นักวิจัยระดับภูมิภาคแอมเนสตี้ชี้การศึกษาคือสิทธิมนุษยชนที่เด็กทุกคนต้องได้รับ แนะโรงเรียนทบทวนกฎระเบียบเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก
22 มิ.ย.2566 - นายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีหยก เยาวชนอายุ 15 ปีที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิทางการศึกษา และสิทธิในเนื้อตัว ร่างกายของเด็กนักเรียน โดยระบุว่า การตัดสถานภาพความเป็นนักเรียนของหยกโดยโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ซึ่งกระทำบนพื้นฐานของกฎระเบียบข้อบังคับให้มีผู้ปกครองรับรองการมอบตัวนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิด้านการศึกษาของเด็ก พร้อมเรียกร้องให้โรงเรียนและหน่วยงานภาครัฐต่างๆที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการทันทีเพื่อคืนสถานะความเป็นนักเรียนและรับรองสิทธิด้านการศึกษาของหยก
นายชนาธิประบุว่า การตัดสิทธิเข้ารับการศึกษาในกรณีของหยก เพียงเพราะไม่มีผู้ปกครองที่โรงเรียนรับรองมามอบตัว อิงอยู่บนกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ และไม่สอดคล้องกับทั้งกฎหมายไทยว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งทุกการตัดสินใจ โรงเรียนต่างๆ ควรคำนึงถึงหลักการสำคัญผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ตามกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยผลประโยชน์ดังกล่าว ย่อมรวมถึงสิทธิด้านการศึกษา ซึ่งได้รับการรับรองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อันเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่
โดยมาตรา 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดว่า ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน ศาลยุติธรรม หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือองค์กรนิติบัญญัติ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ มาตรา 28 ระบุว่า รัฐภาคีจะต้องจัดให้การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาแพร่หลายและเปิดกว้างแก่เด็กทุกคน
“หลักการว่าผู้เยาว์ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอมรับรองในการตัดสินใจ มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเผชิญกับอันตราย หรือการถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบ แต่ในกรณีของหยก การมอบตัวเข้าศึกษาต่อนับว่าอยู่ในผลประโยชน์สูงสุดของเด็กโดยตรง ช่วยให้น้องได้รับสิทธิทางการศึกษา ซึ่งได้รับการรับรองทั้งภายใต้กฎหมายไทยและระหว่างประเทศ โรงเรียนสามารถยึดหลักการอะลุ่มอล่วยด้วยการยึดถือหลักการดังกล่าวและอนุญาตให้ยืดหยุ่นกฎได้เลยเพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนที่พึงมีได้อย่างเต็มที่”นายชนาธิปกล่าว
นายชนาธิปกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในเนื้อตัว ร่างกาย เกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน มองว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ว่า การที่เด็กออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กก็ได้กำหนดถึงประเด็นนี้ว่า กฎระเบียบของโรงเรียนต้องกำหนดขึ้นโดยสอดคล้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก เรื่องนี้จึงควรเป็นบทเรียนหรือจุดประกายให้สังคมทบทวนเรื่องกฎระเบียบที่มีอยู่ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน
นายชนาธิประบุว่า ในประเด็นเรื่องการปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับเครื่องแบบและทรงผม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เด็กออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิเนื้อตัวในร่างกายของเขา และอยากให้สังคมได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ว่า การที่เด็กออกมาพูดเรื่องนี้ การที่เด็กเริ่มออกมาทำการอารยขัดขืน ประท้วงกฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เรื่องแปลก ควรเป็นสิ่งที่จุดประกายให้สังคมเริ่มตั้งคำถามว่ากฎระเบียบเหล่านี้จำเป็นมากน้อยแค่ไหน
“โรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองเด็ก ต้องหันกลับมาพิจารณาถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กตามกฎหมายและหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และดำเนินการทันทีเพื่อให้หยกสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและเข้าเรียนได้ตามที่ควรจะเป็น”นายชนาธิปกล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชิญชวนน้องๆ กลุ่มมัธยมศึกษา (เทียบเท่า) ร่วมประกวดสื่อสร้างสรรค์ "Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ" ปี 2
ถ้าคุณเป็นเยาวชนที่สนใจ...การใช้สื่อโซเชียลมีเดียบนโลกอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การโพสต์ และการแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในฐานะผู้รับสาร ผู้ส่งต่อ
ทั่วโลกจับตา! 'คดีตากใบ' สะท้อนไทยล้มเหลว ปล่อยละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำ
แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หวั่นคดีตากใบหมดอายุความ กลายเป็นใบเบิกทางละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ชี้ชัด ทั่วโลกจับตาดูอยู่ เชื่อจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศต่อเนื่อง
'ไอติม'ขอเจียด 10%ของดิจิทัลวอลเล็ตมาเพิ่มทักษะการศึกษา!
'พริษฐ์' เจอ 3 ปัญหาพัฒนาทักษะซ้ำกัน ชงตัวเปลี่ยนเกมยกระดับทักษะฉบับก้าวไกล พร้อมขอแบ่ง 10% จากดิจิทัลวอลเล็ตคงไม่มากเกินไป