ศาลปกครองเชียงใหม่ยกฟ้องปม PM2.5 แล้ว ชี้บิ๊กตู่ไม่ได้ละเลยหน้าที่ ยังอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ ที่สำคัญตัวเลขฝุ่นพิษยังไม่เกินกำหนด ซ้ำผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนก็ไม่มี
30 มี.ค.2566 - ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส. 1/2566 คดี หมายเลขแดงที่ ส. 1/2566 ในคดีที่มีผู้ยื่นฟ้องขอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้สภาพบรรยากาศในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีฝุ่น PM 2.5 ไม่เกินมาตรฐานตามที่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด
โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วงเวลาต่อเนื่องระหว่างเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ ปี 2566 มีปริมาณเกินมาตรฐาน จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ฟ้องคดีและประชาชนจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ต้องดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเร็ว แต่ไม่พบว่ามีการช่วยเหลือดังกล่าว จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต้องสั่งการให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดังกล่าว รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ที่กำหนดโดยเร็ว
ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉยไม่ใช้อำนาจสั่งการตามกฎหมายดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
อธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วน ตามข้อ 49/2 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
ศาลปกครองเชียงใหม่ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากคำชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 2 (ลำปาง) สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 3 (พิษณุโลก) สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 4 (นครสวรรค์) สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1เชียงใหม่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 นครสวรรค์ รวมทั้งไต่สวนคู่กรณี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566
ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2566 โดยเห็นว่า ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 – 2570 ได้กำหนดระดับการจัดการสาธารณภัยออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับ 1 การจัดการสาธารณภัยขนาดเล็ก มีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการอำเภอ และผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้อำนวยการท้องถิ่น มีอำนาจควบคุม และสั่งการ ระดับ 2 การจัดการสาธารณภัยขนาดกลาง มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการจังหวัด มีอำนาจควบคุม สั่งการ และบัญชาการ ระดับ 3 การจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติมีอำนาจควบคุม สั่งการและบัญชาการ ระดับ 4 การจัดการสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง มีผู้ถูกฟ้องคดีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ผู้ถูกฟ้องคดีมอบหมาย มีอำนาจควบคุม สั่งการและบัญชาการ
โดยแม้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 จะมิได้บัญญัติความหมายของสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่งไว้ และตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 - 2570 กำหนดเกณฑ์การจัดระดับและการยกระดับแต่เพียงว่าขึ้นกับขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร ความซับซ้อน หรือความสามารถในการจัดการสาธารณภัย ตลอดจนศักยภาพด้านทรัพยากรที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเกี่ยวกับความสามารถในการเข้าควบคุมสถานการณ์เป็นหลัก โดยมิได้กำหนดจำนวนขนาดพื้นที่ ประชากร ประเภทของสาธารณภัยที่มีความซับซ้อนหรือความสามารถหรือทรัพยากรในการจัดการ เนื่องจากประสงค์ให้เป็นดุลพินิจการพิจารณาตัดสินใจของผู้บัญชาการ/ผู้อำนวยการ จากการประเมินสถานการณ์ตามเงื่อนไขต่าง ๆ แต่โดยที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 มีมติให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะดำเนินการโดยจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ.2562 - 2567 ซึ่งกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินงาน ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ในช่วงระหว่างเกิดสถานการณ์วิกฤต ปริมาณ PM 2.5 เกินมาตรฐาน โดยได้กำหนดเป็น 4 ระดับ ซึ่งในระดับที่ 3 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าระหว่าง 76 - 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองในการใช้กฎหมายที่มีอยู่ เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เป็นต้น เพื่อเข้าไปควบคุมพื้นที่หรือควบคุมแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือมีผลกระทบต่อประชาชน และระดับที่ 4 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่ามากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีการดำเนินการในระดับที่ 3 แล้ว แต่สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ยังไม่ลดลงและมีแนวโน้มสูงขึ้นมากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่อง
แนวทางปฏิบัติกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยจะต้องนำกราบเรียนผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาในการสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นแนวทางหรือมาตรการในการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดของหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป สำหรับเกณฑ์พิจารณาว่าต้องต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกันจำนวนกี่วันนั้น เมื่อในการเฝ้าระวังสุขภาพจากแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนมีค่าเกินมาตรฐาน กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2566 ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ระบบบัญชาการเหตุการณ์เมื่อเข้าสู่ภาวะวิกฤติ โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อระดับ PM 2.5 มากกว่า 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน จึงถือว่าสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่ามากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน ขึ้นไป และมีการดำเนินการควบคุมพื้นที่หรือแหล่งกำเนิดแล้ว แต่ยังไม่ลดลงและมีแนวโน้มรุนแรงสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการพิจารณาจัดระดับหรือยกระดับสาธารณภัยจาก PM 2.5 รวมทั้งยังต้องพิจารณาจากขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร ความซับซ้อนหรือความสามารถในการจัดการสาธารณภัย ตลอดจนศักยภาพด้านทรัพยากรที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเกี่ยวกับความสามารถในการเข้าควบคุมสถานการณ์เป็นหลัก ประกอบด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไป ในปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 รวม 59 วัน ในพื้นที่ภาคเหนือเฉพาะจังหวัดที่มีค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป โดยในจังหวัดสุโขทัย มีค่า PM 2.5 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ติดต่อกัน 3 วัน จำนวน 3 ครั้ง แต่ในระหว่างนั้น มีค่าลดลงน้อยกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 8 วัน 6 วัน และ 3 วัน สลับกัน ส่วนจังหวัดพะเยามีค่าลดลงในวันที่สี่ และลดลงต่ำกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในวันที่ห้า สำหรับในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงราย จะมีค่า PM 2.5 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ติดต่อกัน 3 วัน ขึ้นไปและมีค่าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่มีการตรวจพบเฉพาะบางสถานีในจังหวัด จึงถือไม่ได้ว่ามีค่า PM 2.5 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไปในพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัดและทุกจังหวัดของภาคเหนือในประเทศไทย
อีกทั้ง หากพิจารณาภาพรวมของค่า PM 2.5 รายวันเฉลี่ย ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2566 แยกรายจังหวัดแล้ว ไม่มีค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ดังนั้น เมื่อพิจารณาในเชิงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไปข้างต้น และผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือดและสมองอุดตันขาดเลือด กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ และโรคมะเร็งปอด ซึ่งปรากฏตามคำชี้แจงของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 ว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2566 ยังไม่มีการแจ้งรายงานกรณีพบผู้ป่วยเชิงกลุ่มก้อนที่มีอาการเข้าได้กับโรคหรือความผิดปกติจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันหรือสถานที่เดียวกันในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ รวมถึงความซับซ้อน ความยากง่าย สถานการณ์แทรกซ้อน เงื่อนไขทางเทคนิคของสถานการณ์ และศักยภาพด้านทรัพยากรขีดความสามารถในการปฏิบัติงานจากทรัพยากรที่มีอยู่ในการจัดการสาธารณภัย ซึ่งได้แก่ การจัดการต่อแหล่งกำเนิดของสาธารณภัยฝุ่นละออง PM 2.5 ได้แก่ การเผา การคมนาคมและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และหมอกควันข้ามแดน (ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ.2562 - 2567 และตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 - 2570 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการชายแดนภายใต้กระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ) แล้วจึงยังอยู่ในระดับสาธารณภัยที่อยู่ในอำนาจควบคุม สั่งการ และบัญชาการของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด และหน่วยงานที่รับผิดชอบตามแผนดังกล่าว
กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า สถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินมาตรฐาน ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงต่อเนื่องระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2566 ตามฟ้อง เป็นกรณีที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลางหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จะต้องเสนอผู้ถูกฟ้องคดีให้จัดระดับหรือยกระดับเป็นระดับ 4 การจัดการสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ผู้ถูกฟ้องคดีมอบหมาย มีอำนาจควบคุมสั่งการ และบัญชาการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 - 2570
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องมิได้ดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงเป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่จะต้องสั่งการ นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ดำเนินการตามแนวทางแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบในการประชุมดังกล่าว และตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใต้แผนเฉพาะกิจ ส่วนการเฝ้าระวังสุขภาพจากแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีค่าเกินมาตรฐาน นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ 3 มาตรการ และได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขในจังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก และในระดับเขตสุขภาพที่ 1 และเขตสุขภาพที่ 2 และมีการเปิดคลินิกมลพิษ ได้แก่ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลกำแพงเพชร และโรงพยาบาลพิจิตร แล้ว กรณีจึงถือว่าการดำเนินการจัดการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ยังอยู่ในระดับที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตรการและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใต้แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากต่อมา ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีค่าสูงขึ้นต่อเนื่องตามเกณฑ์ที่ได้วินิจฉัยไปข้างต้น และเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่อาจจัดการกับสาธารณภัยดังกล่าวได้ ผู้อำนวยการกลางหรือผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ก็ชอบจะพิจารณาเสนอผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณายกระดับเป็นสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่งต่อไป
ดังนั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสถานการณ์มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนเกินมาตรฐาน ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงต่อเนื่องระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2566 ตามฟ้อง ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ออกคำสั่งตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ พิพากษายกฟ้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อากาศเมืองกรุงอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง-ส้ม
เพจกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
'มท.หนู' ลั่นมหาดไทยยุคนี้ ไร้อำนาจเก่าไม่แตกแถว ผู้ว่าฯ ทำงานเกียร์ 10
'มท.หนู' ลั่นมหาดไทยยุคนี้ไม่แตกแถว ไร้ปัญหาฝ่ายการเมืองปะทะขรก.ประจำ ยันผู้ว่าฯ เข้าเกียร์ 10 ชี้ใครไม่สนองงานชาวบ้าน มีวิธีจัดการร้อยแปดพันเก้า
ครม. เคาะแต่งตั้ง '26 พ่อเมือง-7 ผู้ตรวจฯ' มท.จัดแถวสิงห์ล็อตใหญ่
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนครี เปิดเผย หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้ง
'มท.1' ชงครม.แต่งตั้งโยกย้ายผจว. หลายตำแหน่ง ยันไม่มีการเมืองล้วงลูก
ที่ทำเนียบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ทางก
ระวังมิจฉาชีพ 'ตำรวจ' ย้ำอายัดเงินเองได้ ไม่ต้องโอนมาให้ตรวจสอบ
ย้ำเตือนตำรวจอายัดเงินเองได้ ไม่ต้องโอนมาให้ตรวจสอบ หากมีตำรวจวิดีโอคอลให้โอนเงินคือมิจฉาชีพ
คนกรุงอ่วม! สภาพอากาศมีผลกระทบสุขภาพถึง 33 พื้นที่
เพจกรุงเทพมหานคร โพสต์กราฟฟิกพร้อมเนื้อหา