กสม.เสนอรัฐแก้กฎหมายแต่งงานขั้นต่ำต้องอายุ 18 ปี!

กสม.ชงแก้กฎหมายปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี ป้องกันการแสวงหาประโยชน์และคุ้มครองสิทธิเด็กจากการถูกบังคับแต่งงานก่อนวัยอันควร

20 เม.ย.2566 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตามที่ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีการจัดให้มีการแต่งงานของผู้ใหญ่กับเด็กหญิงชาวมุสลิมอายุต่ำกว่า 15 ปี ในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ นั้น กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2566 ได้พิจารณาคำร้องความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ได้รับรองสิทธิเด็กไว้ โดยมีหลักการพื้นฐานว่าการกระทำหรือการดำเนินการทั้งหลายต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก เด็กมีสิทธิในการมีชีวิต การอยู่รอด และการพัฒนาทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม รวมถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการให้ความสำคัญกับความคิดเหล่านั้น อันสอดคล้องตามหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ว่าเด็กทุกคนย่อมได้รับการคุ้มครองโดยมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นจากครอบครัว สังคมและรัฐ เช่นเดียวกับที่ได้รับรองไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

นายวสันต์กล่าวต่อว่า แม้รัฐจะให้เสรีภาพแก่บุคคลในการนับถือศาสนาและการจัดตั้งครอบครัว ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 31 และมาตรา 32 และกติกา ICCPR ซึ่งรวมไปถึงการให้การศึกษาทางศาสนาและศีลธรรมตามหลักศาสนาแก่บุตรตามความเชื่อของตน แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดที่บัญญัติโดยกฎหมาย และตามความจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย สุขอนามัย หรือศีลธรรมของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของบุคคลอื่นเท่านั้น ทั้งนี้ การให้การอบรมเลี้ยงดูเด็กที่อยู่ในความปกครอง แม้จะสามารถอยู่บนพื้นฐานตามธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น แต่ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎหมาย และต้องคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กไม่ให้อยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ

“กสม. เห็นว่า การจัดให้มีการแต่งงานในวัยเด็กเป็นหนึ่งในปัญหาที่สหประชาชาติ คณะกรรมการประจำอนุสัญญา CRC และคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบให้ความห่วงใย เพราะถือเป็นความรุนแรงต่อเด็กอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็กในหลายมิติ เช่น ความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับ ผลเสียต่อสุขภาพและการอนามัยเจริญพันธุ์จากการที่มีเพศสัมพันธ์ในขณะที่ร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และอาจส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตของเด็กเมื่อคลอดบุตร รวมถึงบุตรที่เกิดมามีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ อีกทั้งยังอาจมีมิติซ้อนทับกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศหรือทางเศรษฐกิจต่อเด็กได้เช่นกัน”

นายวสันต์กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาประกอบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 5.3 ได้แก่การขจัดแนวปฏิบัติที่เป็นภัยทุกรูปแบบ อาทิ การแต่งงานในเด็กก่อนวัยอันควรและโดยการบังคับที่ประเทศไทยร่วมลงนามดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าว ตลอดจนข้อสังเกตเชิงสรุปของคณะกรรมการประจำอนุสัญญา CRC และคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการแต่งงานในวัยเด็กเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทั่วโลกต้องเร่งรัดการดำเนินการเพื่อยุติการปฏิบัติที่ถือเป็นความรุนแรงต่อเด็ก ทั้งมาตรการด้านการบริหารและมาตรการด้านนิติบัญญัติ เพื่อคุ้มครองไม่ให้เกิดการแต่งงานในวัยเด็กหรือการบังคับแต่งงานทุกกรณี โดยประเทศไทยได้ให้คำรับรองต่อคณะกรรมการ Universal Periodic Review (UPR) ในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2559 ว่าประเทศไทยจะดำเนินการปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล แต่พบว่าจนถึงปัจจุบัน กระบวนการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์อายุขั้นต่ำยังไม่ลุล่วงบริบูรณ์ ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ประเทศไทยบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กำหนดอายุขั้นต่ำในการสมรสไว้ที่ 17 ปีบริบูรณ์ ขณะเดียวกัน แนวทางตามประกาศของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงอายุขั้นต่ำในการสมรสให้เป็น 17 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ก็ยังเป็นอายุที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญา CRC และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลที่ไทยเป็นภาคี รวมถึงยังมีช่องทางที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติทำการสมรสได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. จึงเห็นว่า การที่ประเทศไทยไม่ดำเนินการปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสตามข้อท้วงติงในรายงาน UPR หรือข้อสังเกตเชิงสรุปของคณะกรรมการประจำอนุสัญญา CRC และคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันหรือแก้ไข ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กในประเด็นการแต่งงานในวัยเด็ก จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

1.ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในระยะเบื้องต้นก่อนการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ดาโต๊ะยุติธรรม โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด ดำเนินการอนุญาตสมรสตามกระบวนการที่บัญญัติในระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561 โดยยึดหลักการคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง และป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ต่อเด็กทั้งในด้านเศรษฐกิจหรือทางเพศ โดยเมื่อมีการสมรสเกิดขึ้น ขอให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดรวบรวมสถิติให้แก่กระทรวงมหาดไทยเพื่อเป็นเจ้าภาพดำเนินการเก็บสถิติการแต่งงานในวัยเด็ก โดยประสานงานส่งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อใช้ประเมินสถานการณ์และประสานการคุ้มครองกรณีพบการแต่งงานในวัยเด็กหรือการบังคับแต่งงานในวัยเด็ก

นอกจากนี้ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมาตรการดำเนินการตรวจสอบกรณีพบเห็นหรือได้รับการประสานเกี่ยวกับการแต่งงานในวัยเด็กที่อาจเข้าข่ายกรณีความรุนแรงต่อเด็ก เข้าข่ายการแสวงหาประโยชน์ทางเพศหรือทางเศรษฐกิจจากเด็ก และดำเนินการช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ในบทบัญญัติพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

2.ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ พม.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขประชาสัมพันธ์ให้เห็นความสำคัญของการยุติปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก หรือการบังคับแต่งงาน และนำเสนอผลกระทบทางด้านสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนในระดับท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจความสำคัญในปัญหาดังกล่าว ตลอดจนประชาสัมพันธ์ช่องทางการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนด้วย นอกจากนี้ ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์ตามบัญญัติอิสลาม ตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561 ขอให้พิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชนเข้าไปในคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยพิจารณาสัดส่วนผลประโยชน์สูงสุดของเด็กและคำขอสมรสในเด็กที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ด้วย

3.ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม พม.และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อปรับแก้เกณฑ์อายุขั้นต่ำในการแต่งงานให้เป็น 18 ปี และดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติตามหลักการศาสนาอิสลามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการบังคับแต่งงานในวัยเด็กทุกกรณี อาทิ กรณีที่เกิดขึ้นจากความยินยอมโดยสมัครใจของเด็ก กรณีที่เกิดโดยการบังคับด้วยเหตุแห่งเศรษฐกิจ กรณีการบังคับแต่งงานเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กสมัครใจล่วงประเวณี หรือกรณีการบังคับแต่งงานอันเป็นผลมาจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ อันถือเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ

ทั้งนี้ เมื่อมีการดำเนินการปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ขอให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยพิจารณาปรับแก้อายุขั้นต่ำในการสมรสตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561 ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กสม.' ชี้ ก่อสร้างโรงแรมใน ภูเก็ต ขาดการมีส่วนร่วมปชช. จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

'กสม.' ชี้ โครงการก่อสร้างโรงแรมของบริษัทเอกชนใน จ.ภูเก็ต ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทบสิทธิและวิถีชีวิตของชาวเลราไวย์ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

นิพิฏฐ์ ให้ความรู้ ม.112 ย้ำชัดกฎหมายแก้ไขได้

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ทนายความ และอดีต ส.ส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า มาตรา 112 กับระบบปกครอง และ สถาบันพระมหากษัตริย์ (ตอนที่ 1)

'ทวี' ขึงขัง! สั่ง 'กรมคุก' ตามดู 'นช.ทักษิณ​' รักษาตัวชั้น​ 14 ละเมิดสิทธิผู้ต้องขังภาพรวมหรือไม่​

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี​ สอดส่อง​ รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ​ (กสม.​) ส่งเรื่องให้

เอาแล้ว! ป.ป.ช.รับข้อมูล กสม. พิจารณา ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ รักษาตัวชั้น 14 

เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานของคณะทำงานไต่สวนที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนพยานหลักฐาน ซึ่งสุดตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ส่งรายงานการพิจารณาของกสม.มาให้ป.ป.ช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

กสม. ชงแก้กม. ให้ผู้ติดยาเสพติดได้บำบัดรักษา โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิ

'กสม.' ชงแก้ไข กม. ให้ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ โดยไม่จำกัดสิทธิว่าเป็นผู้กระทำผิด ตามหลักสากล 'ผู้เสพคือผู้ป่วย'

เปิดผลสอบ 'กสม.' ชี้ชัด 'ทักษิณ' อภิสิทธิ์ชน ยื่น ป.ป.ช. ฟัน 'เรือนจำ-รพ.ตำรวจ'

กสม. สอบร้องเรียนปม 'ทักษิณ' ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ชี้ชัด 'เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ-รพ.ตำรวจ' เลือกปฏิบัติละเมิดสิทธิ ยื่น ป.ป.ช.ฟัน