โฆษกศาลฯ อบรมชุดใหญ่ 'เจี๊ยบ ก้าวไกล' โวยปมถอนประกันโจ๋ทะลุวัง


19 ม.ค.2566 - สืบเนื่องจากกรณีนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตถึงคำสั่งถอนประกันตัว น.ส.ทานตะวัน จำเลยคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งกระบวนการเรียกไต่สวนหลายประเด็นอันกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม และการตั้งคำถามถึงศาลว่าเป็นเครื่องมือบุคคลใดหรือไม่นั้น

ล่าสุด นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงข้อเท็จจริงและขั้นตอนการสั่งประกัน น.ส.ทานตะวันว่า จากการแถลงข่าวลักษณะดังกล่าว อันอาจส่งผลให้บุคคลทั่วไปที่ได้รับฟังซึ่งมิได้รับทราบถึงกระบวนพิจารณาและความเป็นมาคดีโดยตลอดแต่ต้นมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และสำคัญผิดในข้อเท็จจริงต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงสิทธิเสรีภาพผู้ถูกดำเนินคดีอาญา ศาลยุติธรรมจึงขอแถลงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ดังนี้

1.กรณี น.ส.ทานตะวัน ในชั้นฝากขัง (ชั้นสอบสวน) ขณะตกเป็นผู้ต้องหา ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวตั้งแต่การฝากขังครั้งแรก วันที่ 7 มี.ค.2565 ตีราคาประกันวงเงิน 100,000 บาท และให้ติดอุปกรณ์กำไล EM กับกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือการกระทำการใดในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ภายหลังน.ส.ทานตะวัน มีพฤติการณ์เข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวจากการโพสต์หมายกำหนดการเสด็จฯ และไลฟ์สดระหว่างขบวนเสด็จฯ วันที่ 17 มี.ค.2565 พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลวันที่ 18 มี.ค.2565 ขอเพิกถอนประกันตัว โดยศาลอาญาพิจารณาไต่สวนพยานลักฐานแล้วมีคำสั่งวันที่ 20 เม.ย.2565 ให้เพิกถอนประกัน

กระทั่งเดือน พ.ค.2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ใช้ตำแหน่งยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่ และวันที่ 20 พ.ค.2565 ศาลได้นัดไต่สวนคำร้อง ซึ่งระหว่างนั้น (25 พ.ค.2565) อัยการได้ยื่นฟ้อง น.ส.ทานตะวัน เป็นจำเลยต่อศาลอาญา โดยวันที่ 26 พ.ค.2565 ศาลนัดฟังคำสั่งประกันซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวลักษณะกำหนดเป็นช่วงระยะเวลา กำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่มีคำสั่งวันที่ 26 พ.ค.2565 ให้ทำสัญญาประกัน ตีราคาประกันวงเงิน 100,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์กำไล EM ห้ามออกนอกเคหะสถานตลอดระยะเวลาที่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เว้นแต่เป็นกรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามกระทำการใด ๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเกิดความกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล โดยตั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราว เป็นผู้กำกับดูแลความประพฤติ มีอำนาจในการว่ากล่าวตักเตือนและควบคุมมิให้กระทำผิดเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด หากมีการกระทำผิดเงื่อนไขถือว่าผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวผิดสัญญาประกัน

ขณะที่ น.ส.ทานตะวัน แถลงรับทราบไว้เองในการขอประกันตัวว่ายินดีรับเงื่อนไขทุกอย่างที่ศาลกำหนด และภายหลังจากที่ได้ประกันตัวแล้วระหว่างนั้นตั้งแต่เดือน มิ.ย.2565 – 10 ม.ค.2566 จำเลยและนายประกัน ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อเนื่องหลังจากที่ศาลเคยสั่งปล่อยชั่วคราวลักษณะกำหนดช่วงระยะเวลา คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว รวมทั้งคำขอออกนอกเคหะสถาน ซึ่งศาลอาญาพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม

ทั้งนี้การติดอุปกรณ์กำไล EM เป็นมาตรการที่ศาลยุติธรรมนำมาใช้ในคดีอาญาทุกประเภทมาเป็นเวลาหลายปีอยู่แล้ว มิได้ใช้เฉพาะในส่วนการคุมประพฤติ หรือใช้เฉพาะส่วนของกระบวนการควบคุมของกรมราชทัณฑ์เหมือนดังที่มีการแถลงดังกล่าว

การนำกำไล EM มาใช้มิได้ใช้เฉพาะเจาะจงคดีอาญาลักษณะใดเพียงประเภทเดียวเท่านั้น โดยใช้เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือมิให้ไปกระทำการอันอาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่นหรือฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น

