ทร.ชงข้อมูลเรือดำน้ำจีนให้ครม.ใหม่ตัดสินใจ ผบ.ทร. เผยปากีสถานยอมรับเครื่องยนต์ CH-620 ที่จีนผลิตแล้ว ชี้เป็นปมสำคัญควบคู่ขีดความสามารถ-ความปลอดภัย ตั้งงบ 67 ต่อเรือฟริเกตลำที่ 2 ในไทย ไม่ซื้อ ตปท. ขณะที่ "เรือช้าง" พร้อมแล้วตั้งเป็นฐานลอยน้ำ บรรเทาสาธารณภัย -รับมือพายุ
29 พ.ค.2566 - พลเรือเอกเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เดินทางไปเรือหลวงช้างเพื่อตรวจเยี่ยมการทดสอบขีดความสามารถของเรือหลวงช้าง ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน และหาดยาว อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ประกอบด้วย การทดสอบขีดความสามารถการเคลื่อนกำลังจากเรือสู่ฝั่ง ในการปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และ การทดสอบขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และ จัดตั้ง รพ.สนามบนเรือ อีกทั้งการใช้ขีดความสามารถของครัวประจำเรือเพื่อเตรียมอาหารสำหรับผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมกรณีเกิดภัยพิบัติในทะเล
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยจากสถิติที่ผ่านมา มักจะเกิดพายุในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนและทางทะเลฝั่งอันดามัน อันอาจจะส่งผลกระทบทำให้เรือต่างๆ เกิดปัญหาอับปางในทะเล รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อจังหวัดชายทะเล ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่เกาะต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ที่ถูกตัดขาด (Isolate Area) ซึ่งการให้ความช่วยเหลือจากทางบกไม่สามารถดำเนินการได้ จำเป็นต้องใช้การช่วยเหลือจากทางทะเล (From The Sea) เท่านั้น โดยการทดสอบขีดความสามารถของเรือหลวงช้างในครั้งนี้ ได้บูรณาการกำลังจากหน่วยต่างๆ ในกองทัพเรือประกอบด้วย เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 3 เครื่อง เรือระบายพลขนาดเล็ก LCVP จำนวน 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง LCM จำนวน 2 ลำ และรถโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV)
เรือหลวงช้างมีความคงทนทะเลอยู่ที่ Sea State 9 คือ คลื่นสูงมากกว่า 14 เมตร แต่การปฏิบัติภารกิจในสภาวะ Sea State 9 ต้องพิจารณาความปลอดภัย ในการปฏิบัติการซึ่งมีข้อจำกัดของการปฏิบัติการของอากาศยาน และเรือเล็ก ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาของประเทศไทย ได้เกิดพายุขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรง จำนวน 4ครั้ง ได้แก่ พายุแฮเรียต ในปี 2505 (Sea State 8) พายุโซนร้อนกำลังแรงลินดา ในปี 2540 (Sea State 9) พายุโซร้อนปลาปึก ในปี 2562 (Sea State 8) โดยพายุที่รุนแรงที่สุดได้แก่ พายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี 2532 มี Sea State 9 คลื่นสูงมากกว่า 14 เมตร
สามารถบรรทุก รถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 56 คัน หรือ ยานเกราะล้อยาง (MBT) 20 คัน เรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) 6 ลำ หรือ เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) 9 ลำ หรือ ยานเบาะอากาศ (LCAC) จำนวน 2 ลำ นอกจากนั้น ยังสามารถบรรทุกกำลังรบยกพลขึ้นบกพร้อมอุปกรณ์ได้ถึง 650 นาย จะเห็นได้ว่า เรือหลวงช้าง สามารถบรรทุกรถยนต์ประเภทต่างๆ รวมทั้ง เรือระบายพล เรือเล็ก ซึ่งจากขีดความสามารถเหล่านี้ ทำให้พิจารณาการลำเลียงยานพาหนะที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติได้หลากหลาย มีขีดความสามารถทางการแพทย์ มีห้องปฏิบัติการแพทย์ จำนวน 11 ห้อง เป็นห้องผู้ป่วย 3 ห้อง ส่วนรักษา 8 ห้อง (ห้อง X-ray ห้องทันตกรรม ห้องศัลยกรรม ห้องตรวจโรค ห้องยา ห้อง LAB ห้องฆ่าเชื้อ และห้องผ่าตัด) ซึ่งสามารถรองรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับ 2 บนเรือได้
พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมการทดสอบขีดความสามารถของเรือหลวงช้างว่า การปฏิบัติในเรื่องของยุทโธปกรณ์ที่สนับสนุน เช่นเรือระบายพล ยานรบ ยังมีข้อขัดข้องอยู่บ้าง ซึ่งทางกองเรือยกพลขึ้นบกจะได้นำไปแก้ปัญหา เพื่อปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ขณะนี้เรือหลวงช้างมีความพร้อมในการปฎิบัติภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนแล้วโดยเฉพาะการตั้งโรงพยาบาลระดับที่2 พร้อมให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน วิกฤตได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งสามารถขนส่งลำเลียงอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในภัยพิบัติขนาดใหญ่ พื้นที่ห่างไกลได้ เนื่องจากเรือมีความทนทะเลสูง ระดับ sea sate 9 รับคลื่นสูง 14 เมตร ซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์ สำหรับการติดอาวุธ หรือการติดตั้งปืนนั้นเป็นเพียงระบบป้องกันตนเอง ส่วนระบบอำนวยการบ ระบบตรวจการณ์ก็ติดตั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเรือในการทำการรบได้อย่างเต็มรูปแบบเท่านั้น ทางด้านภารกิจสนับสนุนเรือดำน้ำนั้นก็ต้องรอความชัดเจนในการจัดหาเรือดำน้ำจากประเทศจีนให้ได้ก่อน หลังจากนั้นก็จะเพิ่มขีดความสามารถในภายหลัง
เมื่อถามว่าได้มีการสอบถามทางปากีสถานซึ่งสั่งต่อเรือดำน้ำจากจีนในประเด็นเครื่องยนต์ว่าพร้อมจะเปลี่ยน เครื่องยนต์เป็น CH620ที่จีนผลิตหรือไม่ ผบ.ทร. กล่าวว่า กองทัพเรือได้ส่งคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ไปประเทศจีนเพื่อไปดูไลน์การผลิตเครื่องยนต์รุ่นดังกล่าวที่ทางการจีนนำมาใช้แล้ว ปัจจุบัน เครื่องยนต์รุ่นนี้เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเรือผิวน้ำของจีนเป็นหลักและใช้อยู่กับเรือรบของจีนทั้งหมด การที่จะดัดแปลงมาใช้กับเรือดำน้ำก็จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมไม่กี่ส่วน
“เครื่องยนต์ที่ผลิตให้ปากีสถานได้มีการเริ่มไลน์การผลิตแล้ว นั่นหมายความว่า จีนได้ผลิตเครื่องยนต์ถ้า CH620ให้เรือดำน้ำปากีสถาน ทางการจีนเองก็ต้องใช้เครื่องยนต์รุ่นนี้กับเรือดำน้ำจีนเช่นเดียวกัน ในการต่อเรือดำน้ำในอนาคตซึ่งจีนก็ได้มีการผลิตเรือดำน้ำอยู่ทุกปีเพื่อใช้ในกองทัพเรือจีน”
เมื่อถามว่าส่วนนี้จะเป็นเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจของกองทัพเรือหรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่จะดูในเรื่องของประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ความปลอดภัยของเครื่องยนต์ และขั้นสุดท้ายคือขีดความสามารถในการปฎิบัติการทางยุทธวิธีที่จะใช้กับเรือดำน้ำ ซึ่งเราได้พิจารณาทั้ง3หัวข้อเพื่อมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าเราจะรับเครื่องยนต์ดังกล่าวติดตั้งกลับเรือดำน้ำที่เราสั่งต่อจากจีนหรือไม่
“เรื่องทั้งหมดนี้ได้มีการนำเสนอรัฐบาลผ่านกระทรวงกลาโหมอย่างต่อเนื่องเป็นการรายงานให้กระทรวงกลาโหมรับทราบข้อมูลและความคืบหน้าในการเจรจาและแนวทางการตัดสินใจเพื่อเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย”
