'คำนูณ' เปลือยพรรคก้าวไกลล่อนจ้อนปม 112

ต้องอ่าน! คำนูณกางเนื้อหาแก้ 112 ของพรรคก้าวไกลแบบชัดๆ พร้อมวิเคราะห์ทุกเม็ด ชี้ชัดเหมือนเปิดประตูหลังบ้านเพื่อหวังผลไปเรื่องใหญ่ รับการบังคับใช้มีปัญหาจริงแต่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการอื่น

28 มิ.ย.2566 - นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กในรูปบทความในหัวข้อ “แก้ 112 ลดการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ย้ายหมวด-ลดโทษ-เพิ่มเหตุเว้นผิด/เว้นโทษ-ยอมความได้-จำกัดผู้ร้องทุกข์ !” ระบุว่า “มีข้อมูลมีหลายฝ่ายที่ยังเข้าใจผิด เพราะการแก้ไขคือการแก้ไข ไม่ใช่การยกเลิก เท่าที่ได้คุยกับส.ว. ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น การรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ / 27 มิถุนายน 2566

เมื่อท่านแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีว่ามาอย่างนี้ ก็ขอชวนเชิญมาดูข้อมูลช้า ๆ ชัด ๆ กันอีกครั้งให้สิ้นกระแสความกันไปว่าร่างกฎหมายแก้ไข 112 ภายใต้ฉลาก ‘(แค่)แก้ไข ไม่ใช่ยกเลิก’ นั้น - เนื้อในคืออะไร ?

ปรับเปลี่ยนอะไร ?

ภาพรวมคือการลดระดับการคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 90 ปีนับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถวรฉบับแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จากการคุ้มครองเด็ดขาด เป็นการคุ้มครองอย่างมีเงื่อนไข โดยมีทั้งบทยกเว้นความผิด บทยกเว้นโทษ และบทจำกัดผู้ร้องทุกข์

เบื้องต้นเลยคืออาจขัดรัฐธรรมนูญ ฝ่ายบริหารของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ววินิจฉัยตั้งแต่ปี 2564 ว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 จึงไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระและส่งคืนผู้เสนอ

รัฐธรรมนูญมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า…“องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

ข้อเสนอปรับเปลี่ยนของพรรคก้าวไกลจะ ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’ หรือไม่ ความเห็นของแต่ละคนแตกต่างกันได้ ตราบใดที่องค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นที่สุดและมีผลผูกพันทุกองค์กรยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาด จึงใช้คำว่า ‘อาจ’ นำหน้าไว้

แต่เรื่องปรับเปลี่ยนโดย ‘ลดระดับการคุ้มครองพระมหากษัตริย์’ นั้นปรากฎชัดเจนในร่างกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 135/5 - 135/9 ตามปรากฎอยู่ในภาพประกอบหน้า 1 และ 2 พอสรุปเป็นคำสำคัญได้ดังนี้

“ย้ายหมวด - ลดโทษ - เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด/ไม่ต้องรับโทษ - ยอมความได้ - ให้สำนักพระราชวังร้องแทน” ขยายความได้เป็น 6 ประการดังนี้

1. นำออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ

2. ลดโทษจำคุกลงต่ำเหลือไม่เกิน 1 ปี

3. ถ้าทำโดยเจตนาบริสุทธิ์พื่อประโยชน์สาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการ ไม่ถือว่าเป็นความผิด

4. ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง ไม่ต้องรับโทษ

5. ให้เป็นความผิดที่ยอมความได้

6. จำกัดผู้แจ้งความดำเนินคดี

การนำมาตรา 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญาเป็นประเด็นหลักที่ต้องถกกันเป็นเบื้องต้น เพราะนี่คือกฎหมายลำดับรองที่ทำให้รัฐธรรมนูญมาตรา 6 มีผลเป็นจริงในทางปฏิบัติ

นี่คือกระดุมเม็ดแรกที่ผู้ร่างจงใจกลัดเสียใหม่ให้ผิดไปจากหลักเดิม ทำให้เม็ดต่อ ๆ มาผิดตาม เพราะเมื่อลดสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ลงมาเปรียบเทียบกับบุคคลธรรมดาเสียแล้ว ก็ไปนำ ‘หลักการทั่วไป’ ของโทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาในประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเหตุไม่เป็นความผิดและไม่ต้องรับโทษมาใช้กับพระองค์ และกำหนดหลักการเพิ่มให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์แทน

การกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์แทน และให้เป็นผู้เสียหาย ในทางปฏิบัติก็เสมือนกับการนำองค์พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นคู่กรณีโดยตรงกับประชาชนอยู่ดี เพราะสำนักพระราชวังเป็นส่วนราชการในพระองค์ การจัดระเบียบและการบริหารเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560

และในอีกมุมมองหนึ่ง ยังเป็นเสมือนการตัดสิทธิของประชาชนที่จะทำหน้าที่พิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญหมวดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยมาตรา 50 (1) เพราะเมื่อพบเห็นการกระทำที่เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็ไม่อาจร้องทุกข์ได้โดยตรง

บทยกเว้นความผิด 3 ประการที่ให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถยกขึ้นกล่าวอ้างได้นั้นก็กว้างขวางมาก

1. เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2. เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ

3. เพื่อประโยชน์สาธารณะ
หมายความว่าอะไรหรือ ?

หมิ่นประมาท/ดูหมิ่น/อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ได้ ไม่ถือเป็นความผิด หากกระทำโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ?

หมิ่นประมาท/ดูหมิ่น/อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ได้ ไม่ถือเป็นความผิด หากกระทำโดยสุจริตเพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ?

หมิ่นประมาท/ดูหมิ่น/อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ได้ ไม่ถือเป็นความผิด หากกระทำโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ ?

แล้วยังให้ผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ได้ว่าการหมิ่นประมาท/ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นความจริง เพื่อไม่ต้องรับโทษ โดยมีบทยกเว้นห้ามพิสูจน์เฉพาะบางเรื่อง และให้เป็นความผิดที่ยอมความได้

หากการแก้ไขสำเร็จ บทบัญญัติคุ้มครองการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 ถึงจะยังคงมีอยู่แต่ก็จะลดระดับลงมามาก

ผมจึงพูดในอีกมุมหนึ่งไปว่า…เป็นเสมือนการแก้ไขบทบัญญัติหลักมาตราแรกหมวดพระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ทางประตูหลัง ! ซึ่งหากบทบัญญัติหลักมาตราแรกของรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์สั่นคลอน ถูกลดระดับ ก็มีคำถามตามมาอีก 2 ประการ

หนึ่ง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์มาตราอื่น ๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ในโอกาสต่อไป ?

สอง บุคคลบางกลุ่มจะยิ่งเพิ่มข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) ค.ศ. 2008 อันจะยิ่งส่งผลให้ลดระดับการคุ้มครองการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะฟัองร้องมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ลงไปอีก ? นี่หรือคือประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ?

สำหรับคนไทยโดยทั่วไป บทบัญญัติคุ้มครองการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่กฎหมายมาตราหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็น ‘มรดก’ ของวัฒนธรรมและจริยธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ และมีลักษณะ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีสถานะสูงส่งทั้งทางศาสนาและสังคม อีกด้านหนึ่งคือการที่องค์พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตจวบจนปัจจุบันทรงมีความใกล้ชิดกับประชาชนเป็นที่เคารพรักสักการะของประชาชนอย่างยิ่ง ด้วยพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงประกอบเพื่อประชาชน และนำพาประเทศออกจากวิกฤติใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่าในแต่ละยุคสมัย ทําให้เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์โดยไม่เป็นธรรม คนไทยส่วนใหญ่ที่มีชีวิตมายืนยาวพอได้ประจักษ์ในความจริงแก่สายตา จึงรู้สึกยอมรับไม่ได้ และต้องการรักษา ‘มรดก’ นี้ไว้ให้เป็นรากฐานแห่งความเจริญรุ่งเรืองของสังคมไทย

บทบัญญัติคุ้มครองการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ได้ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก 10 ธันวาคม 2475 นับจนถึงวันนี้ก็กว่า 90 ปีมาแล้ว มีขึ้นเพื่อให้สอดรับกับลักษณะพิเศษของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
ทำไมจะต้องปรับเปลี่ยนหลักการนี้ ? ปรับเปลี่ยนเพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปเป็นอะไร ?

