อึ้ง! กสม.เจอครอบครัวผู้สูงอายุใน กทม.ไม่มีน้ำ-ไฟใช้กว่า 30 ปี

กสม.ถึงกับผงะ! ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต พบประชาชนใน 19 ชุมชน 3 อำเภอไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ ส่วน กทม.เจอครอบครัวสูงอายุไม่มีใช้น้ำ-ไฟกว่า 30 ปี

25 พ.ย.2564 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายภาณุพันธ์ สมสกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 9/2564 แถลงถึงการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่พบประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ขณะที่พี่น้องสูงวัยไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้กว่าสามสิบปี แม้อยู่ในกรุงเทพ

โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 นางปรีดา คงแป้น กสม.ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตามที่ประชาชน 19 ชุมชนได้ร้องเรียนต่อ กสม. ว่าไม่สามารถเข้าถึงระบบไฟฟ้าและน้ำประปาได้ ซึ่งชุมชนดังกล่าวกระจายอยู่ทั้ง 3 อำเภอของจังหวัดภูเก็ต เช่น ชุมชนกิ่งแก้ว ชุมชนราไวย์ ชุมชนโหนทรายทอง ชุมชนหินลูกเดียว และชุมชนสระต้นโพธิ์ จากการรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้แทนเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ตและตรวจสอบสภาพพื้นที่พบว่า บางส่วนเป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน ขณะที่บางส่วนเป็นพื้นที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสภาพปัญหาในภาพรวมพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน จึงขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและส่งผลกระทบต่อเนื่องในการเข้าถึงสิทธิในการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา

โดยประชาชนเหล่านี้ไม่สามารถยื่นคำร้องขอใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาได้ เพราะไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ หรือหากขอใช้ได้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าอัตราปกติ ทำให้ต้องใช้วิธีการพ่วงกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาจากบ้านหลังอื่น โดยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนที่สูงกว่าประชาชนทั่วไป 3 -​ 4 เท่า โดยบางส่วนเป็นหนี้ค่าไฟฟ้าสะสมหลายเดือนและถูกตัดกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังไม่สามารถขอรับสิทธิช่วยเหลือจากภาครัฐได้โดยตรง เช่น การขอลดค่าน้ำค่าไฟในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ มีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 2,000 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐและมีรายได้น้อย

“กสม. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเข้าไม่ถึงไฟฟ้าและน้ำประปาทั้ง 19 ชุมชน ซึ่งถือเป็นปัญหาที่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับและเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดหาให้ตามรัฐธรรมนูญ” นางปรีดากล่าวและว่า จะเสนอรายงานการลงพื้นที่และรับฟังปัญหาของประชาชนในครั้งนี้ ต่อที่ประชุม กสม. เพื่อพิจารณา ตลอดจนมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.นายวสันต์ ได้ลงพื้นที่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังปัญหากรณีผู้ร้องรายหนึ่งอายุ 61 ปี ประกอบอาชีพทำสวน อาศัยอยู่กับพี่สาวอายุ 73 ปี ขอความช่วยเหลือมายัง กสม. เนื่องจากที่ดินซึ่งอาศัยมาตั้งแต่เกิดถูกหมู่บ้านจัดสรรล้อมรอบ ไม่มีทางออกสู่สาธารณะทำให้ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้นานกว่าสามสิบปี โดยผู้ร้องต้องรองน้ำฝนใส่โอ่งและใช้สารส้มทำให้น้ำตกตะกอนเพื่อใช้อุปโภคบริโภค และใช้เทียนไขช่วยให้แสงสว่าง นอกจากนี้ยังได้รับความลำบากในการเดินทางเข้าออก โดยต้องปีนบันไดข้ามกำแพงรั้วคอนกรีตของหมู่บ้านจัดสรร ขนาดความสูง 1.75 เมตร เพื่อผ่านไปทางสาธารณะ ทำให้ได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่ง กสม.ได้ประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องไฟฟ้า น้ำประปา และทางเข้าออก ตลอดจนการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ แล้ว ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางเขนก็ได้ร่วมลงพื้นที่ และจะหารือกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ร้องและหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป

นายวสันต์ กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิที่จะเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนที่รัฐจะต้องจัดหรือดำเนินการให้มีอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามที่มาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุไว้ นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ

เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง      เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2

กสม.ส่งมอบแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมาน-การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

กสม. ส่งมอบแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ตร. ขานรับพร้อมยกระดับการคุ้มครองสิทธิประชาชนในสถานที่ควบคุมตัว

กสม.แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ให้ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สวมเสื้อชั้นในได้

กสม. แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วยการแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสวมเสื้อชั้นในหรือแต่งกายตามเพศสภาพได้ เพื่อป้องกันการถูกคุกคามทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติในเรือนจำ