'เอ็ดดี้' แนะใครที่เรียกร้องให้เอาผิด 'บิ๊กตู่-คสช.' ในข้อหากบฏ ควรกลับไปเรียนหนังสือมาใหม่

13 มิ.ย.2566- “เอ็ดดี้” อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ไม่รู้หรือรู้ดี ให้ความรู้หรือยุยงปลุกปั่น” ใครที่เรียกร้องให้เอาผิดพล.อ.ประยุทธ์และ คสช.ในข้อหากบฏ ควรกลับไปเรียนหนังสือมาใหม่ โดยเฉพาะคนที่เป็นครูอาจารย์ ควรจะลาออกและเลิกเป็นครูอาจารย์สอนหนังสือ เพราะเรื่องพื้นฐานเพียงแค่นี้ยังไม่รู้ หรือแยกแยะไม่ออก หรือรู้ดีทุกอย่างแต่ตั้งใจบิดเบือนข้อเท็จจริง แล้วอาศัยสถานะการเป็นครูอาจารย์มาหลอกลวงมวลชน หรือจะให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด รัฐควรดำเนินคดีกับผู้บิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดและส่งผลให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรืออาจส่งผลให้เกิดการก่อความรุนแรงได้

เรื่องเหล่านี้ผมเขียนมาหลายครั้ง ครั้งนี้ของฉายซ้ำ เพื่อสั่งสอน เคาะกะลาหัวอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ชอบบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อหลอกลวงประชาชน และไม่เคยถูกดำเนินคดีในข้อหาปลุกปั่นยุยง

• การปฏิวัติ (revolution) หมายถึง การใช้ความรุนแรงทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง อุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา และระบบสังคมโดยรวม

• การรัฐประหาร (coup d’état) หมายถึง การใช้ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วน โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนตัวหัวหน้ารัฐบาล หรือผู้ปกครองประเทศ แล้วจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้ผู้ก่อการรัฐประหารขึ้นมา โดยที่รูปแบบการปกครองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด มีแต่ตัวผู้นำและคณะผู้นำเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป

• การกบฏ (rebellion) นั้น หมายถึงการที่กลุ่มคนพยายามทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารแต่กระทำไปไม่สำเร็จ จึงได้ชื่อว่าเป็นกบฏ

• สรุป

การปฏิวัติและรัฐประหาร มีลักษณะคล้ายกันเง่การใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจทางการเมือง ที่ต่างกันคือ หลังทำการสำเร็จแล้วทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะเรียกว่า ปฏิวัติ ถ้าเปลี่ยนเฉพาะรัฐบาลเรียกว่า รัฐประหาร แต่ถ้าทำการไม่สำเร็จจะเรียกว่า กบฏ

ตามกฎหมายไทย กบฏ เป็นความผิดอาญา ฐานกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ภายในราชอาณาจักร โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้าง หรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ หรืออำนาจอธิปไตยทั้งสาม

หรือแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักร เรียกว่า ความผิดฐานเป็นกบฏหรือขบถ และกำหนดโทษสำหรับผู้ก่อการกบฏ ให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม มีผู้ได้รับโทษทัณฑ์ในข้อหากบฏในราชอาณาจักรน้อยมีที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เช่น กบฏ ร.ศ. 130 รับนิรโทษกรรมจากรัฐบาล หรือหลบหนีไปนอกราชอาณาจักร เช่น กบฏวังหลวง กรณีที่มีผู้รับโทษประหารชีวิตได้แก่ กบฏ 26 มีนาคม 2520 ซึ่งเป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่ทำให้ทหารรัฐประหารรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรในเวลาต่อมา

• กบฏ ร.ศ. 130 กบฎที่ได้พระราชทานอภัยโทษ

กบฏ ร.ศ. 130 เป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการประชุมอีกหลายครั้ง ที่สุดคณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการในวันที่ 1 เมษายน อันเป็นวันขึ้นปีใหม่สู่ พ.ศ. 2455 และเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ผู้ที่จับสลากว่าต้องเป็นคนลงมือลอบปลงพระชนม์ คือ ร้อยเอกหลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ คงอยู่) เกิดเกรงกลัวความผิด จึงนำความไปแจ้งหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และพากันนำความไปแจ้ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งพระองค์พิโรธมาก

ความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถูกส่งตัวไปคุมขังที่คุกกองมหันตโทษที่สร้างขึ้นใหม่ ถูกศาลทหารพิพากษาให้ประหารชีวิต 3 คน จำคุกตลอดชีพ 20 คน และจำคุกนานลดหลั่นกันตามความผิด โทษที่น้อยคือจำคุกมีกำหนด 12 ปี ในข้อหาว่าจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองของพระราชอาณาจักรและทำการกบฏประทุษร้ายพระเจ้าแผ่นดิน

แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ความผิดของพวกเขาเหล่านี้มี “ข้อสำคัญที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา เราไม่ได้มีจิตพยาบาทอาฆาตมาดร้ายต่อพวกนี้ เห็นควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา ซึ่งเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินจะยกให้ได้”

