หลักสูตร 'วทน.2' สภาทนายความ เปิด 5 รายงานวิชาการ เสนอแนวทางแก้ปัญหาระดับประเทศ ใช้กฎหมายขับเคลื่อนสังคมให้หลุดพ้นข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่อง การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ คืนคนดีสู่สังคม การเอาผิดคดีออนไลน์ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
24 มี.ค.2566 - ผู้เข้าอบรมหลักสูตรการบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง รุ่นที่ 2 (วทน.2) วิทยาลัยทนายความ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นำเสนอบทความทางวิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้เข้าอบรม 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่ม 1 กริฟฟิน นำเสนอหัวข้อเรื่องกฎหมายกับการพัฒนา Smart City โดยมี ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ศ.จรัญ ภักดีธนากุล นายนันทน อินทนนท์ และ ผศ.ณชัชชญา ทองจันทร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา กลุ่ม 2 ฟีนิกซ์ นำเสนอหัวข้อเรื่องการส่งต่อผู้กระทำความผิดภายหลังพ้นโทษ (คืนคนดีสู่สังคม) โดยมีนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ศ.จรัญ ภักดีธนากุล ร.ท.ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ น.ส.ณปภัช นธกิจไพศาล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา กลุ่ม 3 ยูนิคอร์น นำเสนอหัวข้อเรื่องปัญหาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยมี รศ.สุเมธ จานประดับ ผศ.สาธิน สุนทรพันธุ์ ผศ.ณชัชชญา ทองจันทร์ ดร.ธนสาร จองพานิช เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา กลุ่ม 4 พีกาซัส นำเสนอหัวข้อเรื่อง การแสวงหาพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ในชั้นพนักงานสอบสวน โดยมี รศ.ณัฐพงศ์ โปษกะบุตร นายสราวุธ เบญจกุล ดร.ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ดร.ปวีณา เอี่ยมศิริกุลมิตร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา กลุ่ม 5 สฟริงซ์ นำเสนอหัวข้อเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยมี รศ.ดร.ประสาน บุญโสภาคย์ นายประภาศ คงเอียด นายธีรศักดิ์ เงยวิจิตร น.ส.ณปภัช นธกิจไพศาล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
โดยหัวข้อเรื่องกฎหมายกับการพัฒนา Smart City มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมของประเทศไทยในปัจจุบันมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้พื้นที่ในพื้นที่รอบเมืองบางส่วนกลายเป็นเมืองที่ใช้ในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพื้นที่สู่การกลายเป็นเมืองจนมีการผลักดันนโยบาย Smart City ให้เป็นกลไกที่สามารถสร้างโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ
อย่างไรก็ดีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะยังไม่สามารถนำมาใช้ในการรองรับได้มากนักและการใช้กฎหมายในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะถือเป็นมิติใหม่ที่สามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ โดยรายงานนั้น พบว่าการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะจะต้องวางแผนครอบคลุมผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาเมืองกับอุตสาหกรรม และเลือกใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะตามประโยชน์ที่เกิดขึ้นมากกว่าการเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัย
การสร้างความร่วมมือและการพัฒนาหุ้นส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะ จะช่วยลดข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและปัญหาด้านการเงิน ซึ่งส่งผลให้โครงการมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และการสนับสนุนเชิงนโยบายกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น การจัดงบประมาณให้กับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย การตรากฎหมายที่เอื้อกับภาคส่วนเอกชน และการให้ความรู้กับประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ และการบริหารจัด โดยกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา 3 ปีเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงาน เอกชน และประชาชน
