ศอตช.โชว์ผลงานปราบโกงทั้งเรียกรับสินบน-อบต.ทุจริตโอนเงิน

ป.ป.ท.-บช.ก.- ป.ป.ช.-กรุงไทย แถลงข่าวจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริต เรียกรับเงินสินบนแลกกับการต่อใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม และทุจริตโอนเงินผ่านระบบ KTB corporate online

14 มิ.ย.2566 - ณ ห้องประชุมกองบังคับการปราบปราม ชั้น 2 ถ.พหลโยธิน กรุงเทพฯ นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มอบหมายให้นายกฤษณ์ กระแสเวส รองเลขาธิการ ป.ป.ท. และ พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 แถลงข่าวกรณีจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริต ร่วมกับ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) นายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ รักษาราชการแทนผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ พ.ต.ต.พิษณุ เอี่ยมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่าย ผู้บริหารฝ่าย Investigation ธนาคารกรุงไทย โดยมีประเด็น ดังนี้

1.กรณีจับกุมปลัดอำเภอเมืองกระบี่ โดยมีพฤติการณ์เรียกรับเงิน จำนวน 100,000 บาท เพื่อแลกกับการต่อใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมประเภท 2 (ให้บริการห้องพักและห้องอาหาร) ตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 ซึ่งมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโรงแรม จำนวน 20,000 บาท (ค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาต คือ ครึ่งหนึ่งของค่าธรรเนียมใบอนุญาต) โดยผู้เสียหายเป็นผู้ประกอบการโรงแรมลักษณะพลูวิลล่า ได้ยื่นคำขออนุญาตเพิ่มเติมห้องและยื่นคำขอต่อใบอนุญาตโรงแรมกับที่ทำการปกครองอำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ตั้งแต่ประมาณเดือนสิงหาคม 2565 ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของที่ทำการปกครองเมืองกระบี่ ผ่านโทรศัพท์มือถือ แจ้งให้ดำเนินการจ่ายเงินสำหรับการดำเนินการตามคำขอ เป็นจำนวน 100,000 บาท เพื่อเป็นการเร่งรัดและอำนวยความสะดวกในการประสานเพื่อออกใบอนุญาตโรงแรมดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ผู้เสียหายจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมเอกสารเกี่ยวกับใบอนุญาตของสถานประกอบการร้องเรียนมายังสำนักงาน ป.ป.ท. ผ่านช่องทางสายด่วน หมายเลข 1206 สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จึงได้ประสานงานไปยัง บก.ปปป. เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 เวลาประมาณ 17.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ร่วมกันวางแผนรวบรวมพยานหลักฐาน โดยให้ผู้เสียหายนำเงินสด จำนวน 100,000 บาท ที่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว นัดหมายส่งมอบเงิน ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.กระบี่ และเมื่อผู้เสียหายได้ส่งมอบเงินแล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเพื่อเข้าทำการตรวจค้น พบว่า มีเงินสดจำนวน 100,000 บาท ที่มีหมายเลขธนบัตรตรงกับหมายเลขธนบัตรที่ลงบันทึกประจำวันไว้ จึงได้แจ้งพฤติการณ์และแสดงหมายจับพร้อมแจ้งข้อกล่าวหา และนำตัวผู้ต้องหา ส่ง พงส.กก.5 บก.ปปป. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

2.กรณีจับกุมเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยมีพฤติการณ์ทุจริตยักยอกเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 80 ล้านบาท สืบเนื่องจากสำนักงาน ป.ป.ท. ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินของฝ่ายการเงินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online ต้องสงสัยหลายรายการ จึงได้ตรวจสอบพบว่า มีการยักยอกเงินงบประมาณของหลวงไปใช้จ่ายส่วนตัว โดยใช้อำนาจหน้าที่ที่สามารถเข้าถึงรหัสการเบิกถอนเงินออกจากธนาคาร ทั้งในส่วนรหัสการเบิกถอนของเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการและรหัสเบิกถอนของเจ้าหน้าที่อนุมัติเบิกจ่าย จึงร่วมปฏิบัติการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีชำนาญการ เทศบาลตำบลลาดยาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่ได้ยักยอกเงิน จำนวน 215 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 15,867,275.49 บาท และผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี อบต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ที่ได้ทำการยักยอกเงิน จำนวน 132 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 44,385,950 บาท โดยเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ร่วมกับ บก. ปปป. ป.ป.ช. และ ปปง. เปิดปฏิบัติการ Stop Cyber Corruptions ขึ้นในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด ดังนี้

