.
กสม. ชี้กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ สน. ชนะสงคราม จับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่แสดงบัตรประจำตัวขณะตรวจค้น เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ สตช. กำชับ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบ
24 ก.พ.2566- นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ระบุว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 ช่วงดึก ขณะที่ผู้ร้องขับขี่รถจักรยานยนต์อยู่ในบริเวณตรอกสาเก ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีกลุ่มชายจำนวน 4 คน อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าตรวจค้นร่างกายผู้ร้องโดยไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ ผู้ร้องขัดขืนจึงถูกทำร้ายร่างกาย ต่อมาผู้ร้องทราบในภายหลังว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม (สน. ชนะสงคราม) นอกจากนี้ในระหว่างการสอบสวน ผู้ร้องระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่และซ้อมทรมานเพื่อให้ยอมรับสารภาพในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลทุกคน การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใด ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงสรุปประเด็นได้ดังนี้
(1) กรณีการตรวจค้นและจับกุม ปรากฏว่า ขณะเข้าทำการตรวจค้นจับกุมผู้ร้องนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งกายนอกเครื่องแบบ สังเกตเห็นผู้ร้องอยู่ในอาการผิดปกติลักษณะเหมือนเสพยาเสพติดจึงขอเข้าไปตรวจค้น เมื่อพิจารณาคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 ประกอบกับหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0011.13/ว52 ได้กำชับให้ข้าราชการตำรวจที่ทำการตรวจค้นหรือจับกุมทุกกรณี ต้องแต่งเครื่องแบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบตำรวจ เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเร่งด่วนที่ต้องทำการตรวจค้นบุคคลหรือสถานที่หรือจับกุมบุคคลใด ซึ่งหากไม่ปฏิบัติทันที อาจจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ ถ้าเช่นนี้ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบก็ได้ แต่ต้องแจ้งยศ ชื่อ ตำแหน่ง พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวให้เจ้าบ้านหรือผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลที่ถูกตรวจค้นหรือถูกจับกุมนั้นทราบ จึงเห็นได้ว่า กรณีตามคำร้องนี้ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าพนักงาน หรือไม่ได้แสดงตนจนเป็นที่พอใจแก่ผู้ร้องว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง ประกอบกับเวลาเกิดเหตุเป็นยามวิกาล ทำให้ผู้ร้องเกิดความไม่ไว้วางใจและขัดขืนไม่ยินยอมให้ตรวจค้น จนกระทั่งมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ร้องกับตำรวจและประชาชนในที่เกิดเหตุบางคน ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การตรวจค้นและจับกุมผู้ร้องโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย คำสั่ง และข้อกำชับที่เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
(2) กรณีผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ในชั้นสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่และซ้อมทรมานผู้ร้องเพื่อให้รับสารภาพในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น ภายหลังจากผู้ร้องถูกคุมขัง 2 วัน ก่อนถูกส่งตัวเข้าทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง จากข้อมูลการตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้าใหม่ของทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมีร่องรอยการถูกทำร้ายหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ว่าตนเองถูกทำร้ายแต่อย่างใด นอกจากนี้จากพฤติการณ์ของผู้ร้องประกอบกับการสอบถามมารดาและเพื่อนมารดาของผู้ร้องต่างไม่อาจยืนยันว่ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ในชั้นนี้จึงยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่รับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องข่มขู่และซ้อมทรมานผู้ร้องเพื่อให้รับสารภาพในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
(3)สำหรับกรณีที่ต้องพิจารณาว่าผู้ร้องเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่นั้น ปรากฏว่า พนักงานอัยการฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ผู้ร้องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบ จึงต้องห้ามมิให้ กสม. ใช้หน้าที่และอำนาจในการพิจารณา ตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 จึงเห็นควรยุติเรื่องในประเด็นนี้
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช .) และ สน. ชนะสงคราม ให้กำชับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบให้เป็นไปตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 และหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0011.13/ว52 ซึ่งในการตรวจค้นหรือจับกุมทุกกรณี เจ้าหน้าที่จะต้องแต่งเครื่องแบบ เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเร่งด่วนที่ไม่อาจแต่งเครื่องแบบได้ แต่เจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งยศ ชื่อ ตำแหน่ง พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวให้เจ้าบ้านหรือผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลที่ถูกตรวจค้นหรือถูกจับกุมนั้นทราบก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ ให้ สตช. และ สน. ชนะสงคราม ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้ สน.ชนะสงคราม จัดให้มีกล้องบันทึกภาพและเสียงสำหรับเก็บพยานหลักฐานในการเข้าตรวจค้นและจับกุมบุคคลใด ๆ โดยให้มีระยะเวลาในการเก็บรักษาพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือตามสมควร เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงหากมีกรณีการร้องเรียนถึงการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้ สตช. สนับสนุนด้านงบประมาณ และจัดหาอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงให้แก่สถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์และความเป็นธรรมในการตรวจสอบหากมีกรณีร้องเรียนการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม. ประกาศ 9 บุคคลและองค์กร ที่ส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567
กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ
ทั่วโลกจับตา! 'คดีตากใบ' สะท้อนไทยล้มเหลว ปล่อยละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำ
แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หวั่นคดีตากใบหมดอายุความ กลายเป็นใบเบิกทางละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ชี้ชัด ทั่วโลกจับตาดูอยู่ เชื่อจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศต่อเนื่อง
กสม.ขยับ! ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อในคดีตากใบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์
กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่
'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่
กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ
กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