'ดร.พิชาย' ฟันธง! คนไทยต้องการเปลี่ยนรัฐบาล ชี้ 3 สูตรหลังเลือกตั้ง แนะ พท.จับมือ ปชป. ดีกว่า พปชร. เตือนหากมีการยุบพรรรคจะสั่นคลอนปชต. 'เมธา' ยันรัฐบาลใหม่ต้องแก้ปัญหาการผูกขาดเศรษฐกิจของกลุ่มทุนและสร้างความยุติธรรม 'ประธานญาติวีรชนฯ" หวัง การเลือกตั้งสร้างอนาคตที่ดีในคนรุ่นใหม่
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 เวลา 11.00 -12.30 น. สภาที่ 3 ร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 จัดเวทีสภาที่ 3 Speak วาระประเทศไทย เรื่อง "อนาคตประเทศไทย หลังการเลือกตั้ง #66" ถ่ายทอดสดทาง Facebook Live "สภาที่สาม - The Third Council Speaks" ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ (รศ.) ดร. พิชาย รัตนดิลก ณภูเก็ต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 และ ดร.กุลชยา เต็มชวาลา จากกลุ่มแรงคิด
โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 กล่าวเปิดเวทีว่า แม้ประเทศจะมีนโยบายทางการเมืองที่ดี แต่หากคนในสังคมทะเลาะกันก็ไม่สามารถพัฒนาอะไรได้ ญาติวีรชนต่างหวังว่าบ้านเมืองควรสงบหลังญาติวีรชนอโหสิกรรมให้ผู้มีอำนาจหลังเหตุการณ์พฤษภา'35 แต่แม้ไม่มีรัฐประหารเกือบ 17 ปีแต่ก็มีรัฐประหารและปัญหาขัดแย้งทางการเมืองอีก จึงหวังว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงหลังประเทศไทยห่างจากการเลือกตั้งมา 9 ปี จะเป็นการเรียกร้องสังคมในอนาคตดีทีให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะดูแลบริหารประเทศต่อไป ซึ่งคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นตามวันเวลา และกาลเวลาจะเป็นผู้ชนะ ดังนั้นคนรุ่นใหม่จะชนะวันยันค่ำ เมื่อกาลเวลาชนะเเน่นอน คนรุ่นใหม่ย่อมบอกได้ว่าอยากเห็นอะไรในอนาคต
"บ้านเมืองจะเดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้ ถ้าไม่มีความสงบ จึงต้องสร้างหลักประกันไว้ให้คนรุ่นใหม่ให้มีความมั่นคงในชีวิตเพื่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งไม่ใช่แค่ความมั่นคงทางทหารที่ผู้มีอำนาจมักแอบอ้างและผูกขาดอย่างเข้าใจผิดมาตลอด"นายอดุลย์ กล่าว
รศ.ดร. พิชาย กล่าวถึงภาพรวมจากการสำรวจของนิด้าโพล พบว่าคน 70% ของประเทศต้องการเปลี่ยนแปลง ดูจากคะแนนนิยมของฝ่ายค้านและความต้องการเปลี่ยนรัฐบาลอย่างชัดเจน เริ่มเห็นทิศทางตั้งแต่ปี 2565 ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับความนิยมจากประชาชนเกิน 50% และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเกิน 70 % ซึ่งเป็นอารมณ์ของประชาชนที่ส่งผลต่อผลการเลือกตั้งได้ระดับหนึ่ง แม้ไม่ได้ชี้ขาด เพราะกติกาและระบบอุปถัมภ์ของไทยจึงอนุมานอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างเข้ามา คือ การเลือกตั้งระดับเขต ที่นอกจากความนิยมพรรคและนโยบายแล้ว ยังมีการใช้เงินทุน เครือข่ายและระบบหัวคะแนน จึงทำให้เจตจำนงของประชาชนที่สะท้อนอย่างอิสระในโพลล์เปลี่ยนแปลงได้บ้าง