1.อบต. โคกหล่าม อ.อุทุมพรพสัย จ.ศรีสะเกษ นักวิชาการเงินและบัญชี มีพฤติกรรมโอนเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทยของ อบต.โคกหล่าม เข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยของตนเอง ผ่านระบบ KTB Corporate Online จำนวน 8 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหาย จำนวน 548,420 บาท ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหานำเงินไปใช้หนี้ส่วนตัว

2.อบต.นาเขลียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช มีการโอนเงินจากบัญชี อบต.นาเขลียง โดยใช้รหัสแม็คเกอร์ของบุคคลที่ย้ายไปแล้ว เข้าสู่บัญชีของนางสาว บ. (คาดว่าเป็นบัญชีม้า) และบัญชีม้ามีการโอนต่อไปยังบัญชีนางสาว ว. ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นภรรยาของผู้อำนวยการกองคลัง ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ธันวาคม 2564 ถึงมีนาคม 2566 จำนวน 59 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหาย จำนวน 4,077,951.73 บาท ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหานำเงินไปใช้ส่วนตัว

3.อบต.หนองหัวโพ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี โอนเงินของ อบต.หนองหัวโพ เข้าบัญชีตนเองเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ถึง มิถุนายน 2566 จำนวน 84 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหาย จำนวน 4,977,412.28 บาท ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหานำเงินไปใช้ส่วนตัวและเล่นการพนันออนไลน์

4.อบต.ห้วยยายจิ๋ว อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี โอนเงินของ อบต.ห้วยยายจิ๋ว เข้าบัญชีตนเองเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จำนวน 60 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหาย จำนวน 5,860,494.08 บาท ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหานำเงินไปใช้หนี้ส่วนตัว

และ 5.อบต.นิลเพชร อ.บางเลน จ.นครปฐม เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญงาน ได้โอนเงินเข้าบัญชีตนเอง และโอนต่อไปยังบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ของตนเอง และญาติ จำนวน 23 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหาย จำนวน 8,350,000 บาท ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหานำเงินไปใช้ส่วนตัว

ทั้งนี้ จากปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายในครั้งนี้ ภายใต้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จะบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริตผ่านระบบ KTB Corporate Online พร้อมทั้งตรวจสอบ กำกับ ติดตามการดำเนินงานหรือข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัยอันอาจจะเป็นการทุจริตของหน่วยงานรัฐทั่วประเทศต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ผบช.ก.' แถลงจับหมอดูชื่อดัง 'ตี่ลี่ฮวงจุ้ย' แจ้ง 2 ข้อหาหนัก

'บิ๊กก้อง' แถลงจับ 'หมอดูตี่ลี่ฮวงจุ้ย' ตุ๋นเหยื่อซื้อวัตถุมงคลแก้เคล็ดกว่า 108 ล้าน เอาไปเล่นพนัน แจ้ง 2 ข้อหา 'ฉ้อโกง-ฟอกเงิน' พร้อมยึดรถหรู 2 คัน

เปิดทรัพย์สินอดีต 5 สว. 'กล้านรงค์-กิตติศักดิ์-จิรชัย-เจตน์-ธานี'

เปิดเซฟอดีต สว. 'กล้านรงค์' อดีตกก.ป.ป.ช. รวย 22.5 ล้าน 'กิตติศักดิ์' เบาๆ 3.5 ล้าน มีหนี้เงินติดล้อ 2 แสน 'จิรชัย' อดีตปลัดสปน. 22.7 ล้าน 'เจตน์' 76 ล้าน 'ธานี' 8 ล้าน