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อโดยบริสุทธิ์ว่าบทบัญญัติคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ประเด็นจำเป็นเร่งด่วนอันจะหลีกเลี่ยงมิได้จนจะตัองนำมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปกันรัฐสภาในสถานการณ์ปัจจุบัน ตรงกันข้ามหากเร่งนำประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสถาบันอันที่เคารพสักการะและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและจริยธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปกันในรัฐสภาโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ อาจเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งและวิกฤตใหญ่ได้

จริงอยู่ พวกเราต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรา 112 ในบางกรณีนั้นมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี
แต่ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการและกลไกของฝ่ายบริหารในชั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และโดยการหารือร่วมกันกับองค์กรอัยการและฝ่ายตุลาการในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยทุกวันนี้ก็ได้มีการดำเนินการกันอยู่

หรือถึงที่สุดแล้ว หากเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น ก็สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ โดยไม่เป็นการกระทบบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์

แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยเจตนานั้นมีอยู่จริง มีไม่น้อย และมีอยู่อย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการอันสะท้อนจุดมุ่งหมายทางการเมืองเพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นของมาตรา 112 หาใช่มีแต่การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำร้ายปรปักษ์ทางการเมืองทำร้ายเยาวชนของอำนาจเผด็จการตามที่บุคคลบางกลุ่มพยายามสร้างอุปาทานหมู่ให้เห็นเป็นเช่นนั้นไม่ จึงนำเสนอมาเพื่อวิญญูชนพึงพิจารณา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กระจ่าง! ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน ชี้กรณีคุณสมบัติ 'สว.หมอเกศ'

“ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ชี้ กรณี สว.หมอเกศ ปริญญาเอกและตำแหน่งศาสตราจารย์ หากไม่จริง เป็นการโชว์เหนือ หลอกลวงเพื่อจูงใจให้ผู้สมัคร สว.ด้วยกัน เข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถของตนเอง

'ธนกร' ฟาด 'พิธา' หยุดโยงมั่ว ซัดพรรคการเมืองจะอยู่หรือตายเพราะทำตัวเอง

'ธนกร' ฟาด 'พิธา' ตรรกวิบัติ ชี้ พรรคการเมืองไม่ได้ตายด้วยองค์กรอิสระ แต่ตายเพราะทำตัวเอง ชี้ กกต.-ศาลวินิจฉัย ยึดตามข้อกฎหมาย เชื่อ ถ้าไม่ทำผิดก็ไร้โทษ จี้ หยุดพ่นหลักการพิษ โยงไกลถึงรัฐประหาร ทำปชช.สับสน ไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมของประเทศได้

สอน 'เพื่อไทย' หัดเอาอย่าง 'อภิสิทธิ์' นักการเมืองรักษาสัจวาจา

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เพื่อไทย ไม่นิรโทษ มาตรา 112 ไม่แคร์มวลชน แต่แคร์พรรคร่วม

โยงได้! พิธาซัด 'ศาล-กกต.-รัฐประหาร' ปมทักษิณครอบงำพรรค

'พิธา' ชี้ 'เพื่อไทย' ควรได้สิทธิชี้แจง ปม 'คำร้องทักษิณครอบงำ' มอง ไม่ควรมี 2 มาตรฐานยุบพรรค แต่ต้องเป็นไปตามสัดส่วนความผิด บอกขนาดคนทำรัฐประหาร ยังไม่เห็นเคยรับโทษ