คว่ำบาตรพรรคจับกัญชาขังคุก หยิบบาป 7 ประการคานธี สอน 'พิธา'

เครือข่ายกัญชา ประกาศไม่เลือกพรรคการเมือง  นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด “อนุทิน” ดอดขอกำลังใจหลังโดนการเมืองเล่นงานสะบักสะบอม “ประพัฒน์” หยิบยก บาป 7 ประการของมหาตมคานธี สอน “พิธา” อย่าเล่นการเมืองไร้หลักการ

7 พ.ค.2566 -  ที่ห้องประชุมอดุล วิเชียรเจริญ คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายประชาสังคมกัญชา กัญชง เพื่อประชาชน ร่วมแถลงการณ์ แสดงจุดยืนในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดและมีกฎหมายควบคุมอย่างเหมาะสม โดยมีเข้าร่วมแสดงจุดยืน อาทิ อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัยมหาวิทยาลัยรังสิต ,นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกร นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา, พญ.สุภาภรณ์ มีลาภ คลินิกเวชกรรมอุ่นใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการใช้กัญชาในการรักษาผู้ป่วยและเด็กจำนวนมาก, พล.อ.ต.นพ.ไกรสร วรดิถี, ศ.พิเศษ ดร.เพียงฤทัย วรดิถี วรดิถีคลินิกเวชกรรมและกัญชาทางการแพทย์ ,ผศ.ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย ผู้แทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ประเทศไทย และเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจอีกเป็นจำนวนมากจนล้นห้องประชุม โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรับฟังด้วย

โดยแถลงการณ์ สรุป ว่า เครือข่ายประชาสังคมกัญชา กัญชง เพื่อประชาชนขอแถลงการณ์ข้อเท็จจริงในสถานการณ์ที่นักการเมืองและพรรคการเมืองได้โกหกและบิดเบือน ในประเด็นดังต่อไปนี้ ประเด็นแรก นักการเมืองที่อ้างว่าคัดค้านกัญชาเสรี และต้องการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ทั้ง ๆ ที่พรรคการเมืองเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมในฝ่ายนิติบัญญัติที่นำมาสู่การปลดล็อกกัญชามาแล้วทั้งสิ้น

 พรรคการเมืองที่กลับลำอ้างว่าจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกในวันนี้ เช่นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล ฯลฯ ได้เคยส่งตัวแทนของพรรคตัวเองเข้าไปทำการศึกษาในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯของสภาผู้แทนราษฎร แล้วสรุปมาเป็นผลการศึกษาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ว่าเห็นควรให้ปลดล็อกกัญชา กัญชง และกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดทุกประเภท

ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เห็นชอบให้ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งการปลดล็อกดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค 3.85 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายเพราะแพทย์ไม่จ่ายกัญชาให้ และเข้าไม่ถึงกัญชา ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ต้องถูกจับกุม และยังมีผลทำให้มีนักโทษในความผิดเกี่ยวกับกัญชาได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสรภาพจากเรือนจำคืนกลับสู่ครอบครัวทันที 3,071 คน และได้รับการลดโทษอีก 1,004 คน และศาลได้จำหน่ายคดีกัญชาที่อยู่ในศาล 7,488 คดีออกจากสารบบ

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ฯลฯ ได้ลงมติเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของพรรคภูมิใจไทยอย่างท่วมท้นถึงร้อยละ 92 โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ระบุถึงเหตุผลเอาไว้ว่าเพราะประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดอีกต่อไป พรรคการเมืองที่ได้ลงมติเห็นชอบในวาระรับหลักการนี้ ย่อมทราบแล้วว่าที่จำเป็นต้องมีกฎหมายพ.ร.บ. กัญชา กัญชง เพราะกัญชานั้นไม่ได้เป็นยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดตามมติของรัฐสภาแล้ว

ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเพื่อพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกัญชา กัญชง จำนวน 25 คนจาก 8 พรรคการเมือง ซึ่งรวมถึงตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทยฯลฯ เพื่อทำให้กฎหมายมีการควบคุมอย่างรัดกุมขึ้นเทียบเคียงกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมยาสูบ และการควบคุมพืชกระท่อม เป็นผลทำให้เพิ่มบทบัญญัติจาก 45 มาตรา มาเป็น 95 มาตรา จนเป็นที่ยุติและนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2

“แต่แทนที่พรรคการเมืองจะได้ช่วยกันเร่งพิจารณา พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ของคณะกรรมาธิการฯให้แล้วเสร็จ กลับใช้วิธีไม่เข้าประชุมเพื่อทำให้องค์ประชุมไม่ครบซ้ำแล้วซ้ำเล่า สะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงอ้างว่าไม่ต้องการกัญชาเสรี แต่กลับไม่ให้ความร่วมมือออกกฎหมายควบคุม”

ประเด็นที่สอง การหาเสียงบิดเบือนว่าแม้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่พรรคการเมืองต่างๆ ยังคงสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ ขอยืนยันว่าข้อเสนอเหล่านี้ขัดแย้งกับสภาพข้อเท็จจริงในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชา ประชาชนจำนวนมากที่ใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายที่ผ่านมา ก็ยังได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ใช้กัญชาในประเทศไทยมีอาการป่วยดีขึ้นถึงดีขึ้นมาก ร้อยละ 93 หรือประมาณ 3.58 ล้านคน และมีผู้ที่ลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันมากถึงร้อยละ 58 หรือประมาณ 2.23 ล้านคน

โดยปัจจุบันมีประชาชนได้ปลูกกัญชาจำนวนมาก มีผู้ประกอบการสร้างโรงงานการผลิตอุตสาหกรรมกัญชา กัญชง ที่ได้มาตรฐาน และได้ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง จำนวนมาก สร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศอย่างชัดเจน สถานการณ์กัญชา กัญชง ของประเทศไทยในขณะนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเป็นยาเสพติดเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น แต่กัญชา กัญชงของประเทศไทยได้ขยายโอกาสในด้านการส่งเสริมสุขภาพและเศรษฐกิจของประชาชนอย่างรอบด้านแล้ว

การทำให้กัญชาที่มีประโยชน์ต่อประชาชนกลับไปเป็นยาเสพติดอีก จะทำให้กัญชากลับไปถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนแพทย์และบริษัทยาเพียงไม่กี่คน ซึ่งได้เคยพิสูจน์แล้วว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะไม่จ่ายกัญชาให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน บางส่วนเป็นเพราะการเป็นยาเสพติดทำให้เกิดขั้นตอนที่ยุ่งยากเกินไปเป็นภาระต่อแพทย์ในการจ่ายกัญชาให้ประชาชน บางส่วนเกิดจากอคติของแพทย์ที่ต่อต้านกัญชา บางส่วนเป็นเพราะแพทย์และบริษัทยาจำนวนหนึ่งเสียผลประโยชน์จากกัญชา เนื่องจากกัญชาจะสามารถมาทดแทนการใช้ยาที่มีราคาแพงจากต่างประเทศจำนวนมาก

ประเด็นที่สาม ปัจจุบันกัญชาไม่ได้เสรี ตามที่นักการเมืองกล่าวอ้าง เพียงแต่ขาดกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติมาควบคุม แต่กระทรวงสาธารณสุข ได้ระดมออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมาก โดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติหลายฉบับ มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมกัญชา รวมประกาศกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆไม่ต่ำกว่า 12 ฉบับ ผลที่ตามมาคือ ปัจจุบันประเทศไทยกัญชาไม่ได้เสรี

“ดังนั้นเราจึงร่วมรณรงค์ ไม่เลือกพรรคที่เอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่จะเลือกพรรคที่มีจุดยืนสนับสนุน พ.ร.บ.กัญชากัญชง ในรัฐบาลชุดหน้าให้แล้วเสร็จ เพื่อรักษาสิทธิของประชาชนในการปลูกกัญชากัญชงในการพึ่งพาตนเอง เพื่อในครัวเรือน”

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ที่ตนเองมาเพื่อขอรับกำลังใจจากทุกคน เพราะโดนการเมืองเล่นเสียสะบักสะบอม แต่ก็ยืนหยัดต่อสู้เพื่อพี่น้องประชาชน ถ้าวันนี้ไม่มีการเลือกตั้ง พ.ร.บ.กัญชาก็คงจะผ่านไปแล้ว เพราะมีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการที่มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ซึ่งถ้าทุกคนถอดหัวโขนออก เขาก็คือพวกเรา คือคนที่เห็นด้วยกับประโยชน์ของกัญชา แต่วันนี้การเมืองมันเป็นสิ่งหอมหวาน เลยยอมที่จะกลืนอุดมการณ์ ที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ซึ่งตนเองก็จะไม่ยอมเช่นเดียวกัน

ด้านนายประพัฒน์ ได้หยิบยกบาป 7 ประการ ของมหาตมะคานธี ฝากถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า หนึ่งในบาป 7 ประการดังกล่าวคือ “การเล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ” ตนเองอยากฝากนายพิธาไว้ ในฐานะที่อายุอานามก็เท่ากับลูกคนโตของตนเอง แรกทีเดียวก็ชื่นชมเพราะเห็นเป็นคนหนุ่มไฟแรง แต่ปัจจุบันการจะเอากัญชาไปเป็นยาเสพติดทั้งที่ก่อนหน้านี้พูดไปอีกแบบ ตนคงยอมไม่ได้ และจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รวมแผ่นดิน' เปลี่ยนชื่อใหม่พรรคก้าวอิสระ 'มาดามหยก' นั่งหัวหน้า 'แว่น สิริรัตน์' โฆษก

นายมาโนช อุณหกาญจน์กิจ รองหัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน เป็นประธานจัดการประชุมใหญ่ สามัญประจำปี ครั้งที่ 2/2567 สืบเนื่องจาก นายมนตรี พรมวัน ลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อไปลงเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้ต้องมีการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค

'แพทองธาร' นำประชุมใหญ่สามัญเพื่อไทย 19 พ.ย. ยังไม่ปรับโครงสร้างพรรค

พรรคเพื่อไทย (พท.) มีกำหนดการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 พรรค พท. เพื่อรับรองผลการดำเนินงานของพรรค ตามกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ด้อมส้วมดิ้น! 'เพนกวิน' ย้อนพรรคส้ม ไม่ควรฟ้องปิดปากประชาชน

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ผู้ต้องหาคดี 112 ซึ่งหลบหนีออกไปต่างประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาชนประกาศว่า จะดำเนินการฟ้องร้องประชาชน

'ดร.ณัฏฐ์' นักกฎหมายมหาชน ฟันธงตัวแปรรัฐบาลชิงยุบสภา ยังไม่เกิด

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกระแสข่าวฐบาลมีโอกาสชิงยุบสภา จะเกิดขึ้นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

อึ้ง! ปชช. 57% ไม่เชื่อมั่นฝ่ายค้าน 'ไหม' โดดเด่นสุด 'เท้ง' รั้งอันดับ 9 'ป้อม' บ๊วย

โพลชี้ 'ศิริกัญญา' โดดเด่นสุด สส.ฝ่ายค้าน แซง 'หัวหน้าเท้ง' อยู่อันดับ 9 ตามคาด 'ลุงป้อม' รั้งท้าย อึ้ง! ประชาชนไม่เชื่อมั่นการทำงานฝ่ายค้านกว่า 57%