สำหรับหัวข้อเรื่องการส่งต่อผู้กระทำความผิดภายหลังพ้นโทษ (คืนคนดีสู่สังคม) มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ เราศึกษามาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีการตั้งคำถามการศึกษาขึ้นว่า ประเทศไทยจะกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนขึ้นได้อย่างไร โดยจากผลการศึกษา พบว่า หลักการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดและรวมถึงการสงเคราะห์หลังปล่อยโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคสังคมนี้ ได้รับการยอมรับในสากลว่าเป็นการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอย่างบูรณาการและยั่งยืน ดั่งที่ปรากฎอยู่ในข้อกำหนดแมนเดลลาและข้อกำหนดโตเกียว แต่ทว่าพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ของประเทศไทย กลับไม่ปรากฎมาตรการทางกฎหมายที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคสังคมหรือชุมชน หรือแม้กระทั่งระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง คงมีเพียงมาตรการกำกับติดตามผู้พ้นโทษใน 13 มาตรการ ที่ให้กรมคุมประพฤติเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงหน่วยงานเดียวเป็นสำคัญเท่านั้น
นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้สามารถนำเอามาตรการคุมขังผู้พ้นโทษมาใช้ได้อีกด้วย โดยไม่ปรากฎมาตรการคั่นกลางในเชิงทางเลือกให้ใช้บังคับแก่กรณีแต่อย่างใด ซึ่งจากการศึกษามาตรการการมีส่วนร่วมในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในต่างประเทศนั้น ปรากฏว่าตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ ได้รับรองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ร่วมกับงานคุมประพฤติ มาตรการให้โอกาสการทำงานและการเปิดเผยข้อมูลการต้องโทษจำคุกของผู้พ้นโทษต่อผู้ประกอบการเมื่อจะเข้าทำงานมาใช้อยู่ด้วย ซึ่งเป็นมาตรการเชิงสังคมที่มีประสิทธิภาพอย่างเด่นชัด ส่วนกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ได้รับรองมาตรการการควบคุมตัวโดยชุมชนหรือบ้านกึ่งวิถีมาใช้แก่กรณีเพื่อเป็นทางเลือกแทนการคุมขังได้อยู่ด้วย สำหรับกรณีของประเทศญี่ปุ่น กฎหมายได้รับรองให้มี กลุ่มประสานความร่วมมือระหว่างนายจ้าง เข้ามารับผิดชอบในการประสานระหว่างผู้ประกอบการกับผู้พ้นโทษเพื่อให้ได้รับโอกาสการทำงานต่อไป
จากผลการศึกษาเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นทางกฎหมาย ดังนี้ 1) การรับรองโดยกฎหมายให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างกรมคุมประพฤติกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ 2) การรับรองโดยกฎหมายให้เกิดการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการ โดยการจัดตั้งกลุ่มประสานความร่วมมือระหว่างนายจ้าง เพื่อเข้ามารับผิดชอบในการประสานระหว่างผู้ประกอบการกับผู้พ้นโทษให้ได้รับโอกาสการทำงาน และ 3) การรับรองให้มีมาตรการการควบคุมตัวโดยชุมชนหรือบ้านกึ่งวิถี มาใช้บังคับเป็นมาตรการทางเลือกก่อนที่จะนำมาตรการคุมขังผู้พ้นโทษมาใช้บังคับต่อไป
ส่วนในหัวข้อเรื่องปัญหาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ มองเรื่องปัญหาน้ำท่วมที่มีมานานกว่า 70 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2485 และในปี 2565 ก็ยังคงมีปัญหาน้ำท่วมอยู่ ส่วนหนึ่งถูกมองว่าเป็นปัญหาจากโครงสร้างการกระจายอำนาจส่วนราชการในท้องถิ่น โดยงานศึกษาวิจัยนี้จึงทำการศึกษาปัญหาการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาอุทกภัย โดยทำการศึกษาความเป็นมาและพัฒนาการของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทางด้านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่าประเทศไทยมีพัฒนาการในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป ในปัจจุบันภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปี พ.ศ. 2550 สามารถกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้ในระดับหนึ่ง มีความอิสระในการบริหารพอสมควร แต่ยังคงมีปัญหาความอิสระด้านการคลัง ซึ่งกระทบต่อทำให้มีข้อจำกัดการบริหารจัดการ
จากผลการศึกษานี้จึงมีข้อเสนอแนะให้มีกฎหมายรองว่าด้วยระเบียบวิธีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของท้องถิ่น โดยมีส่วนหนึ่งของกฎหมายรองนั้นระบุที่มาและสัดส่วนของงบประมาณที่ท้องถิ่นพึงต้องใช้ หรือใช้ได้ รวมทั้งวิธีการและแหล่งสนับสนุนทางงบประมาณหากรายได้จากการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่นไม่เพียงพอ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถทรัพยากรบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารทั้งส่วนท้องถิ่น ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
ในเรื่องที่ 4 นั้น หัวข้อเรื่อง การแสวงหาพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ในชั้นพนักงานสอบสวน มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ มีการศึกษาปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการแสวงหาพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ในชั้นพนักงานสอบสวนตลอดถึงอุปสรรคเกี่ยวในการรวมรวมพยานพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ชั้นพนักงานสอบสวน จากการศึกษาพบว่าการรวบรวบพยานหลักฐานชั้นพนักงานสอบสวนยังขาดกฎหมายที่สนับสนุนในการทำงานโดยเฉพาะในการรวบรวมพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ ทางคณะผู้ศึกษาจึงเสนอแนะให้พนักงานสอบสวนสามารถเข้าถึงสถานที่หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้โดยเร็วเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานและควรพัฒนาบุคลากรด้านการสอบสวนให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่อไป
และเรื่องสุดท้าย หัวข้อที่ 5 เรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย มีประเด็นที่น่าสนใจ คือเพื่อศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย และเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย โดยทำการสืบค้นข้อมูลจาก ตำรา หนังสือ วารสารทางวิชาการ รายงานการวิจัย เอกสารทางวิชาการต่างๆ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อมูลจากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแล้วนำข้อมูลต่างๆ ที่สืบค้นได้มาจัดระเบียบข้อมูลและทำการวิเคราะห์โดยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้ทั้งความหมายทางภาษาและความหมายทางความรู้สึกหรือนัยที่แอบแฝงอยู่
จากการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านการศึกษา จึงนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว สามารถสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะดังนี้ โดยพบว่า มีความเหลื่อมล้ำในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีปัญหาเกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ด้านเศรษฐกิจ มีปัญหาในระบบทุนนิยมมีความได้เปรียบมากและมีระดับช่องว่างความห่างระหว่างคนรวยกับคนจนมาก และด้านการศึกษา
ซึ่งผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ในด้านการเมือง รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน ในด้านเศรษฐกิจ รัฐต้องกำหนดนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาการจ้างงาน ความยากจน การจ้างแรงงานทุกส่วนให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ในด้านการศึกษา รัฐต้องกำหนดมาตรการทางกฎหมายหรือแรงจูงใจ เพื่อให้คุณภาพการจัดการศึกษาทุกระดับเป็นไปอย่างมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้รัฐต้องส่งเสริมการฝึกอบรมให้แก่ผู้ว่างงานเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ รวมถึงต้องสร้างจิตสำนึกให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สนธิ' ร้องเรียนสภาทนายความ สอบมรรยาท 'ทนายษิทธา-ทนายเดชา'
ที่สภาทนายความ ถ.พหลโยธิน นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการและเจ้าของรายการสนธิทอร์ค, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พร้อม
นายกสภาทนายความ เข้าพบ ประธานศาลฎีกา หารือป้องกันทนายความปลอม
ที่ศาลฎีกา นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยคณะบริหารสภาทนายความและตัวแทนประธานสภาทนายความจังหวัด ได้เข้าพบนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา พร้อม
'ครูปรีชา' ยิ้มร่าฟ้าลิขิต หิ้วกาแฟ-ข้าวผัดเยี่ยม 'ทนายตั้ม'
'ครูปรีชา' ยิ้มร่ารับน้อง หิ้วกาแฟพร้อมข้าวผัด ฝาก 'ทนายตั้ม-ภรรยา' ปัดซ้ำเติม แต่ทุกอย่างเป็นไปตามกรรมจากการกระทำของตัวเอง
'นิพิฏฐ์' ผุดไอเดีย! อบรมธรรมะ 'ทนายความ' ก่อนออกใบอนุญาต
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “กรรม” ตามหลักพุทธศาสนา ผมสนใจเรื่อง "กรรม"
สภาทนายความ ร่อนแถลงการณ์แจงกรณี 'มรรยาททนายความ'
สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกแถลงการณ์ชี้แจงการดำเนินคดีมรรยาททนายความ ระบุว่าตามที่สื่อมวลชนและสังคมให้ความสนใจ
สภาทนายฯ แจง 'ทนายตั้ม' โดนหมายจับฝากขังในเรือนจำ คนละส่วนคดีมรรยาททนาย
กรณี ศาลอาญา รัชดา ได้อนุมัติหมายจับ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ในข้อหา ฉ้อโกง, ฟอกเงิน, ร่วมกันฟอกเงินและสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คน