กสม.แนะกระทรวงศึกษาธิการกำชับสถานศึกษาในสังกัดป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศอย่างเคร่งครัด จากเหตุเด็กประถมถูกล่วงละเมิด พร้อมบี้ พม.เร่งปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองเด็ก
22 มิ.ย.2566 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ตามที่ปรากฏข่าวเด็กนักเรียนชายชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภายในอาคารเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 สะท้อนกรณีตัวอย่างของการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในสถานศึกษาซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อันเกิดจากการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ผู้ถูกร้อง) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยการทำหน้าที่ในการคุ้มครองเด็กจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษาตามมติที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ซึ่งมอบหมายให้ กระทรวงศึกษาธิการ ขยายภารกิจงานของศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ศคพ.) ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เช่น การจัดให้มีระบบงานคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียน การจัดกิจกรรมการฝึกอบรมนักเรียนและผู้ปกครอง ให้รู้จักวิเคราะห์สถานการณ์อันตราย รู้จักหลบหลีก และหาช่องทางการขอความช่วยเหลือ การจัดให้มีการแนะแนวให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว การเรียน การจัดการปัญหาสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม รวมทั้งส่งเสริมให้โรงเรียนทุกแห่งมีแนวปฏิบัติเรื่องพื้นที่ปลอดภัยและนโยบายคุ้มครองเด็กในโรงเรียน เป็นต้น จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บัญญัติให้ความช่วยเหลือเด็ก และเยาวชนให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และป้องกันมิให้ถูกใช้ความรุนแรง รวมทั้งบัญญัติให้การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสําคัญ และให้สถานศึกษาจัดให้มีระบบงานและกิจกรรมแนะแนวให้คําปรึกษาและฝึกอบรมแก่นักเรียนรวมทั้งผู้ปกครองเพื่อส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสม อีกทั้งให้มีกลไกคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ขณะที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม กำหนดให้รัฐดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงด้านนิติบัญญัติ บริหาร สังคม และการศึกษาในอันที่จะคุ้มครองเด็กจากความรุนแรงต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การทำร้าย การทอดทิ้ง การแสวงหาประโยชน์ รวมถึงการกระทำอันมิชอบทางเพศขณะอยู่ในความดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือบุคคลอื่นใดซึ่งเด็กอยู่ในความดูแลด้วย
กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า กระทรวงศึกษาธิการละเลยการทำหน้าที่ในการคุ้มครองเด็กจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 หรือไม่ เห็นว่า กรณีการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างเด็กนักเรียนชายและเด็กนักเรียนหญิงที่โรงเรียนแห่งหนึ่งตามที่ปรากฏเป็นข่าว กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 3 (สพป. เพชรบูรณ์ เขต 3) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริงสอดคล้องกันเกี่ยวกับรายละเอียดของเหตุการณ์ มีการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้เสียหายและครอบครัว และดำเนินการกำหนดแนวทางคุ้มครองสวัสดิภาพตลอดจนการบำบัดฟื้นฟูเพื่อแก้ไขสาเหตุของการกระทำความผิดให้นักเรียนผู้ก่อเหตุตามระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา พ.ศ. 2555 เพื่อป้องกันการกระทําผิดซ้ำแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติฯ ซึ่งให้ความสำคัญกับการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา เห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีมาตรการหรือแนวทางกำกับดูแลให้หน่วยงานในสังกัดถือปฏิบัติตามมติที่ประชุมคณะกรรมการเด็กแห่งชาติฯ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการนำนโยบายคุ้มครองเด็ก แนวปฏิบัติพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) และกฎแห่งความปลอดภัย (Safety Rule) สำหรับเด็กไปแปลงเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา รวมทั้งการจัดอบรมให้ความรู้แก่ครู ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จนทำให้เกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศขึ้น จึงเห็นว่า กรณีนี้มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2566 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สรุปได้ดังนี้
1.ให้กระทรวงศึกษาธิการ กำชับให้ผู้บริหารสถานศึกษา รายงานข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานต้นสังกัดทันที เมื่อเกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในสถานศึกษา หรือภายใน 24 ชั่วโมง หลังทราบเหตุ พร้อมทั้งให้ดำเนินการคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศตามแนวทางที่กำหนดไว้ในคู่มือการคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนอย่างเคร่งครัด หากพบว่าไม่รายงานข้อเท็จจริง รายงานล่าช้า และไม่จัดให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้ถือว่าละเลยต่อหน้าที่อันเป็นความผิดทางวินัย
นอกจากนี้ ให้สนับสนุนงบประมาณให้สถานศึกษาในสังกัดปรับปรุงสภาพแวดล้อม และอาคารสถานที่ให้มีความปลอดภัย เช่น ปรับปรุงห้องสุขาให้มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่อยู่ในจุดอับสายตา ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) บริเวณจุดเสี่ยง รวมทั้งการบริหารจัดการเชิงระบบเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยภายในโรงเรียนทุกรูปแบบ และร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดให้มีแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดอบรม ให้ความรู้ และสร้างความตระหนักแก่นักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งผู้ปกครองเกี่ยวกับเพศศึกษาและการป้องกันตัวจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างเหมาะสม ตลอดจนให้ความสำคัญกับผู้ปกครองและชุมชนในการมีส่วนร่วมส่งเสริมความประพฤติให้คำปรึกษา และสอดส่องดูแลพฤติกรรมของเด็กอย่างต่อเนื่อง
และ 2.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรเร่งปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. .... โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา เช่น การกำหนดให้ครอบครัว สถานศึกษาในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน มีส่วนร่วมกำหนดแผนการคุ้มครองเด็ก การประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม. ไฟเขียว 'กม.กาสิโน' สั่งกฤษฎีกาดูข้อห่วงใย ก่อนส่งสภา
ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
นายกฯอิ๊งค์เปิดงานวันเด็กที่กระทรวงศึกษาฯ
นายกฯ เตรียมเปิดงานวันเด็กกระทรวงศึกษาฯ จัดเต็มกิจกรรมสร้างความรู้ สนุกสนาน
กสม.แนะแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินปชช. ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ
กสม. แนะกระทรวงพลังงานเร่งเสนอ ครม. แก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
“วราวุธ” กำชับ ทีม ศรส. เร่งช่วย หลาน 7 ขวบ ตา-ยาย พามานอนริมถนน ปูผ้าขายของ รับสิทธิสวัสดิการ เรียนหนังสือ หลังไร้ พ่อแม่เหลียวแล
วันที่ 18 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยถึงกรณีมีการเผยแพร่คลิปคุณยายกับหลานชาย อายุ 7 ปี นอนข้างถนน พร้อมระบุน้องมาอยู่ไร้บ้านกับตายายได้เดือนหนึ่งแล้ว น้องไม่ได้เรียนหนังสือ
รัฐบาลชวน 'ครู-นร.' ลงทะเบียน 'ซิมพร้อมเรียน' ใช้เน็ตฟรี
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
กสม.ชงนายกฯทบทวนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรภายในเขตอุทยานฯหวั่นกระทบสิทธิปชช.
กสม. เสนอแนะนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและชะลอพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ หวั่นกระทบสิทธิของประชาชนในวงกว้าง