2.กรณีที่กล่าวถึงการเรียกไต่สวนเพื่อพิจารณาว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขสัญญาประกันหรือไม่นั้น สืบเนื่องจากครั้งแรกศาลอาญาได้ไต่สวนการพิจารณาถอนประกัน คดีของนายโสภณ หรือเก็ท (สงวนนามสกุล) จำเลยคดี ตาม มาตรา 112 และคดีของ น.ส.ณัฐนิช หรือใบปอ (สงวนนามสกุล) จำเลยคดีตามมาตรา 112 (กรณีของเก็ท - ใบปอ ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนประกันตัววันที่ 9 ม.ค.2566) ซึ่งพนักงานสอบสวนให้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวโยงถึง น.ส.ทานตะวัน ว่ากระทำการที่ผิดเงื่อนไขการประกันตัว ศาลอาญาจึงได้เรียก น.ส.ทานตะวัน มาสอบถามข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำการตามที่ปรากฏหรือไม่ โดยการเรียกมาสอบถามดังกล่าวเป็นเพราะปรากฎข้อเท็จจริงในชั้นศาลว่ามีการกระทำที่อาจฝ่าฝืนเงื่อนไขเกิดขึ้น ซึ่งในการทำสัญญาประกันตัวเป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยให้สัญญาไว้กับศาล หากภายหลังปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงที่อาจเข้าข่ายเป็นการผิดเงื่อนไข ศาลในฐานะที่เป็นคู่สัญญาประกันและมีอำนาจกำกับให้มีการปฏิบัติตามสัญญาประกันย่อมมีอำนาจเรียกผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมาสอบถามได้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องให้พนักงานสอบสวนหรือบุคคลใดร้องขอก่อน ที่สำคัญอีกประการคือคดีนี้แม้จะมีการเรียกมาสอบถาม แต่ในวันนัด น.ส.ทานตะวัน ขอเลื่อน โดยยังไม่ได้มีการไต่สวนแต่ประการใด โดยมีการกำหนดนัดใหม่ในวันที่ 1 มี.ค. ที่จะถึงนี้

3.สำหรับกรณีที่กล่าวถึงการถอนประกันนั้น ข้อเท็จจริงคือกระบวนการเริ่มจาก น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ หรือแบม (สงวนนามสกุล) จำเลยคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2566 ขอยกเลิกการปล่อยชั่วคราวด้วยตัวเอง ที่ศาลเคยมีคำสั่งให้ประกันตัวไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองคนประสงค์ขอถอนประกันตัวเอง โดยวันดังกล่าว น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ราดสีแดงบนตัว พร้อมอ่านแถลงการณ์ บริเวณหน้าป้ายสำนักงานศาลยุติธรรมและศาลอาญา ริมถนนรัชดาภิเษก ด้วยก่อนที่ น.ส.ทานตะวันและทนายความ จะยื่นคำขอถอนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลอาญา

ส่วน น.ส.อรวรรณและทนายความ แยกไปยื่นคำขอต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ที่มีคดีถูกฟ้องอยู่ ซึ่งทั้งศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตยกเลิกการปล่อยชั่วคราวตามคำขอของจำเลยทั้งสองที่แสดงเจตนายืนยันความประสงค์ไว้อย่างชัดเจน และศาลได้ออกหมายขังทั้งสองกับปลดอุปกรณ์กำไล EM และตรวจคืนหลักประกัน เรียบร้อยตามขั้นตอนกฎหมาย ดังนั้น ข้อเท็จจริงส่วนนี้ จึงไม่ได้เกิดจากการที่ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งเพิกถอนประกัน แต่เป็นไปตามความประสงค์ของ น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณเอง ที่อาจเห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประกันตัวได้ โดยเมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือนายประกันนำตัวมาส่งตัวต่อศาล และแสดงความประสงค์ชัดเจนยืนยันที่จะไม่ประกันตัวอีกต่อไป

โดยศาลได้ดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนปกติทั่วไป มิใช่กรณีเฉพาะพิเศษใด โดยสอบถามยืนยันตัวบุคคล และเจตนาที่ยื่นคำขอแล้วยืนยันที่จะขอถอนประกันตนเอง ดังนั้นศาลย่อมต้องมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนการประกันตัวได้ตามเจตนานั้นเพื่อมิให้เกิดเหตุของการผิดสัญญาประกันที่จะเป็นเหตุให้ต้องมีการปรับตามสัญญาประกันอีก

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำถึงการปฏิบัติหน้าผู้พิพากษาในการอำนวยความยุติธรรมว่า จะเป็นคดีใดก็ตาม หรือไม่ว่าผู้ต้องหาจำเลยจะเป็นบุคคลใด ผู้พิพากษาพึงรักษาความยุติธรรมเสมอบนความถูกต้องตามหลักกฎหมายอันเป็นสากล พร้อมยึดถือหลักนิติธรรม เป็นอิสระปราศจากอำนาจแทรกแซงใด ๆ ใช้ดุลยพินิจด้วยความมีเหตุผลบนความรับผิดชอบต่อภารกิจอำนวยความยุติธรรมโดยเสมอภาค เป็นธรรม และทั่วถึง ไม่ว่าจะยุคสมัยใดศาลยุติธรรมยังคงเป็นที่พึ่งของประชาชนและสังคมโดยรวมเสมอ พร้อมธำรงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อการผดุงความยุติธรรมในทุกด้านอย่างแท้จริง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ

อ้าว! 'อมรัตน์' สมเพช 'นักโต้วาที' เมาตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก Amarat Chokepamitkul อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” ถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

'วิสุทธิ์' รอมติ สส.เพื่อไทย ชงร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ย้ำไม่แตะคดี 112

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ และประธาน สส. พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม สส.พรรค พท.ในวันที่ 29 ตุลาคมว่า เป็นเรื่องปกติ ที่มีประชุมทุกสัปดาห์

พท.ซัดกันเองด่า ‘ขี้ปอด’

เพื่อไทยยังงัดกันเอง! “หมอเชิดชัย” เผยอยากเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ม.112 แบบมีเงื่อนไข ตอก สส.ร่วมพรรคขี้ปอด เรื่องแบบนี้ต้องกล้าหาญ