ดังนั้น ผู้ที่มีชื่อถูกประหารชีวิต 3 คน จึงได้รับการลดโทษลงมาเป็นจำคุกตลอดชีวิต และผู้ที่มี่ชื่อถูกจำคุกตลอดชีวิต 20 คนให้ลดโทษลงมาเหลือจำคุก 20 ปี อีก 68 คนซึ่งมีโทษจำคุกต่างกันนั้น ให้รอการลงอาญาไว้

คณะผู้ก่อการทั้งหมด 23 คนได้รับพระราชทานอภัยโทษในพระราชพิธีฉัตรมงคล เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ครบรอบปีที่ 15 ของการครองราชย์

• พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ กบฏที่ได้รับโทษประหารชีวิต

กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เป็นความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกองกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520

ฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้รวมตัวกันและออกแถลงการณ์ตอบโต้ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ยืนยันว่า กองกำลังทหารและตำรวจยังยืนอยู่ข้างรัฐบาล และได้ร่วมกันปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ผู้นำการก่อการถูกจับและถูกดำเนินคดี ด้วยการถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ในวันที่ 21 เมษายน ปีเดียวกันนั้น นับเป็นกบฏคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตตราบจนบัดนี้[

• ปรีดี พนมยงค์ กบฏที่หลบหนีไปต่างประเทศ

กบฏวังหลวง เกิดเมื่อวันที่ 26–27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เป็นเหตุการณ์ที่ ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่หมดอำนาจไปหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ได้นำกองกำลังส่วนหนึ่งเล็ดลอดเข้าประเทศมาจากประเทศจีนร่วมกับคณะนายทหารเรือส่วนหนึ่งและอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” นำกำลังยึดพระบรมมหาราชวังและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการในเวลาประมาณ 16.00 น. เรียกปฏิบัติการนี้ว่า “แผนช้างดำ-ช้างน้ำ”

แต่แล้วในที่สุด เวลาเย็นของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ ทำให้ปรีดี พนมยงค์และพันธมิตรทางการเมืองหมดอำนาจโดยสิ้นเชิง โดยปรีดีที่หลบหนีไปได้นั้น ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยา ได้ขอความช่วยเหลือจากปลัดอำเภอพระโขนง ให้ปรีดีหลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านร้างหลังหนึ่งซึ่งเป็นเคยฉางเกลือเก่า เป็นบ้านร้างบนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณเชิงสะพานสาทรในปัจจุบัน โดยกบดานอยู่ 5 เดือน และหลบหนีไปยังประเทศจีน ในวันที่ 6 สิงหาคม ปีเดียวกัน

• พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.ไม่ได้เป็นกบฎ

พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.ไม่ได้เป็นกบฎ เพราะทำการสำเร็จ แต่ผู้ที่เป็นกบฏก็เช่น อ.ปรีดี ที่รักของท่านเคยต้องโทษกบฏและหลบหนีไปต่างประเทศ

• ถวายคืนพระราชอำนาจ

ถ้ากล่าวหาว่า รัฐประหารของคสช.เป็นกบฏ เป็นโฆษะ เช่นนั้น ปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฏร์ก็เป็นกบฏและเป็นโฆษะ สมควรถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์กลับมาปกครองแผ่นดิน

• ดำเนินคดีกับผู้ที่ยุยงปลุกปั่น

ผมเรียกร้องให้หยุดบิดเบือนข้อเท็จจริง และเรียกร้องให้รัฐดำเนินคดีกับผู้ที่บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อยุยง ปลุกปั่น การที่เจ้าหน้าที่รัฐเพิกเฉย เท่ากับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ผมไม่ได้นิยมการปฏิวัติ รัฐประหาร แต่นี่คือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิวัติ รัฐประหารและความเป็นกบฏ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอ็ดดี้ อัษฎางค์' มีคำตอบให้! 'พิธา' ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูเพื่อไทย

เอ็ดดี้-อัษฎางค์ ยมนาค อินฟลูเอ็นเซอร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูกับเพื่อไทย อัษฎางค์ ยมนาค มีคำตอบให้

'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"

เอ็ดดี้ ข้องใจปม ‘เกาะกูด’ ถาม ‘ทักษิณ’ มีข้อตกลงอะไรกับ ‘ฮุนเซน’ หรือไม่

ทักษิณ ชินวัตร ไร้น้ำยา ไม่สมราคาคุย หรือ ทักษิณ ชินวัตร มีข้อตกลงอะไรกับฮุนเซน หรือไม่ อย่างไร เป็นคำถามที่ค้างคาใจประชาชนคนไทยทั้งชาติ

'อัษฎางค์' ข้องใจ ม.นเรศวร จ้างฝรั่งมาบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออย่างไร?

อัษฎางค์ ยมนาค โพสต์เฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ระบุข้อความว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรจ้างฝรั่งมาบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออย่างไ

สงสัย 'อเมริกา' คือจุดเริ่มต้นการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาเดือนตุลาถึงขบวนการสามกีบหรือไม่?

อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า สหรัฐอเมริกา(ผู้รักษาสันติภาพ ที่ทำลายสันติภาพ) คือจุดเริ่มต้นการชุมนุม