นายกสมาคมทนายออกแถลงการณ์ 'ทานตะวัน-แบม' ไม่ใช่อาชญากร โยงสาเหตุเพราะรัฐประหาร

31 ม.ค.2566- นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่าตามที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ถอนการประกันตัวตะวันและแบม ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112และ มาตรา 116 จนนำไปสู่การอดอาหารประท้วงคำสั่งศาลในเรือนจำ ดังที่เป็นข่าวอย่างแพร่หลาย นั้น

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่า การกระทำของตะวันกับแบมและเพื่อนๆ แม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม แต่ไม่ได้เกิดจากแรงจูงใจทางอาญา (Criminal Motive) ที่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน หากจะเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง (Political Motive) ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ตนเชื่อว่าจะดีขึ้นซึ่งถือเป็นประโยชน์ส่วนรวม อันเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดจากความเห็นต่างและนำไปสู่การกระทำความผิดดังกล่าว

ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นและสะสมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 จนนำไปสู่การยึดอำนาจการปกครองถึงสองครั้ง เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประเทศชาติจำนวนมากแต่กลับไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและถูกวิธี โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่เลือกใช้วิธีการปราบปรามโดยนำเอาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112และมาตรา 116 และองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่มีไว้เพื่อจัดการกับอาชญากรทางอาญามาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาทางการเมือง จึงทำให้ปัญหาความขัดแย้งที่มีมากอยู่แล้วทวีความซับซ้อนและแก้ไขยากมากขึ้นตามลำดับ ตะวันกับแบมและเพื่อนๆจึงไม่ได้เป็นอาชญากรทางอาญา หากแต่เป็นนักโทษทางความคิดที่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างนักโทษทางการเมืองที่พึงได้รับ

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นต่อไปว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยกระบวนการปรองดอง (Reconciliation Process) ด้วยการนำคู่กรณีแห่งความขัดแย้งทุกฝ่ายและทุกปัญหาเข้าสู่กระบวนการปรองดองเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน โดยใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เรียกว่า “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice)” หรือ “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)” เป็นเครื่องมือในการปรองดอง เพราะบุคคลเหล่านี้แม้จะเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นอาชญากรทางอาญาจึงไม่อาจแก้ไขด้วยวิธีการทางอาญาได้

รัฐบาลพึงตระหนักว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมีความสำคัญยิ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและถูกวิธี ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่การสูญเสียอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะไม่มีประเทศใดบนโลกนี้ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ท่ามกลางความขัดแย้งของผู้คนในชาติ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือศาล จะต้องตระหนักในข้อเท็จจริงนี้ไม่เช่นนั้นรัฐบาลและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมจะกลายเป็นตัวเร่งให้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยขยายวงและบานปลายมากขึ้นจนกลายเป็นตัวปัญหาเสีย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอวรงค์' จวกยับเจ้าของคอก-พวกแพ้เลือกสว. แล้วโทษรัฐประหาร

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา(สว.) เป็นกระบวนการที่ผูกโยงกับพร

ศูนย์ทนายฯ เผย ผูัลี้ภัยไทยยังมี 104 คน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมือง-นิรโทษ 112

ศูนย์ทนายฯ เผย สถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทย ยังมี 104 คนอยู่ต่างแดน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมืองเพื่อไม่เพิ่มผู้ลี้ภัย-รบ.เร่งนิรโทษไม่เว้น 112

'อนาคตไกล' ชี้รัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้นอีก หากบ้านเมืองยังมีนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด

ครบ 92 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย 2475 การเมืองไทยยังวนลูปแย่งชิงอำนาจ “อนาคตไกล” ชี้รัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้นอีก หากบ้านเมืองยังมีนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด

'เรียงหิน' เชื่อคดี 'นช.ทักษิณ' ไม่กระทบรัฐบาล ส่วนคดี 'เศรษฐา' ก็จะชินไปเอง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีอัยการเตรียมนำตัวนาย