องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รวบรวมข้อมูลคดีคอร์รัปชันของนักการเมืองในรอบ 10 ปี พบ 61 คดี และมีนักการเมืองกระทำผิด 68 คนซึ่งมีลักษณะการกระทำความผิด 10 แบบทั้งจากพรรคใหญ่และเล็กทำกันเป็นเครือข่ายร่วมกับข้าราชการประจำแต่น้อยมากที่นักการเมืองจะถูกดำเนินคดี หวังสร้างการตระหนักรู้ให้ประชาชนเจ็บแล้วต้องจำไม่เลือกคนโกงเข้ามาบริหารบ้านเมือง
17 เม.ย.2566 - องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เผยแพร่ “รายงาน 10 ปีคดีโกงของนักการเมืองไทย” ผ่านเวบไซต์และเฟซบุ๊คองค์กร ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการนำเสนอข่าวโดยสื่อมวลชน เฉพาะคดีที่มีการชี้มูลความผิดโดย ป.ป.ช. การตัดสินคดีโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ระหว่างปี พ.ศ. 2555 ถึงปัจจุบัน พบว่า มี 61 คดี และมีนักการเมืองกระทำผิด 68 คน
นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงจำนวน 61 คดีว่า สามารถจำแนกตามลักษณะความผิด ดังนี้ (1) โกงเลือกตั้ง 25 คดี (2) ยื่นบัญชีทรัพย์ สินเท็จ 9 คดี (3) โกงจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูล 8 คดี (4) เอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง 8 คดี (5) ประพฤติมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 3 คดี (6) แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ 2 คดี (7) ร่ำรวยผิดปกติ 2 คดี (8) บุกรุกที่ดินหลวง 2 คดี (9) เรียกรับสินบน 1 คดี (10) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 1 คดี และสำหรับนักการเมือง 68 คนในที่นี้หมายถึง ส.ส. ส.ว. สนช. รัฐมนตรี ทั้งจากพรรคเล็ก พรรคใหญ่ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
“ข้อมูลนี้คือบทเรียนความเสียหายของแผ่นดินที่เกิดจากคอร์รัปชันโดยนักการเมือง องค์กรฯจัดทำขึ้นด้วยเจตนาสุจริต ไม่ได้ต้องการจงใจใส่ร้ายผู้ใด แต่ต้องการให้ประชาชนตื่นตระหนักว่า อย่าลืมความเสียหาย อย่ายอมรับความหายนะอีกต่อไป การโกงซับ โกงซ้อน โกงซ่อนเงื่อน การพลิกแพลงกฎหมายและใช้โวหารจอมปลอมของนักการเมืองทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนที่จะรู้เท่าทัน ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องต้องเรียนรู้ร่วมกันเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวและว่า
โดยทั่วไปคดีคอร์รัปชันโครงการขนาดใหญ่มักมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง ทำกันเป็นเครือข่ายและมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย อย่างไรก็ตามกลับพบว่าส่วนใหญ่มีแต่ข้าราชการที่ถูกดำเนินคดี เช่น คดีถุงมือยาง (ความเสียหาย 2,000 ล้านบาท) คดีสร้างโรงพัก (มูลค่า 5,848 ล้านบาท) และแฟลตตำรวจทั่วประเทศ (มูลค่า 3,700 ล้านบาท) เว้นแต่คดีนั้นมีหลักฐานแน่นหนาว่าโดยนักการเมือง เช่น คดีสนามฟุตซอล (มูลค่า 4,450 ล้านบาท) และคดีรุกป่า
ทั้งนี้ คดีที่ระบุได้ว่าสร้างความเสียหายให้ประเทศมูลค่าสุงสุดในรอบสิบปี ได้แก่ คดีโครงการจำนำข้าว (มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท) ตามด้วยคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน (มูลค่า 2.49 หมื่นล้านบาท) ไม่เพียงเท่านั้น เฉพาะ 8 คดีที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูลมีมูลค่าความเสียหายรวมกัน ราว 5.2 หมื่นล้านบาท
“ในแต่ละปีเกิดเรื่องอื้อฉาวและเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และยื่นฟ้องต่อศาลจำนวนมาก แต่มีเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้นที่ถูกชี้มูลและศาลตัดสินว่าผิดจริง คดีอื้อฉาวจำนวนมากใช้เวลาดำเนินคดีมากกว่า 10 ปีถึง 30 ปีก็มี บางคดีผ่านไป 20 ปีเพิ่งแจ้งข้อกล่าวหา บางคดีเอาผิดใครไม่ได้เพราะหมดอายุความ และความผิดมีโอกาสเกิดขึ้นในทุกกระทรวงและหน่วยงานรัฐพอๆ กัน โดยไม่จำกัดว่าคนผิดต้องเป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจบริหารเท่านั้น แต่ ส.ส. กรรมาธิการ และเครือข่าย ก็สามารถเชื่อมโยงกันทำร้ายบ้านเมืองได้ และนักการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ก็มีโอกาสคอร์รัปชันได้พอกัน” นายมานะกล่าว
รายงานนี้ยังระบุข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า ในปี 2564 ไม่ปรากฏว่ามีคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนักการเมืองเลย และในการเลือกตั้งครั้ง 2566 นี้ มีนักการเมืองหลายคนที่ถูกดำเนินคดีคอร์รัปชันกลับลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งที่รู้กันดีว่า ผู้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีคอร์รัปชันจะหมดสิทธิ์การเป็น ส.ส. แล้วเลือกตั้งใหม่ทันที
นอกจากนั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการดำเนินคดีนักการเมืองข้อหาร่ำรวยผิดปรกติน้อยมาก ทั้งที่พบว่า นักการเมืองแจ้งบัญชีทรัพย์สินให้ร่ำรวยมากขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปรกติจำนวนมาก ขณะเดียวกัน พฤติกรรมประหลาดของนักการเมืองเมื่อเกิดคดีความ หรือส่อว่าจะมีคดี เช่น จดทะเบียนหย่าจากคู่สมรส, เปลี่ยนชื่อ – นามสกุล เป็นต้น และมีคดีของอดีตนายกรัฐมนตรี แม้เสียชีวิตไปแล้ว ทายาทยังต้องชดค่าเสียหายให้แก่รัฐ
สำหรับการประเมินมูลค่าความเสียหายจากคอร์รัปชันนั้น เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันกล่าวว่า ยากที่จะประเมินเพราะไม่สามารถคำนวณความเสียหายต่อเนื่องที่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานและประชาชนได้ ทั้งปัญหาคุณภาพชีวิตและปัญหาปากท้อง ชัดเจนอย่างที่สุดว่า คอร์รัปชันเป็นตัวการตอกย้ำซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น การที่รัฐซื้อของแพงได้ของไม่ดีหรือล่าช้า ย่อมส่งผลให้เกิดอุปสรรคหรือด้อยคุณภาพในการให้บริการประชาชนด้วยเช่นกัน รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจ เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้า หรือความขัดแย้งในสังคมตามมา
“จากรายงานฯนี้ยิ่งเห็นชัดว่าหากเราเลือกนักการเมืองโกงเข้ามา ประเทศอาจล่มจมได้และนี่คือบทเรียน” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ย้อนตำนานจำนำข้าว 'ณัฐวุฒิ' ใช้โวหารตอบโต้ เป็นอุทาหรณ์ให้ 'อุ๊งอิ๊ง' จะจบแบบ 'ยิ่งลักษณ์'
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กกรณี น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผอ.ครอบครัวเพื่อไทย และอดีตแกนนำคนเสื้อแดง เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ว่า
ไปไกล! ทวียกเด็กเคยทำผิดยังเป็นผู้พิพากษาได้ปมแก้ไขมาตรฐานจริยธรรม
'ทวี' เห็นด้วยวางกรอบจริยธรรมให้ชัดเจน ขณะที่อำนาจองค์กรอิสระควรอยู่ในจุดสมดุล ยกเด็กเคยทำผิดโตมายังเป็นผู้พิพากษาได้
เปิดขบวนการ โกงข้ามชาติ ผู้กระทำผิดเป็นเอกชน 13 ราย หน่วยงานรัฐไทย 18 หน่วย
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ โกงข้ามชาติ : ปัญหา ผลกระทบ และทางออก มีเนื้อหาดังนี้
องค์กรต้านโกง แนะรัฐบาลแก้ไข 6 ข้อคอร์รัปชันที่นานาชาติมองไทย เพื่อเรียกความเชื่อมั่น
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ รัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันจริงหรือ? มีเนื้อหาดังนี้ .
ป.ป.ช. ฟัน อดีตนายกอบต.โพธิ์ศรีสว่าง เรียกรับเงิน 1.9 แสนบาท แลกเข้าทำงานมิชอบ
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดกรณีกล่าวหานายรังสรรค์ บุญมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่าง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ติดต่อเรียกรับเงินจากบุคคลที่ประสงค์จะเข้าทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่างโดยมิชอบ