"กระแสความต้องการอยากเปลี่ยนประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกระแสสูงขึ้นมากช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง จึงคิดว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบัน 5 พรรค อาจได้เสียง 300-320 ที่นั่ง เฉพาะพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล รวมกันอาจได้ถึง 300 ที่นั่ง ถ้ายึดตามเจตนารมณ์ของประชาชนและเดินตามครรลองประชาธิปไตย ก็จะเห็นรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ มีพักเก้าไกลและพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบันอื่นๆเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ซึ่งประเทศไทยเคยมีครรลองนี้มาระยะหนึ่งแต่ถูกทำลายไปแล้ว ในปัจจุบันจึงเกิดได้ยาก เพราะมีโครงสร้างอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำที่เขียนรัฐธรรมนูญให้มี ส.ว.แต่งตัั้งมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้น การเลือกนายกฯจึงอาจมีปัญหา เพราะต้องใช้ถึง 376 เสียงในรัฐสภา คือรวม ส.ว.ด้วย จึงทำให้แม้พรรคฝ่ายค้านปัจจุบันได้เสียงข้างมากเกิน 300 เสียง แต่ก็ไม่เพียงพอพี่จะจัดตั้งรัฐบาลได้"
รศ.ดร.พิชาย นำเสนอแนวโน้มที่จะเป็นทางออกจากปัญหาการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 3 แนวทางคือ สูตรที่ 1 พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและอาจต้องชวนพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยเพื่อร่วมโหวตเลือกนายกฯ แต่สูตรนี้ไม่ง่ายเพราะต้องมีการยื่นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล ขณะที่บางพรรคมีจุดยืนที่ไม่สามารถผลักดันนโยบายร่วมกันได้ ยางพรรคภูมิใจไทยต้องมีเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลคือให้สนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับกัญชา แต่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนนโยบายนี้ จึงเป็นไปได้ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบันจะชวนเพียงพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อรวมเสียงให้เกิน 376 เสียง ทำให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งจะเป็นตามวิถีทางประชาธิปไตยที่ให้ ส.ส.กำหนดผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีและปัจจุบันอาจมี ส.ว.บางส่วนสนับสนุนอยู่บ้างด้วย
สูตรแรกนี้จะทำให้ได้รัฐบาลเสียงข้างมากตามการรองประชาธิปไตย แต่ฝ่ายค้านอ่อนแอ ซึ่งจะมีเพียงพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเคยเป็นรัฐบาลไม่เคยทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนทิศทางการเมืองแบบ 360 องศา จากจารีตนิยมสุดขั้วเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยในเชิงสังคมมากขึ้น กลุ่มจารีตอาจคับข้องใจ อาจมีการชุมนุม แต่เชื่อว่าไม่สามารถสั่นคลอนรัฐบาลได้ ทั้งในกลุ่มอนุรักษ์นิยมจารีตก็ไม่มีความชอบธรรมในการดำเนินการ สำหรับการรัฐประหารนั้นจะเกิดขึ้นได้ยากในเงื่อนไขปัจจุบันและอนาคต อย่างไรก็ตามอยู่ที่รัฐบาลตามสูตรนี้ที่ต้องบริหารประเทศอย่างระมัดระวังไม่ให้มีข้อครหาหรือการทุจริตที่จะเกิดเป็นข้ออ้างในการรัฐประหาร
สูตรที่ 2 พรรคเพื่อไทยต้องประนีประนอมกับขั้วอำนาจเก่าคือจับมือกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจากการคาดการณ์ ถ้าเพื่อไทยได้ 240 เสียงพลังประชารัฐได้อีก 40 เสียง รวมเป็น 280 เสียง เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และยังบวกกับเสียงของ ส.ว. ในรัฐสภาที่จะมาสนับสนุนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคประชารัฐอีกประมาณ 100 รวมเป็น 380 เสียง เกินครึ่งรัฐสภา และเพื่อความปลอดภัยอาจดึงพรรคขนาดเล็ก ให้เฉพาะเสียง ส.ส. ได้ถึง 300 เสียง ก็เป็นจำนวนที่ทุกรัฐบาลต้องการ ถือเป็นการกันเหนียวทางการเมืองไว้อีกด้วย
ปมปัญหาของสูตรที่ 2 นั้น รศ.ดร.พิชาย ระบุว่า แนวโน้มสูตรที่ 2 นี้จะมีปมปัญหาคือ มวลชนจะไม่พอใจพรรคเพื่อไทย ที่ผิดสัจจะวาจาที่ไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ , ปมปัญหาที่ 2 ในสูตรนี้คือใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี หากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเยอะก็ไม่สามารถยกตำแหน่งนายกฯให้พรรคการเมืองอื่นได้ ขณะที่พลเอกประวิตร ก็ใช้ฐานของ ส.ว.มาต่อรอง อย่างไรก็ตามมองว่า พลังของพรรคพลังประชารัฐและคะแนนเสียงจะน้อยกว่าพรรคเพื่อไทยและหาก พปชร.อยากร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอาจโยนเงื่อนไขให้พลเอกประวิตร ต้องไม่รับตำแหน่งใดๆทางการเมือง เพื่อตัดความเกี่ยวโยงกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารตามที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้
"สูตรที่ 2 นี้ จะรับมือฝ่ายค้านที่ทรงพลัง คือ พรรคก้าวไกล และยังมีพรรคประชาธิปัตย์ด้วย สูตรนี่จึงมีอีกแนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยจะดึงพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลด้วย แต่สำหรับก้าวไกลจะไม่ร่วมรัฐบาลแน่นอน และหากเป็นไปตามสูตรนี้การบริหารประเทศที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ จะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องหรือดีขึ้นบ้าง แต่ในด้านอื่นๆจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง บ้างแต่ด้านอื่นไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารหรือนิรโทษกรรมทางการเมือง ที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุนอาจจะไม่ได้ดำเนินการ เพราะเหลือเพียงพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายและผลักดัน แต่ก็อยู่ในสถานะฝ่ายค้าน"
สูตรที่ 3 รศ.ดร.พิชาย เปิดประเด็นว่า มีแนวโน้มที่จะเกิดอันตรายต่อสังคมไทยหากดำเนินการตามสูตรนี้แต่มีข่าวการเตรียมการโดยที่ปรึกษาของ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ที่ดึงดันจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยให้ได้ โดยการรวม 4 พรรครัฐบาลในปัจจุบันจะได้ประมาณ 100 กว่าเสียง แล้วจะให้ ส.ว.สนับสนุนเสียงในรัฐสภา แต่สูตรนี้รัฐบาลจะไร้เสถียรภาพและจะสร้างปัญหาให้ประเทศอย่างมหาศาล จะมีการชุมนุม รัฐบาลจะบริหารประเทศไม่ได้และต่างชาติจะบอยคอร์ด ดังนั้น ถ้าสว. บางส่วนและพลเอกประยุทธ์ยังมีสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศก็คงไม่ดึงดันจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ดร.พิชาย เห็นว่า จะดูเบากลุ่มชนชั้นนำไม่ได้เช่นกัน
"สูตรของรัฐบาลใหม่ที่มีโอกาสเป็นไปได้และให้การบริหารเป็นไปได้ดี คือ "สูตรที่ 1" โดยพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง และดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งจะเป็นตามครรลองประชาธิปไตย รัฐบาลมีเสถียรภาพ แต่ได้ฝ่ายค้านที่อ่อนแอ อีกทั้งชนชั้นนำจารีนิยมจะไม่พอใจแต่ก็ไม่สามารถสั่นคลอนรัฐบาลได้" รศ.ดร.พิชาย กล่าวสรุป
