เข้มข้น! นิสิตเก่าจุฬาฯ เสวนา 'ลุ่มลึกในรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต'

 

29 พ.ย. 2564 - กลุ่มนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “CU Wisdom เพาะต้นกล้า” จัดการอภิปราย และเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “จุฬาฯ รวมใจ : ลุ่มลึกในรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต” โดยมี รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ อดีตรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาฯ ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ ศ.พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ดร. เวทิน​ ชาติกุล ผอ.สถาบันทิศทางไทย นายธีรเทพ วิโนทัย นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย ร่วมเสวนา โดยมี นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ดำเนินรายการ

ก่อนการอภิปราย นางวิรังรอง ได้กล่าวแนะนำกลุ่ม CU Wisdom ว่า กลุ่มนี้มีที่มาจากคุณจิณดา เตชะวณิช นิสิตเก่าจุฬาฯ คณะรัฐศาสตร์ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น โดยเริ่มรวมกลุ่มกันเพื่อยื่นหนังสือถึงอธิการบดี กรณีที่มีนิสิตชักธงสีดำขึ้นเสาธงแทนธงชาติ เมื่อปี 2563 และมีการพูดคุยกันตลอดมา และมีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ภายในจุฬาฯ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่ม CU Wisdom เพื่อที่จะได้รวมตัวกัน เพื่อทำกิจกรรมเพื่อสังคม ใช้ความรู้และประสบการณ์ มาเพาะต้นกล้าจามจุรี ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำสถาบัน เพื่อให้ตระหนักถึงเกียรติคุณจุฬาฯ เติบใหญ่อย่างมีคุณภาพ มีจิตสำนึกถึงการรับใช้ประชาชนและแผ่นดิน เพราะเกียรติของจุฬาฯ คือเกียรติของการรับใช้ประชาชน

รศ.ประพันธ์พงศ์ ไม่ได้เข้าร่วมการอภิปราย เนื่องจากติดภารกิจ แต่ได้ฝากข้อความ โดยใจความสำคัญระบุว่า พฤติกรรมของนิสิตจุฬาบางกลุ่ม ที่นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันต้องทราบ เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยที่แตกต่าง จากมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศ นอกจากเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแล้ว ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จในกิจกรรมที่สำคัญของมหาวิทยาลัยตลอดมา นอกจากการเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานปริญญาบัตรแล้ว พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จมาทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยทุกปี จนมีวันทรงดนตรี

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ สภาพสังคมไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งทางที่ดีขึ้นและก็เลวลง โดยเฉพาะสิ่งที่เลวลงนั้น เนื่องจากเยาวชนบางกลุ่ม ไปยอมรับเอาวัฒนธรรมที่ขัดกับวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นที่นิยมของชาติอย่างรุนแรง เมื่อสิ่งดังกล่าวถูกนำมาสู่สถานศึกษาเก่าแก่ที่สุดและกำเนิดจากพระมหากษัตริย์ ตลอดจนผู้ที่ได้รับการศึกษาส่วนใหญ่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทย แต่อนิจจา สภาพที่เกิดขึ้นในอดีต กำลังถูกทำลายโดยมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ที่แทรกซึมเข้ามาในสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยที่สิ่งที่คนกลุ่มนั้นนำเข้ามาลืมนึกไปว่า กลุ่มที่ลอกพฤติกรรมนั้น กำลังประสบเคราะห์กรรมอยู่ในขณะนี้

ในฐานะที่เป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เรียกได้ว่าเป็นรุ่นพี่ รุ่นพ่อ ขอเตือนด้วยความหวังดีว่า “กรรมใดใครก่อไว้ ระวังกรรมนั้นจะคืนสนอง” ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะสิ่งที่ท่านทำนั้น อาจจะเป็นการทำลายสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดที่มีสมาชิกจำนวนมากที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ในฐานะรุ่นปู่ รุ่นตา รุ่นพ่อ และรุ่นพี่ ไม่อยากเห็นความหายนะ ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้กระทำการทำลายเกียรติยศ ชื่อเสียง และนำความเสื่อมเสียสถาบันในนามแห่งพระองค์ อันเป็นที่เคารพรักอย่างสูงของประชาชนส่วนใหญ่ ขอเตือนว่า ถ้าถูกประชาทัณฑ์แล้วจะนึกถึงบทความนี้ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว

ศ.พิเศษ วิชา อภิปรายเรื่อง พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.จุฬาฯ) ซึ่งศ.พิเศษ วิชาได้ชี้ถึงข้อดีของพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือในส่วนของมาตรา 7 ที่ระบุว่า “มหาวิทยาลัยมุ่งหวังให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมีคุณธรรมกำกับความรู้ เพียบพร้อม ด้วยสติปัญญาและจริยธรรม ใฝ่รู้ กอปรด้วยวิจารณญาณ จิตใจเสียสละ และความสํานึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม” และมาตรา 8 (2) ระบุว่า “ความมีคุณธรรมควบคู่ไปกับความเป็นเลิศทางวิชาการและเสรีภาพทางวิชาการ” ดังนั้น มหาวิทยาลัยไม่ได้มีหน้าที่ให้ความรู้เพียงอย่างเดียว จะต้องมีคุณธรรมไปกำกับด้วย

ส่วนข้อบกพร่องของพ.ร.บ.จุฬาฯ ศ.พิเศษ วิชา ระบุว่า “นิสิตเก่า” แทบไม่ได้ปรากฏอยู่ในพ.ร.บ.นี้เลย ทำให้นิสิตเก่า หรือบุคคลภายนอก ไม่สามารถมีส่วนร่วมการบริหารภายในมหาวิทยาลัยจุฬาฯ ได้เลย หัวข้อเดียวที่มีการปรากฏคำว่า “นิสิตเก่า” ที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ คือเรื่องของการประเมิน

นายประสาร ระบุว่า จากการที่ตนพยายามเข้าใจคนรุ่นใหม่ ถ้ามองในแง่ดี พวกเขาต้องการความยุติธรรม ต้องการความเสมอภาค อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กล้าที่จะออกมาบนถนน กล้าที่จะติดคุก แต่เขาควรจะทบทวนตัวเองด้วยว่า การใช้เสรีภาพอย่างไร้ขอบเขตนั้น ทำให้เขาถูกจองจำ ทำให้เขาสิ้นอิสรภาพ

นายประสาร ได้ฝากแง่คิดสามข้อ ข้อ 1 สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นราชประชาสมาสัย คือพึ่งพาซึ่งกันและกัน ระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับประชาชน เพราะฉะนั้นความตั้งใจของใครก็ตามที่จะเป็นอริกับสถาบันฯ เป็นความตั้งใจที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ข้อ 2 การเคลื่อนไหวที่รุนแรงและไปไกลสุดกู่ถึงขั้นปฏิวัติ สิ่งนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นไทย ข้อ 3 ทุกการเคลื่อนไหวย่อมปรารถนาที่จะต้องการแนวร่วม แต่ตนมองไม่เห็นว่าใครจะมาเข้าร่วม ถ้าหากใช้ถ้อยคำที่หยาบคายเช่นนี้ ใครจะเข้ามาเสี่ยงกับวุฒิภาวะที่ไม่มี

ดร.เวทิน​ ระบุว่า ตนมองเห็นข้อดีของเยาวชนในรุ่นนี้ ว่ามีการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ไม่เหมือนในสมัยที่ตัวเองยังเรียนอยู่ ที่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองกัน

ตนมองว่าการเคลื่อนไหวของนายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) อาจจะไม่น่าเป็นห่วงเท่ากรณีวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง ซึ่งดร.เวทิน​ ระบุว่า “เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของจุฬาฯ” ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ล้วนแล้วแต่มีผลสะเทือนกับจุฬาฯทั้งสิ้น

ส่วนนายธีรเทพ เล่าถึงความผูกพันที่มีต่อจุฬาฯ เพราะทั้งพ่อและแม่จบจากจุฬาฯ และมีโอกาสได้เข้าชมฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ มาโดยตลอด ตนจึงมีความใฝ่ฝันที่เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยที่จุฬาฯ เพื่อที่จะได้เป็นนักฟุตบอลและได้ลงเล่นในงานฟุตบอลประเพณี

นายธีรเทพ ยังได้พูดถึงประเด็นการยกเลิกการอัญเชิญพระเกี้ยวว่า ตั้งแต่ตนเองได้มีโอกาสเข้าชม จนได้มีโอกาสลงเล่นเอง ตนไม่เคยได้ยินใครพูดถึง การอัญเชิญพระเกี้ยว แล้วมองในมุมมองความไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียม หรือ ความโบราณเป็นยุคทาส ตนได้ยิน แต่สิ่งที่เป็นประเพณีที่ทำกันมาช้านาน และเป็นสิ่งที่เคารพ ดังนั้น ถ้าหากจะยกเลิก ตนนั้นไม่เห็นด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุฬาฯ “เปิดแพลตฟอร์ม ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” นวัตกรรมเตือนพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ

จุฬาฯ อันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย Top ของประเทศ 3 ด้าน จากการจัดอันดับโดย THE WUR 2025

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกโดย The Times Higher Education World University Rankings 2025 (THE WUR 2025) จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับกว่า 2,000 แห่ง กว่า 115 ประเทศ

นักวิจัยด้านกุ้ง จาก จุฬาฯ - สวทช. คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2567

นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาวิจัยที่มีผลประโยชน์สูงต่อการเลี้ยงกุ้ง จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สวทช. คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2567 ขณะที่