‘อดีตรองอธิการบดี มธ.’ บอกน่าเสียดายหาก ‘ไอติม’ หลานชายร่วมอยู่ในขบวนปฏิรูปแบบล้มล้างสถาบัน

‘รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร’ โพสต์ถาม ‘ไอติม’ หลานชาย ร่วมอยู่ในขบวนที่พยายามปฏิรูปแบบล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ บอกถ้าใช่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

21 พ.ย.2564-รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ระบุว่า ผมไม่เคยได้พบกับไอติมเลยแม้แต่ครั้งเดียว ได้แต่เห็นปรากฏอยู่ในข่าว ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะถ้านับญาติกันจริงๆ ไอติมก็นับเป็นหลาน เพราะคุณยายของไอติมเป็นลูกผู้พี่ของผม คือเป็นลูกของคุณอาแท้ๆหรือน้องแท้ๆของคุณพ่อผม นับว่าเป็นญาติที่ค่อนข้างใกล้กันไม่น้อย

อย่างที่ผมเคยเขียนหลายครั้งว่า ผมไม่ได้เลือกพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีการทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็เข้าใจดีว่า นั่นเป็นวิธีที่จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลและไม่ให้พรรคเพื่อไทยและระบอบทักษิณกลับมาครอบงำประเทศได้อีก แต่ผมก็ยังเลือกไม่ลงอยู่ดี

เมื่อไอติมลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ พอดีลงสมัครในเขตผม ผมและทุกคนในครอบครัวจึงไม่ลังเลเลยที่จะพากันไปลงคะแนนให้ไอติม ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นญาติ แต่เป็นเพราะเชื่อว่าไอติมคือคนหนึ่งที่เป็นความหวังของการเมืองไทย เป็นคนรุ่นใหม่ พื้นฐานครอบครัวดี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่เข้ายากแสนยาก แต่ไอติมก็สอบตก และผู้ที่ชนะในเขตนั้นก็คือผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ

ทำไมไอติมจึงสอบตก ทั้งที่มีคุณสมบัติพร้อมทุกอย่าง ทำไมคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ในเขตที่ลงสมัครจึงไม่เลือกไอติม แต่พากันไปเลือกผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ คงไม่ใช่เพราะมีความนิยมชมชอบในตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่นิยมชมชอบพลเอกประยุทธ์ก็ตาม นั่นเพราะสมการการเมืองไทยไม่ง่ายเหมือน 1+1 = 2 แต่ในโลกของความเป็นจริงมันซับซ้อนกว่านั้นมาก คนส่วนใหญ่ไปลงคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐ ก็เพราะเขาหมดหวังในพรรคประชาธฺปัตย์ และเชื่อว่า หากไม่เลือกพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทยต้องกลับมาเป็นรัฐบาลแน่ และระบอบทักษิณที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งประวัติศาสตร์จนนำไปสู่การรัฐประหาร 2557 ก็จะกลับมาพร้อมกับพรรคเพื่อไทย คนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมเชื่อว่าทักษิณยังคงครอบงำพรรคเพื่อไทยอยู่ บัดนี้น่าจะเริ่มเชื่อแล้ว

เข้าใจดีว่า รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ไม่ใช่รัฐบาลในฝันของประชาชน แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่า หลังจากลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ไอติมกลับไปนิยมชมชอบพรรคและกลุ่มการเมืองที่มีจุดหมายไม่ต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์ เและป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยและผู้ที่อยู่เหนือพรรคเพื่อไทย ทั้งยังมีความคิดไปในทิศทางเดียวกันกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองเหล่านั้น  ไม่ยอมรับผลการลงประชามติรัฐธรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่มีคนลงคะแนนให้ถึง 16 ล้านเสียง อ้างอยู่ร่ำไปว่า การลงประชามติครั้งนั้นไม่ได้ทำอย่างเสรี และไม่เป็นธรรม อ้างว่าผู้ประท้วงคัดค้านไม่ให้คนไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกจับกุมเนินคดี  ทั้งที่รู้ดีว่าการจับกุมดำเนินคดี เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

การดำเนินการตามกฎหมาย จึงไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคำถามแนบท้ายซึ่งเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลผ่านการทำประชามติด้วยคะแนนเสียงกว่า 16 ล้านเสียง เหตุผลหลักที่ทำให้ร่างรัฐธรรนูญ รวมทั้งคำถามแนบท้ายซึ่งเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลผ่านการทำประชามติ ก็เป็นเหตุผลเดียวกับการที่คนจำนวนมากจำใจต้องลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐนั่นเอง

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอติมและปิยบุตร ที่ถูกคว่ำไปแล้วในสภา คำชี้แจงของไอติมในสภา แสดงถึงความคิดของไอติมที่ยึดหลักการและทฤษฎี จนไม่มองสภาพความเป็นจริงของการเมืองไทยและสังคมไทย การมีสภาเดียวในหลักการก็อาจจะดีและประหยัด เพราะไม่ต้องจ่ายเงินเดือนวุฒิสมาชิกและไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆสำหรับการมีวุฒิสภา แต่เงื่อนไขสำคัญคือ ส.ส.ส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรต้องมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ แต่ความเป็นจริงคือ การที่เราคิดว่าเมื่อประชาชนได้เรียนรู้และได้รับบทเรียนเรื่องการเลือกตั้งแล้ววันหนึ่ง ประชาชนก็จะเลือกแต่คนดีมีความสามารถเข้าสภาเป็นเพียงความเพ้อฝัน เป็นความเพ้อฝันที่ฝันกันมานานถึง 90 ปีแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะเป็นจริงได้ การมีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว และยังให้มีอำนาจมากมายขนาดนั้น เพราะเหตุผลว่าได้รับเลือกตั้งมา จึงเป็นความคิดที่ไร้เดียงสาเกินไป และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อประเทศชาติได้

หากไม่มีวุฒิสภา และไม่มีวุฒิสมาชิกประเภทสรรหา  กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ซึ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรแบบฉลุยเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 1 พ.ย. 2556 ก็คงมีการประกาศใช้ไปแล้ว คนที่ต้องการกลับบ้านแบบไม่มีความผิดอาจได้กลับมาแล้ว แต่จะมีความวุ่นวายตามมาอย่างไรแค่ไหน ไม่มีใครทราบได้

เมื่อพูดถึงวุฒิสภา สมาชิกวุฒิภาชุดปัจจุบัน หากเราดูเป็นคนๆไป จะเห็นว่าวุฒิสมาชิกที่ได้รับเลือกเข้ามา ก็มีเป็นจำนวนมากที่เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ และมีความหวังดีต่อประเทศชาติไม่แพ้ใคร การไปกล่าวหาว่าวุฒิสมาชิกทั้งหมดเป็นพวกรับใช้เผด็จการ และเป็นคนไม่ดีเสียทั้งหมด จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อวุฒิสภาชุดนี้

อย่างไรก็ตาม ยังคงอยากเชื่อว่า สิ่งที่ไอติมทำครั้งนี้ ก็เป็นความหวังดีต่อประเทศชาติอย่างจริงใจ แต่ก็มีข้อกังขาว่า เมื่อไอติมไปร่วมมือกับกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองดังกล่าวอย่างเหนียวแน่น จึงมีคำถามว่า ไอติมร่วมอยู่ในขบวนที่พยายามปฏิรูปแบบล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยหรือไม่ ซึ่งก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดมาไม่เคยได้ยินไอติมให้สัมภาษณ์ตำหนิการกระทำที่เป็นการล่วงเกิน หยาบคาย และรุนแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของคนเหล่านี้แต่อย่างใดเลย

หากคำตอบคือใช่ ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เพื่อไทย' ไม่ฟังเสียงต้าน! ดันทุรังเข็น 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

จับตา! ปม 'นักโทษเทวดา' จุดตาย 'ทักษิณ-เพื่อไทย'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นเพราะคุณไพบูลย์ นิติตะวัน โปรโมตเรื่องหมัดเด็ดที่อาจจะทำให้พรรคเพื่อไทยล่มสลายดีเกินไป

หนุน 'ปชน.' ยุติรื้อจริยธรรม ไม่เห็นด้วยยังดันทุรังแก้รธน.รายมาตรา

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เห็นด้วยกับการยุติแก้ไขประมวลจริยธรรมนักการเมือง ของพรรคประชาชน

ต้องไม่ยอมมัน! อดีตรองอธิการบดี มธ. ปลุกขวางแก้ รธน. ทำลายความถูกต้อง-เป็นธรรม

ความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราครั้งนี้ หากทำได้สำเร็จ จะเป็นลดความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรฐานทางจริยธรรม

โละทิ้ง“จริยธรรม”สุดซอย คืนสิทธินักการเมืองสีเทา

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านจะพักรบ หันมาจูบปากปรองดองชั่วคราว หากไม่ใช่ผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองและพวกพ้องลงตัว

ผู้ว่าฯธปท.จบจากที่ไหน 'นักวิชาการ' แนะดูคลิปแล้วจะตัดสินได้เองว่าสมควรเชื่อใคร

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า s