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่รัฐบาลใหม่เข้ามาอาจจะไม่เข้าใจการดำเนินการของกองทัพเรือ ผบ.ทร. กล่าวว่า กองทัพเรือก็ต้องสรุปข้อมูลเข้าชี้แจงให้กับรัฐบาลใหม่ได้รับทราบถึงเหตุผลความจำเป็น และสิ่งที่กองทัพเรือทำมาตลอดในการแก้ไขปัญหา ซึ่งก็เป็นอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาลชุดใหม่ ส่วนแผนรองรับนั้น เราได้ชะลอโครงการเรือดำน้ำลำที่2-3ออกไปอยู่แล้ว โดยยกโครงการเรือฟริเกตลำที่2มาทดแทนในช่วงที่เรามีปัญหาเรือดำน้ำลำที่ 1ได้ข้อสรุปว่าเราจะต่อในประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับส่วนต่อเรือในประเทศไทย
“เราอยู่ระหว่างการตัดสินใจระหว่างเดินหน้าต่อไปหรือยกเลิกสัญญา และยังไม่ได้ข้อสรุปซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับจีนทั้งเรื่องการจ่ายค่าชดเชยหลังจากที่โครงการล่าช้าไป ไม่ว่าจะเป็นการให้รับประกันการใช้เครื่องยนต์รุ่นดังกล่าวหรืออะไหล่ชดเชย สิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะมาชดเชยให้ทร.ไทย”
ผบ.ทร. ย้ำว่า กำหนดการที่จะได้ข้อสรุปทั้งหมดยังเป็นช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนเหมือนเดิม ที่ทางการจีนจะรวบรวมข้อมูลมาให้เรา เพื่อจะได้ตรวจสอบขั้นสุดท้ายแล้วนำเสนอรัฐบาลต่อไป จะเปลี่ยนแปลงจากที่เสนอหรือไม่ขึ้นอยู่กับ ครม. พิจารณาเพราะเป็นอำนาจของ ครม. ส่วนถ้ายกเลิกแล้วทางการจีนจะคืนเงินให้เราหรือไม่นั้นในส่วนนี้เป็นเรื่องของการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลที่ต้องพูดจากัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทร. เตรียมจัดเสวนาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเล ปม MOU 44 หวังสื่อสารให้สังคมเข้าใจ
พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวภายหลังทำพิธีวันสถาปนากองทัพเรือ ครบรอบ 118 ปี เมื่อถามว่า อดีต ผบ.ทร. ได้ฝากถึงกรณี MOU 44
'ทร.' เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย 'วันลอยกระทง' ดูแลตลอดลำน้ำเจ้าพระยา
ทร. เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยวันลอยกระทง จัดกำลังพล 239 นาย เรือ 44 ลำ ดูแลความปลอดภัยตลอดลำน้ำเจ้าพระยา
'ภูมิธรรม' ไม่ขีดเส้นตาย 'ทัพเรือ' ชี้แจงเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำเป็นของจีน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการเรือดำน้ำ หลังสั่งการให้กองทัพเรือไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ CHD620 ของจีน และการขยายสัญญา 1,217 วัน
ศรชล.-ทรภ.3 ร่วมดูแลเรือใบอิตาลี สวยที่สุด อายุเก่าแก่ เทียบท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต
ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค3) เปิดเผยว่า พลเรือโทสุวัจ ดอนสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 (ผบ.ทรภ.3)/ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ผอ.ศรชล.ภาค 3)
จ่อร้องยุบรัฐบาล! ‘วีระ’ อ้างเป็นกบฏทำ เสียดินแดน / ‘ผบ.ทร.’ ลงพื้นที่เกาะกูด
ผบ.ทร.ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด กำชับกำลังพลหากมีเรื่องใดขัดข้องให้รีบแจ้งเพื่อแก้ไข ขณะที่นายอำเภอเกาะกูดลั่นเป็นของไทยมากว่า
'บิ๊กแมว' ตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ยืนยันพร้อมดูแลประชาชนอยู่กินอย่างสงบสุข
พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด พร้อมรับฟังบรรยายสรุปถึงการปฏิบัติงานของหน่วย และการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตกำลังพล และประสิทธิภาพของหน่วย เพื่อเป็นการสร้างขวัญ