นต้น

ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า นอกจากนี้ ด้านการต่างประเทศ มีการประสานงานและการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาคดีทุจริตระหว่างประเทศ โดยเฉพาะคดีสินบนข้ามชาติ ซึ่งเป็นคดีที่มีความสำคัญ เนื่องจากลักษณะการกระทำผิดซับซ้อน มีมูลค่าความเสียหายมาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมุ่งเน้นการติดตามเอาทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่ประเทศไทย ควบคู่ไปกับการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในการทุจริต โดยบูรณการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ผ่านคณะกรรมการประสานและเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ ประกอบด้วยผู้แทนหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงาน อสส. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ป.ป.ช. แจ้งมติ 'สส.มงคลกิตติ์' ลาสภาฯไปดูหนังผิดจริยธรรมหรือไม่

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีมีข่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช

นายกฯ สั่ง ปปง.เร่งยึดทรัพย์แก๊งค้ายา

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ สั่ง ปปง.มีอำนาจพิเศษสูงต้องทำงานแบบล้วงลูก เร่งยึดทรัพย์ตัดตอนขบวนการค้ายาฯ อย่ามัวแต่ช้า หวั่นโอนเงินหนี กำชับอย่าทำงานแบบไซโลให้เป็นข้อครหา