กสม.ลงพื้นที่สุพรรณบุรี หลังประชาชนร้องเรียนเรื่องน้ำท่วม บี้ผู้ว่าฯ เร่งแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและยาว พร้อมแนะนายกฯ คลอดมาตรการดูแลทั้งยามน้ำแล้งน้ำล้น
2 ธ.ค.2564 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ แถลงข่าว ว่า กสม.ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ตรวจสอบพื้นที่น้ำท่วม ประสานผู้ว่าฯ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำเสีย แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนรับมือระยะเร่งด่วนและระยะยาว
โดย กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย.2564 กรณีสิทธิชุมชุนอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งกล่าวอ้างว่าการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานของรัฐไม่มีประสิทธิภาพเป็นเหตุให้น้ำท่วมและทรัพย์สินเสียหาย โดยผู้ร้องซึ่งพักอาศัยในเขตพื้นที่ อ.สองพี่น้องและ อ.บางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ให้ข้อมูลว่าพื้นที่ดังกล่าวเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขังสูงกว่า 3 เมตร และเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย เพราะไม่มีการระบายน้ำที่ดี ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมนานเกือบ 3 เดือนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ไม่สามารถใช้ห้องน้ำได้ และไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้ เนื่องจากพืชผลทางการเกษตรและบ่อปลา บ่อกุ้ง จมน้ำได้รับความเสียหายในวงกว้าง โดยเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเร่งสำรวจความเสียหาย วางระบบการบริหารจัดการน้ำ และพื้นที่รับน้ำที่ไม่กระทบบ้านเรือนของประชาชน รวมทั้งวางระบบการแจ้งเตือนน้ำหลากล่วงหน้านั้น
เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564 น.ส.ศยามล พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม.ได้ลงพื้นที่ และรับฟังข้อเท็จจริงจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และได้เดินทางเข้าพบนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดสุพรรณบุรีในประเด็นการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน แนวทางการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนในระยะสั้นและในระยะยาว ตลอดจนมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดยในเบื้องต้น กสม.มีข้อเสนอแนะให้จังหวัดสุพรรณบุรีแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน โดยเร่งสำรวจความเสียหายที่ประชาชนได้รับจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว รวมทั้งเร่งระบายน้ำที่ยังคงท่วมขังในพื้นที่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมและแก้ไขบำบัดปัญหาน้ำเน่าเสีย นอกจากนี้ได้เสนอให้คณะกรรมการลุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำของจังหวัดสุพรรณบุรีจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมขึ้นไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อเตรียมการรองรับการเกิดภาวะน้ำท่วมทั้งในกรณีปกติเป็นประจำฤดูกาล และกรณีฉุกเฉินที่มีน้ำท่วมเกิดขึ้นโดยฉับพลัน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในเขตลุ่มน้ำ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาตรา 64 ส่วนในระยะยาว กสม. เห็นว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและจัดทำระเบียบหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมและภาวะน้ำแล้ง เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 66 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุตุฯ เตือนอากาศเย็น มีหมอกบางตอนเช้า อุณหภูมิสูงขึ้น ใต้ฝนตกหนัก
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง
ศปช. ส่งจนท.-เครื่องจักร เร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อุทกภัย 3 จังหวัดใต้
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง
ผอ.ศปช. สั่งเกาะติดฝนถล่มภาคใต้สัปดาห์นี้ เสี่ยงวาตภัยน้ำท่วมฉับพลันใน 10 จังหวัด
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า หลังวานนี้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.เมือง และ ศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้