กสม.เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายยาเสพติด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ยกเลิกอำนาจควบคุมตัว 3 วันพร้อมให้ผู้ต้องหาต้องมีสิทธิพบศาลโดยพลัน
20 เม.ย.2566 – น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตามที่ กสม.ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 (ผู้ถูกร้อง) ทำร้ายร่างกายผู้ร้องขณะจับกุมในคดียาเสพติด และใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ควบคุมตัวผู้ร้องไว้เพื่อสืบสวนสอบสวนขยายผลเป็นเวลาไม่เกินสามวัน แล้วจึงส่งให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดำเนินการต่อไป ซึ่ง กสม. เห็นว่าแม้ในการตรวจสอบจะไม่ปรากฏพยานหรือหลักฐานที่ชี้ว่าผู้ถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ร้อง แต่เมื่ออาการบาดเจ็บเกิดขึ้นก่อนถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ประกอบกับจากการชี้แจงไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องมีพฤติการณ์ขัดขืนหรือหลบหนีการจับกุม จึงน่าเชื่อว่าผู้ร้องได้รับบาดเจ็บจากการควบคุมตัวของผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเกินสมควรแก่กรณี อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จึงมีมติให้จัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกรณีการควบคุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
กสม.โดยสำนักกฎหมาย ได้ศึกษาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน งานวิจัย ตลอดจนความเห็นของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการแล้ว เห็นว่า สิทธิที่ผู้ต้องหาในคดีอาญาจะต้องได้พบศาลโดยพลันเป็นสิทธิมนุษยชนสำคัญที่ถูกกำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 วรรคสาม ซึ่งกำหนดให้บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา ต้องถูกนำตัวไปพบศาลโดยพลัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่มิชอบต่อผู้ถูกจับกุม และให้ศาลสามารถตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในระหว่างการควบคุมตัวผู้ต้องหา อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจจับกุมอาจมีข้อสงสัยหรือปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ในประเด็นที่ว่าโดยพลัน ว่าหมายถึงระยะเวลาใด เนื่องจากอาจมีขั้นตอนในการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเพื่อเดินทางไปศาล ดังนั้น คณะกรรมการประจำกติกา ICCPR จึงตีความคำว่าโดยพลันอย่างประนีประนอมว่าหมายถึง ต้องนำตัวผู้ถูกจับไปพบศาลภายใน 48 ชั่วโมงนับจากเวลาที่ถูกจับกุม และหากเป็นกรณีที่ผู้ถูกจับเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี คณะกรรมการสิทธิเด็ก (Committee on the Rights of the Child) ได้ให้ความเห็นว่า ต้องนำตัวเด็กไปพบศาลภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงนับแต่จับกุมเช่นเดียวกัน
ดังนั้นในกฎหมายอาญาบางประเทศจึงกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับแต่มีการจับกุม จากนั้นต้องนำตัวผู้ต้องหาไปพบศาล ในขณะที่มีกฎหมายอีกหลายประเทศกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่มีการจับกุม จากนั้นต้องนำตัวผู้ต้องหาไปพบศาล ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายของประเทศไทยให้อำนาจพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน จากนั้นต้องนำผู้ต้องหาไปพบศาล หากผู้ถูกจับกุมเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ให้อำนาจพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับแต่ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน จากนั้นต้องนำผู้ต้องหาไปพบศาล จะเห็นได้ว่ากฎหมายไทยกำหนดให้การนำตัวผู้ถูกจับกุมไปพบศาลนับระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน (สถานีตำรวจ) โดยไม่ได้เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ถูกจับกุมตามหลักสากล
สำหรับกรณีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ที่ให้อำนาจกรรมการ เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับการแต่งตั้ง มีอำนาจควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมที่กระทำความผิดคดียาเสพติดที่มีความร้ายแรงแห่งคดี ได้แก่ ผลิต ครอบครอง และจำหน่าย เป็นต้น ไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลได้เป็นเวลาไม่เกิน 3 วัน ก่อนส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนต่อได้อีก 48 ชั่วโมง ทำให้การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติดดังกล่าวสามารถควบคุมตัวได้สูงสุดถึง 5 วัน โดยผู้ต้องหาไม่ได้พบศาล ไม่มีการตรวจสอบโดยองค์กรอื่นหรือศาล ซึ่งขัดกับกติกา ICCPR อย่างชัดเจน จึงกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาอันอาจเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่ามีกฎหมายในหลายประเทศที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติดร้ายแรงไว้เพื่อการสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมได้หากมีเหตุจำเป็น โดยกฎหมายของประเทศเหล่านั้นบัญญัติให้ต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกอื่นเสียก่อน เช่น องค์กรอัยการ หรือศาล
ดังนั้น การที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ให้อำนาจกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ส. ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมที่กระทำความผิดคดียาเสพติดที่มีความร้ายแรงแห่งคดี ได้แก่ ผลิต ครอบครอง และจำหน่าย เป็นต้น ไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลได้เป็นเวลาไม่เกิน 3 วัน ก่อนส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนต่อได้อีก 48 ชั่วโมง ทำให้การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติดสามารถควบคุมตัวได้สูงสุดถึง 5 วัน โดยผู้ต้องหานั้นไม่ได้รับสิทธิที่จะได้พบศาลโดยพลัน เห็นว่า อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน ใช้ในกรณีเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนเป็นสำคัญ ซึ่งการให้อำนาจดังกล่าวไม่ควรทำลายสิทธิของผู้ต้องหาที่จะต้องได้พบศาลโดยพลันภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง ดังนั้น จึงต้องแยกความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติด และสิทธิของผู้ต้องหาที่จะต้องได้พบศาลภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงออกจากกัน โดยต้องเน้นให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิที่จะพบศาลโดยพลันภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงก่อนเป็นลำดับแรก ดังนั้น กสม. จึงเห็นควรให้ยกเลิกอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง และให้ไปใช้วิธีการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นหลักเช่นเดียวกับคดีอาญาอื่น ซึ่งหากมีความจำเป็นที่จะต้องสอบสวนขยายผลในคดียาเสพติดหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ต้องขยายระยะเวลาการควบคุมตัว ให้ผู้จับกุมร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งว่ามีความจำเป็นเพียงใด
ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายกระทรวงยุติธรรม โดยคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ดำเนินการ สรุปได้ ดังนี้
1.ยกเลิกอำนาจการควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 3 วัน ในคดียาเสพติดเพื่อสอบสวนตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยให้ กพยช. กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 ยกเลิกพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยให้ใช้วิธีสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องสอบสวนขยายผลในคดียาเสพติดที่มีความร้ายแรงแห่งคดีหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ต้องขยายระยะเวลาการควบคุมตัว ให้ผู้จับกุมหรือควบคุมตัวร้องขอต่อศาลเพื่อพิจารณาเหตุผลและความจำเป็น
2.แก้ไขการเริ่มนับระยะเวลาการนำตัวผู้ถูกจับกุมในคดีอาญาไปพบศาลโดยพลัน เพื่อคุ้มครองสิทธิที่ผู้ถูกจับกุมจะได้พบศาลโดยพลัน โดยดำเนินการดังนี้ ประการแรกให้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสาม โดย กพยช. กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสาม เป็นในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนหรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้นั้นถูกจับ ... และประการที่สอง ให้แก้ไขพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง โดย กพยช. กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอัยการสูงสุด ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 แก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวในมาตรา 72 วรรคหนึ่ง เป็นในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ ให้พนักงานสอบสวนนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันทีภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนถูกจับ และให้ตัดข้อยกเว้นเรื่องการไม่นับระยะเวลาเดินทางในการนำตัวเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับมาศาลรวมในกำหนดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงออกไปด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘สส.ชวาล’ ลั่นยินดีพิสูจน์ตัวเอง หลัง กกต.สั่งฟันคดีอาญา ยื่นบัญชีเลือกตั้งไม่ตรงความจริง
ผมยินดีพิสูจน์ต่อไปตามกระบวนการของศาล และจะยังคงทำหน้าที่ต่อไปในฐานะผู้แทนราษฎรเพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวชลบุรี
'นิพิฏฐ์' โชว์ประสบการณ์ทนาย ศาลยกฟ้อง เหตุไม่มีอำนาจพิจารณา
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง และทนายความ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เขตอำนาจศาลในคดีอาญา
'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ
ดร.ณัฏฐ์ เตือนออกพรก.ขยายอายุความคดีตากใบ จะกระทบความเชื่อมั่นในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา
สืบเนื่องจากคดีตากใบ ผู้เสียหายยื่นฟ้องจำเลยด้วยตนเอง เมื่อศาลไต่สวนมูลฟ้องและคำสั่งมีมูล ต่อมาเมื่อถึงวันนัดสอบคำให้การ จำเลย
เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2