ในช่วงท้าย รศ.ดร.พิชาย ระบุถึงสิ่งที่ไม่อยากเห็นหลังการเลือกตั้งคือผู้มีอำนาจหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เคารพกติกาและครรลองประชาธิปไตย ไม่อยากเห็นการยุบพรรคการเมือง ซึ่งมองว่าจะมี 2 ระยะที่ทำได้คือ ระยะแรกภายใน 60 วันก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) จะรับรองผลเลือกตั้ง ถ้ายุบพรรคช่วงนี้จะเกิดปัญหาสั่นคลอนประชาธิปไตยแน่นอน เพราะประชาชนไม่พอใจ เนื่องจากผู้ที่เลือกมาทั้งหมดไม่ได้เป็น ส.ส. เนื่องจากพรรคการเมืองโดนยุบไปแล้ว / ระยะ 2 คือ ยุบพรรคหลัง กกต.รับรองผลและสถานภาพการเป็น ส.ส เพื่อดูด ส.ส.ที่พรรคโดนยุบไปแล้ว ซึ่งต่างจะเกิดผลเลวร้ายเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ อยากเห็น ส.ว. เคารพประชาชน ,คนที่แพ้การเลือกตั้งเคารพกติกาและอยากเห็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
ด้านนายเมธา มาสขาว กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกนายกฯในที่ประชุมรัฐสภาก่อนตัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะมีการล็อบบี้ โดยเฉพาะการใช้ ส.ว.แต่งตั้งในการต่อรอง แต่มองว่าจะเกิดการพลิกขั้วคือฝ่ายค้าในปัจจุบันจะเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยต้องรวมเสียงให้มากที่สุดเพื่อให้ได้รัฐบาลเสียงข้างมาก แต่จากนั้นจะมีปัญหาใหญ่ ถ้าไม่แก้ปัญหาเรื้อรังเชิงโครงสร้าง ทั้งทางเศรษฐกิจที่มีผูกขาดโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร , พลังงานรวมถึงโทรคมนาคม ที่ล้วนเห็นความเกี่ยวข้องของกลุ่มทุนกับฝ่ายการเมือง รวมทั้งปัญหาการเมืองอำนาจนิยมและรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตลอดจนการปฏิรูปกองทัพ ที่รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการแก้ไข
นายเมธา ระบุว่า ประเทศไทยต้องการกลุ่มผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่หรือนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จึงจะนำพาประเทศไปได้โดยช่วง 100 วันแรกความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นจากอำนาจรัฐผ่าน IO (ไอโอ) เพื่อแบ่งแยกและปกครองประชาชน ขณะที่ยังมีนักโทษการเมืองจำนวนมาก รถรัฐบาลใหม่จึงต้องมีกรรมาธิการพิเศษที่พิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรม ถือเป็นความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่ประชาชนเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2553 จึงไม่ได้หวังว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลเพียงเท่านั้น เพราะหากได้เป็นรัฐบาลแล้วไม่แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างก็ไม่มีประโยชน์
"ไม่อยากเห็นการเลือกตั้งมีปัญหาหรือไม่บริสุทธ์ยุติธรรมและการประกาศผลการเลือกตั้งที่ล่าช้า เพราะเป็นช่องว่างให้กลุ่มอำนาจนิยมใช้ต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาล และไม่ต้องการให้ใช้อำนา ส.ว.มาเป็นฐานอำนาจต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาบเสียงข้างน้อย ที่สำคัญไม่ควรมีการยุบพรรคการเมืองใดๆ เพราะเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน" นายเมธา กล่าว
ด้าน ดร.กุลชยา กล่าวถึงการมองอนาคตที่จะส่งต่อไปถึงคนรุ่นลูกในฐานะมนุษย์แม่ แต่เบื้องต้นในระยะใกล้เห็นด้วยที่การจัดตั้งรัฐบาลควรเป็นไปตามสูตร 1 ที่ ดร.พิชาย นำเสนอ คือ รัฐบาลเสียงข้างมาก แต่เห็นว่าควรตระหนักถึงการมองในอนาคตระยะไกลว่าเราจะอยู่อย่างไรในประเทศนี้และเป้าหมายอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศที่ลูกหลานของเราที่จะต้องเติบโตต่อไป ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลไหนตระหนัก
ดร.กุลชยา ระบุว่า คนยุคปัจจุบันผ่านการต่อสู้บนท้องถนน ผ่านการเสียเลือดเสียเนื้อและเห็นผ่านความขัดแย้ง และการรัฐประหารมานับไม่ถ้วน จึงควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุขกับสิ่งที่ทำและมีความถนัดหรือศักภาพที่จะทำได้ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ไทยหรือการกลับคืนสู่รากเหง้าซึ่งต้องพิจารณาเรื่องที่จะต้องปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่ ท่ามกลางโซเชียลมีเดียอย่าง tiktok ซึ่งอาจดึงไปสู่สิ่งที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งไม่เดินตามวัฒนธรรมตะวันตก โดยต้องพัฒนาคนรุ่นต่อไปให้รักชาติ เข้าถึงศาสนาในลักษณะที่ให้เป็นคนดีในแบบที่เขาเลือก ไม่ใช่เฮโลหรือเลือกเชื่อและทำตามเพื่อน เเม้ไม่ใช่ความผิดที่เด็กจะเลือกเชื่อตามเพื่อนเพราะสภาพแวดล้อมทางสังคม แต่ต้องให้เด็กหัดคิดถึงความรับผิดชอบ ที่สำคัญคนในยุคปัจจุบันที่จะวางอนาคตไว้ให้กับคนรุ่นหลังต้องเข้าใจพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วด้วย
"ส่วนสิ่งที่ไม่อยากเห็น คือ "การดีแต่พูด" หาเสียงเเล้วไม่ทำตาม ไม่อยากเห็นการไม่เคารพอัตลักษณ์ของผู้อื่น , ไม่อยากเห็นการมองแบบเเยกส่วนคือ อยากให้มององค์รวมหรือความเชื่อมโยงของสถานการณ์ โดยเอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง เพื่อหาว่าต้องทำอย่างไรเพื่อบรรลุเป้า แม้อาจขัดใจหรือความรู้สึกที่ต้องดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของคนรุ่นหลังในอนาคต หวังให้ทุกคนมองผลประฉยชน์ของชาติเป็นเป้าหมายร่วมกัน และไม่อยากเห็นคนความไม่สมดุลของสังคมไทย (unbalance)" ดร.กุลชยา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิด 5 ปัจจัย ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ 5 ปัจจัย ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม มีเนื้อหาดังนี้
'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' เย้ย ไส้เดือนถูกขี้เถ้า จะยกเลิกม.112 พอถูกหาเป็นพวก BRN จะฟ้องร้อง
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีพรรคประชาชน(ปขน.) จะดำเนินคดีกับผู้ที่กล่าวหาว่าปชน.เกี่ยวข้องกับขบวนการบีอาร์เอ็น ว่า
MCOT รุกหนักทำคอนเทนต์ครองใจคนรุ่นใหม่
บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าว “MCOT New Journey” ปั้น 2 รางวัลใหญ่แห่งปี ปลุกตลาดบันเทิง Y ครองใจคนรุ่นใหม่ โดยนายผาติยุทธ ใจสว่าง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท เผยทิศทางการสร้างคอมมูนิตี้ที่หลากหลาย ต่อยอดทุกคอนเทนต์ โดยมี นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมสนับสนุนผลักดัน ในรูปแบบ “Thailand Soft Power : เชื่อมไทยสู่โลก" ที่ Phenix Pratunam Bangkok
วิพากษ์นโยบายรัฐบาลขาดการนิรโทษกรรมสมานฉันท์ปชช. หากรบ.ฉ้อฉลจะไม่มีใครออกมาต่อสู้อีก
ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สภาที่ 3 และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 จัดเสวนาวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบนโยบายรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร โดยมี นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวเปิดงาน