รำลึก 31 ปีพฤษภา'35 'ดร.ปริญญา' เตือนการไม่ให้เกิดความสูญเสียอย่างในอดีตต้องทำตามครรลองประชาธิปไตย เลขาฯก้าวไกล กร้าว! หยุดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและปฏิรูปกองทัพ สร้างหลักประกันไม่ให้มีรัฐประหารอีก เสนอ 4 วาระถอดบทเรียน 'หญิงหน่อย' ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย 'สาวิทย์ แก้วหวาน' ห่วงเผด็จการทุนนิยมซ่อนรูป ขอฝ่ายการเมืองอย่าสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารอีก 'อดุลย์' ฝากพรรคการเมืองทำตามเจตนารมณ์ของประชาชน
17 พ.ค. 2566 - ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน วันที่ 17 พฤษภาคม คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 จัดงานรำลึก 31 ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม โดยช่วงเช้าเป็นพิธีวังมาลาและกล่าวสดุดีวีรชน ก่อนมีพิธีการสงฆ์และการเสวนาในช่วงบ่าย
โดย ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม วางพวงมาลาเป็นคนแรก พร้อมกล่าวว่า การจะไม่ให้เกิดความสูญเสียอย่างในอดีตเกิดขึ้นอีก คือการทำตามครรลองประชาธิปไตย ยึดหลักเสียงข้างมากและรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่พร้อมรับการตรวจสอบจากองค์กรอิสระและจากทุกภาคส่วนหรือการยึดหลักความโปร่งใส โดยในระบอบประชาธิปไตยที่แม้ว่าจะมีความเห็นต่างกันแต่จะสามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้ ซึ่งเมื่อ 9 ปีก่อนการเมืองรถถังหรือฝ่ายเผด็จการรัฐประหารชนะ แต่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประจักษ์ชัดแล้วว่าฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ดังนั้น เมื่อกระแสแห่งประชาธิปไตยได้กลับมาอีกครั้ง คนไทยจะต้องไม่ทำให้มันล้มเหลวอีก
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วางมาลา และกล่าวรำลึกวีรชนว่า การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2534 และเกิดเหตุการณ์ประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านการรัฐประหาร จนกลายเป็นเหตุการณ์พฤษภา'35 ท่ามกลางข้อจำกัดของการการส่งข่าวสารในยุคนั้น กลายเป็นวันประวัติศาสตร์ที่วีรชนพลีร่างเรียกร้องประชาธิปไตย จึงหวังให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงคุณูปการและบทเรียน ด้วยการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เข้มแข็งในทุกองค์กร หลังจากผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะเส้นทางของการพัฒนาประชาธิปไตยยังอีกยาวไกล
นายคุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ วางมาลา และกล่าวรำลึกวีรชนว่า เหตุการณ์พฤษภา'35 เป็นประจักษ์พยานว่ารัฐไทยพร้อมใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้เสมอ ทหารยังมายุ่งกับการเมืองและไม่เคยเชื่อวิจารณญาณของประชาชน ไม่ยอมให้ประชาธิปไตยในประเทศนี้มีโอกาสเติบโตซึ่งหตุการณ์เมื่อ 31 ปีก่อนนั้นประชาชนเรียกร้องเรื่องง่ายๆคือให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้ทหารเลิกแทรกแซงกับการเมือง แต่สิ่งที่ได้รับในเวลานั้นกลับเป็นอาวุธและกำลังของเจ้าหน้าที่ที่เข้าทำร้ายประชาชน ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกแต่เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหมือนภาพฉายซ้ำในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่เคยปราศจากการแทรกแซงของกองทัพ การรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ เหมือนโรคร้ายที่มีอาการเจ็บปวดและจะเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ แต่หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาล่าสุด มองว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สันติที่สุดตามระบอบประชาธิปไตยและหวังว่าจะไม่มีข้ออ้าง "เสียสัตย์เพื่อชาติ" เพื่อหวังก่ออาชญากรรมในนามของความดีงามใดๆทั้งสิ้น พร้อมยืนยันว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศนี้เป็นของประชาชนและทหารต้องกลับกรมกอง วงจรอุบาทว์จะยุติลงเสียที
จากนั้นผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆ วางมาลา และกล่าวรำลึกวีรชน โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นคนแรกซึ่งได้วางมาลาและกล่าวรำลึกวีรชน ว่า สิ่งที่มุ่งหวังไม่ใช่เพียงรำลึกการสูญเสียไม่ว่าจะเป็นชีวิตทรัพย์สินหรือโอกาสของประเทศชาติและประชาชน แต่ในฐานะประชาชนที่ได้รับผลพวงทางด้านบวกและด้านลบในการต่อสู้ครั้งนั้น จะนำการสูญเสียมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะไทยยังวนเวียนและมีเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากคนในชาติเดียวเอง เพียงเพื่อต้องการอยู่ในอำนาจและรักษาอำนาจเพื่อใช้แสวงหาความสุขบนการบาดเจ็บล้มตายหลายครั้งของประชาชน ยืนยันว่า ประชาชนเพียงต้องการใช้อำนาจปวงชนชาวไทยซึ่งเป็นอำนาจที่แท้จริงในการปกครอง โดยประชาชนเพื่อประชาชนและเป็นของประชาชนเท่านั้นเอง แต่โดนปิดกั้นขัดขวางมาตลอด แต่เชื่อว่าวันนี้วีรชนพฤษภา'35 จะมีรอยยิ้มที่มุมฝีปากเล็กๆเกิดขึ้น เพราะวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ชัดแจ้งที่บอกถึงข้อเรียกร้องของความเป็นประชาธิปไตยที่ถูกปลูกฝังอยู่ในจิตสำนึกของคนไทย อย่างน้อยได้เห็นประชาชนออกมาใช้อำนาจของตัวเองผ่านบัตรเลือกตั้ง ประกาศชัดว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เป็นอยู่ หรือรัฐราชการ-รัฐทหารที่เป็นอยู่ประชาชนไม่ได้ต้องการแล้ว เป็นคำตอบอย่างชัดแจ้งผ่านการเลือกฝ่ายเสรีประชาธิปไตยอย่างท่วมท้น
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า การรำลึกถึงผู้สูญเสียวันนี้มีเหตุการณ์ที่ต้องจารึกมากมาย ขอให้ทุกฝ่ายนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง มั่นใจว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่จะเป็นแกนกลางในการสืบสานเจตนารมณ์วีรชนพฤษภา'35 เพื่อให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงปรากฏเป็นจริง เพราะพรรคการเมืองคือกลไกที่สำคัญที่สุดที่จะรับมอบอำนาจจากประชาชนและการมอบอำนาจนั้น เพื่อความสุขของประเทศชาติและประชาชน
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล วางพวงมาลา พร้อมย้ำถึง ข้อเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งและคัดค้านนายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐประหารในเหตุการณ์พฤษภา'35 ซึ่งผ่านมา 31 ปีมี 4 บทเรียนที่ไม่มีบทสรุปร่วมกันในสังคมไทย บทเรียนแรกคือ การยอมรับกติกาประชาธิปไตยร่วมกันจะไม่นำมาซึ่งการสูญเสียใด ซึ่งวันนี้สังคมไทยสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่ยืนอยู่บนพื้นฐานและหลักการประชาธิปไตยได้ โดยไม่เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจหรือประชาชนไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต
บทเรียนที่ 2 ต้องปฏิรูปกองทัพเพื่อเป็นหลักประกันว่าในอนาคต จะไม่มีเหตุการณ์รัฐประหารหรือการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพอีก เพราะหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 35 สังคมไทยเห็นกองทัพหรือทหารกลับเข้าสู่กรมกองในช่วงแรกแล้วประชาชนก็ยินดีว่าจะไม่มีการรัฐประหารอีก แต่ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลยในการปฏิรูปกองทัพ บทเรียนนี้จึงมีความสำคัญว่า การไม่ปฏิรูปกองทัพ การไม่ทำให้ทหารอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง ไม่ทำให้กองทัพออกจากบทบาทปัญหาความมั่นคงภายในแล้วปล่อยให้การจัดการปัญหาความมั่นคงภายในเป็นหน้าที่ของพลเรือนอย่างจริงจัง ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก
บทเรียนข้อที่ 3 การไม่ปล่อยให้เกิด 'วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด' ซึ่งเหตุการณ์พฤษภา'35 ยังไม่เคยมีการไต่สวน สอบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง แล้วนำผู้ที่มีบทบาทในการปราบปรามประชาชนมารับผิด มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจ ดังนั้น หากไม่ต้องการเห็นผู้มีอำนาจรัฐใช้อำนาจในการปราบปรามประชาชนจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายหรือสูญหายอีกในอนาคต จำเป็นต้องไม่ปล่อยให้มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดอีกต่อไป โดยต้องแสวงหาข้อเท็จจริงในหลายเหตุการณ์ในอดีต การไม่ยอมให้เกิดการนิรโทษกรรมโดยผู้มีอำนาจและกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำเอาผู้มีอำนาจที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายมารับผิดชอบจึงเป็นความจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างเหตุการณ์พฤษภา'35 อีก
บทเรียน ข้อที่ 4 คือ เสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเมื่อ 31 ปีก่อนสื่อมวลชนถูกเซ็นเซอร์ถูกปิดปากไม่ให้นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นเปิดทางให้ผู้มีอำนาจปราบปรามประชาชนได้อย่างไม่ต้องสนใจใคร ดังนั้น การต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อมวลชน เสรีภาพทางข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน จึงเป็นวาระสำคัญซึ่งสังคมไทยยังไม่บรรลุอย่างเต็มที่
นายชัยธวัช กล่าวถึงความหวังว่า เมื่อประเทศไทยกลับเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตย คนไทยจะสามารถร่วมกันทำให้วาระสำคัญ 4 วาระข้างต้นบรรลุให้เป็นจริง เพื่อจะไม่ให้คนต้องมารำลึกโศกนาฏกรรมทางการเมืองเพิ่มอีก พร้อมกันนี้เชิญชวนทุกฝ่ายช่วยกันเปลี่ยนพฤษภา'35 กับเหตุการณ์พฤษภา'53 ให้เป็นเดือนพฤษภาคมแห่งความหวัง ทำให้ประชาชนที่ได้เสียสละชีวิตร่างกายรวมถึงครอบครัวของเขาไม่สูญเปล่า
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย วางพวงมาลาพร้อมกล่าวถึงการได้ร่วมในเหตุการณ์ซึ่งตัวเองพึ่งได้เป็น ส.ส.สมัยแรกเช่นกันก่อนที่จะเข้าร่วมกับประชาชนในการชุมนุม จึงพูดได้ว่าตัวเองเข้าสภาไม่เกิน 5 วัน แต่นอนอยู่กลางถนนอยู่ไม่ต่ำกว่า 2 เดือนครึ่งร่วมกับพี่น้องประชาชนและยังได้รับฉันทานุมัติให้เป็นตัวแทนเข้าไปเจรจาให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากสืบทอดอำนาจรัฐประหารลาออก ซึ่งได้รับคำตอบคล้ายกับยุคหลังคือ เผด็จการขอเวลาอีกไม่นาน ทำให้ประชาชนยิ่งไม่พอใจและระดมกันมาชุมนุมมากขึ้น แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกงล้อประวัติศาสตร์ที่ย่ำอยู่กับที่และกงล้อยิ่งจมลึกไปกว่าเดิม เหมือนรถที่ติดหล่ม ซึ่งเคยคิดว่าหลังจากเหตุการณ์ปี2535 จะไม่มีการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจอีก แต่พิสูจน์แล้วว่าตัวเองนั้นคิดผิด เพราะเหตุการณ์ยิ่งหนักกว่าเดิม มีบาลสืบทอดอำนาจ มีนายกฯคนนอกและยังมี ส.ว.250 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของคณะรัฐประหารอีกด้วย
คุณหญิงสุดารัตน์ เสนอว่า นอกจากให้กำลังใจ เชิดชูและเคารพวีรชนผู้เสียสละแล้ว อยากให้กำลังใจ ซึ่งประชาชนได้ใช้สิทธิ์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ชัยชนะไม่ได้จบที่ปลายปากกาของประชาชน แต่มันจะต้องมีความพยายามมากไปกว่านั้นในการรักษาสิทธิและอำนาจของประชาชนเองที่ได้เลือกพรรคการเมืองให้ไปทำงาน ที่สำคัญทางออกที่จะแก้ไขปัญหาอย่างถาวรคือ ต้องร่วมกันทำภารกิจ 2 อย่างคือ อย่างแรกทำให้พรรคการเมืองที่ประชาชนมอบฉันทามติได้เดินหน้าต่อในการจัดตั้งรัฐบาล โดยที่ไม่มีอะไรที่จะมีวาระแอบแฝงซ่อนเร้น ภารกิจที่ 2 คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งพรรคไทยร่างไทยได้เสนอเข้าสภาฯแล้ว จึงอยากเชิญชวนทุกคนร่วมกันสนับสนุน
"มาช่วยกันสร้างรัฐธรรมนูญจากปลายปากกาของประชาชนและขจัดรัฐธรรมนูญที่มาจากปลายกระบอกปืนที่มาจากรัฐบาลให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ภาคประชาชน เครือข่ายญาติวีรชนรวมถึงคนรุ่นใหม่ ตัวแทนนิสิตนักศึกษาต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาประเทศอย่างถาวร ไม่อยากเห็นความสูญเสียแม้แต่ชีวิตเดียวในอนาคตอีกแล้ว ต้องให้สิทธิ์และเคารพเสียงประชาชนอย่างแท้จริงช่วยกันแก้กติกายุติการสืบทอดอำนาจให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน มาร่วมกันสร้างสิ่งที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศอย่างสาวรไม่ใช่แก้จุดหนึ่งแล้วก็จะเกิดปัญหาอื่นๆตามมา" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
ขณะที่ตัวแทนผู้ใช้แรงงานนำโดยนายสาววิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันแรงงานไทย วางพวงมาลา พร้อมกล่าวถึงบทบาทของขบวนการผู้ใช้แรงงานที่ร่วมในเหตุการณ์พฤษภา'35 และมองว่า ความอดอยากยากแค้นแสนเข็ญในขณะนี้ทำให้ผู้ใช้แรงงานเข้าใจภารกิจและบทบาทในการต่อสู้เป็นอย่างดี และเผด็จการนั้นแต่งตัวมาหลายรูปแบบ หากมีอาวุธมีรถถังเป็นเครื่องมือก็เห็นภาพได้ชัดเจน แต่ยังมีเผด็จการที่ซ่อนรูปคือ เผด็จการทุนนิยม โดยในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น เจตนารมณ์ของประชาชนชัดเจนแล้วว่า ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ขณะที่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานไม่ต้องการให้ผู้ใดไปเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์นี้ จึงขอฝากถึงนักการเมืองที่ได้เข้าสภาฯว่า ต้องเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา แต่ไม่ต้องการเห็นลักษณะพวกมากลากไป ขอให้ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง และอย่าสร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายเผด็จการที่จะยกอ้างในการขอรัฐประหารโดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชัน และทุกฝ่ายอย่าบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ให้กระบวนการทั้งหมดเดินหน้าไปตามครรลองประชาธิปไตย หากไม่พึงพอใจกับพรรคการเมืองหรือใครก็แล้วแต่ ก็มีหนทางประชาธิปไตยในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงในท้ายที่สุด และนักการเมืองลืมศักดิ์ศรีและคำมั่นที่เคยให้ไว้กับประชาชน
ส่วนนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวยืนยันว่า จะดำเนินการสืบสานเจตนารมณ์วีรชนจนถึงวันสุดท้ายของลมหายใจ และกล่าวว่า ญาติวีรชนได้ทำเจตนารมณ์ 3 อย่างครบถ้วนคือ 1) ให้รัฐบาลยอมรับเหตุการณ์พฤษภาคมประชาธรรม ซึ่งรัฐบาลยอมรับแล้ว 2) การสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งญาติวีรชนทำให้เป็นตัวอย่างแล้วด้วยการอโหสิกรรมให้กับผู้ที่ทำให้ต้องสูญเสียสมาชิกของครอบครัว โดยที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องร้องขอ 3) การสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภา'35 ซึ่งสำเร็จลุล่วงแล้ว
นายอดุลย์กล่าวว่าทั้ง 3 อย่างที่สำเร็จเป็นการทำให้สังคมโดยรวม แต่ขาดอยู่อย่างเดียวที่ยังไม่ได้ทำให้ญาติวีรชนคือ การชดเชยเยียวยาให้กับญาติวีรชน จึงฝากถึงผู้แทนราษฎรที่จะได้เป็นรัฐบาลในสมัยหน้าพิจารณาเรื่องนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมาญาติวีรชน ไม่ร้องขอและไม่ยอมรับการชดเชยที่ไม่มีศักดิ์ศรีโดยเฉพาะจากรัฐบาลเผด็จการ
“การรัฐประหารไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องได้พูดแล้วว่าจะลบการรัฐประหารออกจากพจนานุกรม ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันสืบสานเจตนารมวีรชนพฤษภา'35ให้คงทนถาวรต่อไป และฝากถึงพรรคการเมืองให้ทำตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่มีมติบอกนักการเมืองชัดเจนแล้วว่า ต้องการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ฝ่ายการเมืองต้องทำให้ได้ อย่าให้ประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงผิดหวัง” นายอดุลย์ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.ณัฏฐ์ ชี้เลือกนายกอบจ.อุดร เพื่อไทยชนะไม่ขาดจะกระทบสนามใหญ่ เตือน 'ทักษิณ' ปากพาซวย!
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ 'ทักษิณ ชินวัตร' ยกทัพไปช่วยหาเสียงนายกอบจ.อุดรธานี แม้เกณฑ์คนไปฟังเยอะ คะแนนสวนทาง หากไม่ชนะขาด กระทบต่อสนามใหญ่ ยกวาทะ 'ถ้าจะเลือกทักษิณ ให้เลือกเบอร์ 2' ระวังทำคนหลงผิดโทษถึงคุก!
'อนุสรณ์' โวลั่น 'อุดรธานี' ยังคงเป็นเมืองหลวงคนเสื้อแดง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.)ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี
'กูรู' ย้อนเกล็ด 'แม้ว-สทร.' หมาเห่าโจรปล้นบ้าน!
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์เฟซบุ๊กว่าลุงแม้วประกาศตั้งตำแหน่งตนเอง เป็น สทร.
เสื้อแดงไม่เข็ด 'จตุพร' ชี้เปรี้ยง 'ทักษิณ' โชว์เหลี่ยมต้มอีกแล้ว!
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า การปราศรัยของทักษิณ ชินวัตร ที่อุดร ส่อถึงอาการไม่มั่นใจในผลการพิจารณาคำร้องของศาล รธน. ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ย.นี้
อดีต สว.สมชาย มั่นใจ...จบที่คุก! คดีล้มล้างฯ-ชั้น14 I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน
'เทพไท' ลดชั้น 'เลขาธิการพรรคเพื่อไทย' เป็น 'ลูกจ้างบริษัท'
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กถึง นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ว่าน้องบอย สรวงศ์ ฟังทางนี้