อดีตรองอธิการมธ. จี้ 'ชัชชาติ' เร่งแก้ปัญหา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย อย่าปล่อยดินพอกหางหมู

7 ก.พ.2566- รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตอนหาเสียงทุกคนเก่งกันหมด จะทำโน่นทำนี่ แก้ปัญหาโน่น ปัญหานี่ ดูอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผู้สมัครทุกคนล้วนบอกว่าสามารถเก็บค่าโดยสารได้ถูกจนน่าตกใจกันทุกคน เอาเข้าจริง ผู้ว่าฯที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา จนบัดนี้ก็ทำไม่ได้อย่างที่พูดไว้ หรืออย่าพูดว่าทำไม่ได้ดีกว่า ความจริงคือยังไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง ทำอย่างเดียวคือหาช่องกฎหมายเพื่ออุทธรณ์คดีที BTSC ฟ้องศาลปกครองกลางให้ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถ ค่าซ่อมบำรุง และค่าติดตั้งระบบเดินรถของส่วนต่อขยายระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งศาลตัดสินตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2565 ให้ กทม และบริษัทกรุงเทพธนาคม(บริษัทของกทม) ให้ชำระหนี้ 1.1 ล้านบาทภายใน 180 วัน

จนบัดนี้กทม ทำเพียงต่อสู้คดีเพื่อไม่ต้องชำระหนี้ ในขณะที่มูลหนี้และดอกเบี้ยเพื่มขึ้นทุกวัน ซึ่ง กทม ก็ยังไม่เริ่มเก็บค่าโดยสาร ส่วน BTSC ก็ประกาศว่าจะไม่หยุดเดินรถ ทั้งยังทำคลิปวีดิโอทวงหนี้กทม เปิดให้ผู้โดยสารดูในทุกสถานี
หากเราไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น เราจะไม่เข้าใจเลยว่า เกิดอะไรขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ดีขึ้น จะขอลองไล่เรียงดูว่า เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

รถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นส่วนต่อขยายจากช่วงที่เป็นสัมปทานเดิมที่กทม ตั้งแต่สมัยพลตรี จำลอง ศรีเมืองเป็นผู้ว่าฯเปิดประมูลและได้ BTSC เป็นดำเนินการ เพื่อขยายการบริการให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น รัฐบาลจึงคิดที่จะสร้างส่วนต่อขยาย ซึ่งมีทางทิศเหนือจากหมอชิตไปสิ้นสุดที่คูคต และส่วนต่อขยายทางทิศตะวันออกจากแบริ่งไปยังสมุทรปราการ ซึ่งครอบคลุม 3 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี และสมุทรปราการ เนื่องจากส่วนต่อขยายดังกล่าวครอบคุลุม 3 จังหวัด ซึ่งอีก 2 จังหวัดคือสมุทรปราการและปทุมธานีไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่เป็นอำนาจของกทม รัฐบาลในขณะนั้นจึงมอบให้เป็นหน้าที่ของ รถไฟฟ้ามหานคร(รฟม) หรือ MRT ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ในขณะที่ กทม อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงคมนาคมโดย รฟม ได้ดำเนินการด้านโยธาหรืองานก่อสร้าง เริ่มตั้งแต่ปี 2551 สมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ ต่อมาในช่วงรัฐบาลคสช เห็นว่า เนื่องจากการเดินรถตลอดเส้นทางกล่าวคือจากสมุทรปราการไปยังคูคตหรือกลับกัน จะมีช่วงที่เป็นรอยต่อที่ ซึ่งจะต้องผ่านเส้นทางส่วนที่เรียกว่าเป็น “ไข่แดง” ซึ่ง BTSC เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากกทม หากมีผู้เดินรถเป็นคนละบริษัทกัน ก็จะเกิดความไม่สะดวกต่อผู้ใช้บริการเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะต้องเปลี่ยนขบวนรถ และชำระค่าบริการอีกครั้งแทนที่จะชำระตั้งแต่แรกเพียงครั้งเดียว รัฐบาลคสช จึงมีแนวคิดว่าควรจะให้กทม รับผิดชอบไปทั้งหมดตลอดสาย ทั้งช่วงเดิมที่เรียกกันว่า “ไข่แดง” และช่วงที่เป็นส่วนต่อขยายทั้ง 2 ทิศ จึงได้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 44 มอบให้กทม เป็นผู้มีอำนาจรับผิดชอบทั้งหมด แต่ทั้งนี้กทม จะต้องชำระเงินค่าก่อสร้างที่เป็นงานโยธาทั้งหมดคืนให้กับกระทรวงคมนาคม คิดเป็นเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท

กทม ในยุคของผู้ว่าฯอัศวิน ขวัญเมือง ยอมรับในหลักการ แต่มีปัญหาที่ไม่มีเงินพอจะชำระคืนให้กับกระทรวงคมนาคมได้ รัฐบาลจึงตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่งให้ทำการเจรจากับ BTSC ซึ่งเป้นผู้ได้รับสัมทานจากกทม ในการเดินรถ แนวทางการเจรจาคือ ให้ BTSC รับสภาพหนี้ค่าก่อสร้างที่กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการแทนกทม แลกกับการที่กทม จะต่อสัญญาสัมปทานให้อีก 30 ปี ผลการเจรจา BTSC ยอมตกลงตามเงื่อนไข และกำหนดอัตราค่าโดยสารตลอดสายเฉพาะส่วนต่อขยาย ไม่รวมส่วนที่เป็น”ไข่แดง” อยู่ที่ 65 บาท

ในขณะข้อสรุปจากการเจรจารอการนำเข้าสู่การพิจารณาของครม มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่ารัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบและอัตราค่าโดยสารแพงเกินไป ทำให้เกิดการชะงักงัน แต่งานโยธาซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว คงไม่อาจปล่อยไว้เฉยๆ กทม โดยผู้ว่าฯอัศวิน จึงว่าจ้างให้บีทีเอส ติดตั้งงานระบบทั้งหมดสำหรับการเดินรถ และให้ทำการเดินรถไปพลางก่อนโดยยังไม่ให้เก็บค่าโดยสาร และกทม จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าโดยสารส่วนนี้เอง

เรื่องนี้ล่วงเลยมาจนรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ชุดปัจจุบัน ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมซึ่งกำกับดูแล MRTและเป็นเจ้าของงบประมาณที่ใช้ไปกับงานโยธามาจากพรรคภูมิใจ และพรรคภูมิใจไทยคัดค้านข้อตกลงดังกล่าวด้วยการให้รัฐมนตรีของพรรคทั้งหมดพร้อมใจกันไม่เข้าประชุมครม เมื่อมีวาระที่จะต้องพิจารณาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำให้กระทรวงมหาดไทยซึ่งกำกับดูแล กทม ต้องถอนเรื่องออกไปก่อน พรรคภูมิใจคัดค้านเรื่องนี้ อ้างเหตุผลว่า ทำให้ค่าโดยสารแพง ซึ่งจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ลึกๆมีเสียงซุบซิบกันว่า เป็นเพราะพรรคภูมิใจไทยไม่ต้องการให้ BTSC ได้ต่อสัมปทานเสียมากกว่า ซึ่งก็ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใด เรื่องนี้จึงยังคาราคาซัง ยังไม่ได้นำเข้าที่ประชุมครม อีกครั้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จนถึงปัจจุบัน

กลับมาดูที่กทม สิ่งที่ผู้ว่าฯคนปัจจุบันต้องการคือให้รัฐบาลยกระบบรางที่เป็นงานโยธามูลค่า 40,000 ล้านบาทให้กทม แบบฟรีๆ และจะไม่ต่อสัญญาสัมปทานของ BTSC ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2572 เพื่อจะพยายามหาผู้รับสัมปทานรายใหม่แทน BTSC และบีบราคาค่าโดยสารให้ได้ตามทีได้หาเสียงไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ยอมชำระหนี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้ว่าฯอัศวินตัดสินใจว่าจ้างให้ BTSC เดินรถไปก่อนโดยไม่ต้องเก็บค่าโดยสาร และก็ยังไม่ได้ทำอะไรทั้งสิ้น ไม่ยอมเร่ิมเก็บค่าโดยสาร ทำอย่างเดียวคืออุทธรณ์คำตัดสินของศาลปกครองกลางดัวกล่าว เพื่อหาข้อกฎหมายมาอ้างเพื่อไม่ต้องชำระหนี้

หากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทมทุกท่านได้ศึกษาเรื่องนี้มาแล้วจริงก่อนหาเสียง ก็น่าจะต้องมีข้อมูลเหล่านี้โดยเฉพาะบางท่านก็อยู่ในคณะกรรมการชุดที่เจรจากับ BTSC เสียด้วย ควรจะทราบว่าการจะทำราคาค่าโดยสารให้ได้ตามที่หาเสียงนั้น ยากยิ่งกว่ายาก เพราะจะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นจะต้องไม่ต่อสัญญาให้ BTSC หลังปี 2572 เพื่อหาผู้รับสัมปทานรายอื่นมาดำเนินการเพียงรายเดียวตลอดสาย ซึ่งการทำราคาให้ต่ำเท่ากับที่ได้หาเสียง อาจหาคนรับสัมปทานได้ยาก ยกเว้นกทม จะนำเงินงบประมาณของกทม เองมาช่วยสนับสนุน แต่ที่สำคัญคือ เพราะไม่ต่อสัญญา กทม จะต้องหาเงินอีก 40,000 ล้านใช้คืนให้กับกระทรวงคมนาคมเองแทนที่จะให้ BTSC รับภาระไปโดยแลกกับการต่อสัญญาให้ 30 ปี

ข้อมูลเหล่านี้ ผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯทุกคนไม่ได้บอกชาวกทม ให้ทราบ บอกเพียงว่าจะทำราคาเท่านั้นเท่านี้ ยืนยันกันทุกคนว่าทำได้ ยกเว้นท่านผู้ว่าฯอัศวินคนเดียวที่แตกต่างเพราะท่านยอมรับทางเลือกตามที่เจรจากับ BTSC ตั้งแต่แรกแล้ว และอาจเป็นเพราะท่านไม่ได้โกหกตัวเองว่าทำได้สบายๆ ท่านจึงยืนอยู่กับแนวทางที่เป็นไปได้ ส่วนผู้สมัครคนอื่นๆ ดูเหมือนจะให้น้ำหนักไปกับการได้คะแนนเสียงมากกว่าการให้น้ำหนักไปที่ความเป็นไปได้

ขณะนี้เวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ที่หาเสียงไว้นั้นทำได้ยากกระทั่งเป็นไปไม่ได้ ท่านผู้ว่าฯคนปัจจุบันคงทราบดีที่สุด และยิ่งปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไปโดยไม่ตัดสินใจ หนี้สินก็จะยิ่งพอกพูนยิ่งกว่าดินพอกหางหมู ในที่สุด กทม อาจต้องส่งส่วนต่อขยายทั้งหมดคืนให้กระทรวงคมนามคมและรฟมดำเนินการ ความไม่สะดวกก็จะกลับมาอยู่ที่ผู้โดยสารที่ใช้บริการอย่างเราๆเมื่อผู้เดินรถแต่ละส่วนเป็นคนละบริษัทกัน แต่ในที่สุดกทม และกรุงเทพธนาคมก็ไม่อาจปฏิเสธหนี้ที่ต้องจ่ายให้กับ BTSC ได้ จะใช้ข้อกฎหมายอะไรมาสู้ก็ตาม ต่อให้ชนะคดีก็ไม่ต้องชำระหนี้ ก็ยังคงมีคำถามเรื่อง จริยธรรมและธรรมาภิบาล เพราะหนี้สินก็ยังคงเป็นหนี้สิน จะหาทางเบี้ยวไม่จ่ายได้อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการชม 'อิ๊งค์' กล้าหาญสปีกอิงลิชบนเวที Forbes แต่ยังตอบแบบงูๆปลาๆ-ใช้ภาษาไม่ตรง

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่านับเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งยวดของ

'หริรักษ์' ชี้เพื่อไทยขว้างงูไม่พ้นคอ เล่นเกมเขย่าแบงก์ชาติ แต่คนหน้าแหกคือ นายกฯอิ๊ง

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี นักข่าวตั้งคำถามเรื่อง

'ชัชชาติ' ดันศูนย์ BKK Food Bank ครบ 50 เขต แบ่งปันอาหาร 2 ล้านมื้อถึงกลุ่มเปราะบาง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารอาหาร หรือศูนย์ BKK Food Bank แห่งที่ 50 โดยมี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นางสาวมธุรส เบนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูง ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตสะพานสูง

อดีตรองอธิการบดีมธ. เปิดไทม์ไลน์มัดแพทองธาร ต้องรับผิดชอบ ชี้ขบวนการปัดกวาดบ้านเมืองบัดนี้เริ่มทำงานแล้ว

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่านักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