9 ม.ค.2566 - เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ห้องพิจารณา 814 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปี อดีตประธาน นปช., นายจตุพร หรือตู่พรหมพันธุ์ อายุ 58 ปี ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ หรือเต้น ใสยเกื้อ อายุ 48 ปี เลขาธิการ นปช., นพ.เหวง โตจิราการอายุ 72 ปี, นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 58 ปี, นายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา อายุ 71 ปี, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อายุ 65 ปี, นายนิสิต สินธุไพร อายุ 67 ปี, นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล อายุ 56 ปี, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 72 ปี, นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง อายุ 63 ปี, นายสุขเสก หรือสุข พลตื้อ อายุ 47 ปี
นายจรัญ หรือยักษ์ ลอยพูล อายุ 52 ปี, นายอำนาจ อินทโชติ อายุ 67 ปี, นายชยุต ใหลเจริญ อายุ 50 ปี, นายสมบัติหรือผู้กองแดง มากทอง อายุ 61 ปี, นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ อายุ 38 ปี, นายรชต หรือกบ วงค์ยอด, นายยงยุทธท้วมมี อายุ 67 ปี, นายอร่าม แสงอรุณ อายุ 62 ปี, นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ อายุ 42 ปี, นายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทองอายุ 62 ปี, นายสมพงษ์ หรือแขก บางชม, นายอริสมันต์ หรือ กี้ร์ พงศ์เรืองรอง อายุ 59 ปี ทั้งหมดเป็นแกนนำ, การ์ดและแนวร่วม นปช. เรียงตามลำดับเป็นจำเลยที่ 1-24
ในความผิดข้อหาร่วมกันก่อการร้าย โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ โดยมีความมุ่งหมายขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้กระทำการใด หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1, ขู่เข็ญว่าจะทำการก่อการร้าย โดยสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือตระเตรียมการสมคบกันเพื่อก่อการร้าย มาตรา 135/2 และร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ส่วนนายยศวริศ จำเลยที่ 7 ถูกฟ้องเพิ่มในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 358 และนายอริสมันต์ จำเลยที่ 24 ถูกฟ้องเพิ่มในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินฯ มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ หรือเป็นหัวหน้าสั่งการฯ มาตรา 215 และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำแล้วไม่เลิก มาตรา 216 ทั้งหมดตามประมวลกฎหมายอาญา
คำฟ้องโจทก์ระบุกรณีพวกจำเลยได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 20 พ.ค. 2553 เพื่อกดดัน ต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ อ้างว่า นายอภิสิทธิ์มาเป็นนายกฯ โดยมิชอบ และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งพวกจำเลยได้ร่วมกันจัดการชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และบริเวณแยกราชประสงค์ นอกจากนั้น ยังมีการเดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ด้วย มีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ยิงใส่บ้านพักประชาชน สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง มีการฝึกกำลังคนและฝึกการใช้อาวุธเพื่อการก่อการร้าย
จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวชั้นพิจารณาด้วยหลักทรัพย์ 600,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการใดๆ ลักษณะดูหมิ่นผู้อื่น ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ของผู้อื่น หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กับห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด ว่าไม่มีความผิดฐานก่อการร้าย
ในวันนี้ นายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายจตุพร, นพ.เหวง แกนนำและแนวร่วม นปช. ที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาฟังคำพิพากษาครบทุกคน ยกเว้น นายสมบัติ มากทอง จำเลยที่ 16 เสียชีวิต กับนายสุรชัย เทวรัตน์ จำเลยที่ 17 และนายอริสมันต์ จำเลยที่ 24 ที่หลบหนี ขณะเดียวกันได้อ่านคำพิพากษาผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์ไปให้นายสมพงษ์ บังชม จำเลยที่ 23 ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯฟัง นอกจากนี้ ยังมี นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษานปช., นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช. คนใกล้ชิดและผู้ติดตามเกือบ 30 คนที่เดินทางมาให้กำลังใจกลุ่มนปช. ร่วมฟังคำพิพากษา ขณะที่ทางศาลมีตำรวจจาก สน.พหลโยธิน และเจ้าพนักงานตำรวจศาล (คอร์ทมาแชล) เข้าร่วมรักษาความปลอดภัยบริเวณศาลและภายในห้องพิจารณาคดี
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์นำสืบฟังได้ว่านายยศวริศ จำเลยที่ 7 ประกาศให้ผู้ชุมนุมร่วมกันรื้อค้นและทุบทำลายรถยนต์ของทางราชการได้รับความเสียหาย มีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 และกระทำการให้กลัวว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และเป็นการข่มขืนใจเจ้าหน้าที่ให้ยินยอมโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย อันเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง
ส่วนนายสุขเสก จำเลยที่ 12 พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ และมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการนำเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ระเบิดลูกเกลี้ยงและกระสุนปืน จำนวนหนึ่งไปให้บุคคลนำไปฝังซึ่งต้องการปิดบังอำพรางอาวุธดังกล่าว โดยมีพยานซึ่งเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รู้เห็นมา พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 12 เป็นผู้ใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ขณะเจ้าหน้าที่ปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ
การกระทำของจำเลยที่ 12 จึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายของบุคคลใด เพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนอันเป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง และ 358 ประกอบมาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 12 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 ให้เรียงกระทงลงโทษ จำเลยที่ 7 ฐานข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำคุก 5 ปีและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 8 ปี คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้างลดโทษให้ 1ใน 3 คงจำคุกรวม 5 ปี 4 เดือน และให้นับโทษจำเลยที่ 7 ต่อจากคดีหมายเลขแดง อ.193/2556 ของศาลชั้นต้น ส่วนสุขเสก จำเลยที่ 12 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันก่อการร้าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ขณะนี้นายยศวริศ จำเลยที่ 7 และนายสุขเสก จำเลยที่ 12 อยู่ระหว่างยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัวสู้คดี
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่าวันนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อการร้าย อันเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มนปช. เมื่อปี 2553 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และวันนี้ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายกฟ้อง สาระสำคัญคือ ข้อกล่าวหาของอัยการซึ่งเป็นโจทก์ ไม่ได้มีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าการชุมนุมของกลุ่มนปช. โดยคณะแกนนำมีเจตนาที่จะสร้างความรุนแรง สร้างความเสียหาย หรือใช้กำลังอาวุธในการชุมนุมแต่อย่างใด ที่มีการกล่าวหาว่ามีกองกำลังติดอาวุธ หรือชายชุดดำปรากฏตัวในการชุมนุมนั้น ก็ไม่ได้ปรากฏพยานหลักฐาน หรือข้อเท็จจริง ว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้อง หรือคณะแกนนำนปช.มีส่วนรู้เห็นในการกำกับสั่งการแต่อย่างใด ประกอบกับข้อกล่าวหาก่อการร้ายนี้จะต้องมีเจตนาพิเศษ ซึ่งตนมองว่าจะก่อการรุนแรงให้เกิดความเสียหายทั้งร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และเจ้าหน้าที่ แต่การชุมนุมของกลุ่มนปช. ไม่ได้ปรากฏพฤติการณ์ดังกล่าว
นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า พวกตนเคารพในคำพิพากษาและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อสู้ทุกคดีความมาโดยตลอดจนปัจจุบัน วันนี้ตนขอพูดเหมือนเช่นที่เคยพูดไว้หลังจากฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ว่าไม่ได้เป็นชัยชนะ หรือความพ่ายแพ้ระหว่างโจทก์กับจำเลย พวกตนไม่ได้มีความรู้สึกว่าเราได้รับชัยชนะต่อเจ้าพนักงานอัยการ หรือเราไม่ได้มีความรู้สึกว่านี่คือการต่อสู้กันระหว่างสองฝ่าย แต่ที่จริงมันคือการปฏิบัติหน้าที่กันอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ผ่านกระบวนการยุติธรรมโดยมีศาลท่านเป็นผู้พิพากษา วันนี้ผลแห่งคำพิพากษาซึ่งตรงกันทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อย่างที่กล่าวไว้พวกตนน้อมรับ และอยากให้คำพิพากษานี้เป็นเกียรติยศกับพี่น้องประชาชนที่ร่วมต่อสู้ในนามของคนเสื้อแดง ให้คำพิพากษานี้เป็นเกียรติยศของประชาชนที่สูญเสียชีวิต บาดเจ็บหรือสูญเสียอิสรภาพจากการต่อสู้ของคนเสื้อแดง พิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมว่าเราต่อสู้โดยยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตยไม่มีเป้าหมายหรือเจตนาอื่น
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าเมื่อศาลวินิจฉัยออกมาแล้ว ก็อยากจะให้สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญจุดหนึ่งที่จะทำให้สังคมไทยเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกันในทางการเมือง หากจะมีความไม่เข้าใจความจริงทางกันอยู่ก็ขอให้พวกตนซึ่งเป็นแกนนำได้ทำหน้าที่พิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ส่วนในระหว่างประชาชนไม่ว่าจะสีไหนฝ่ายใด ตนมองว่าเราน่าจะเข้าอกเข้าใจรับฟังกันเห็นอกเห็นใจกัน
ส่วนการดำเนินการหลังจากนี้ ตนยังไม่ทราบ คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ พิพากษามาตรงกัน ก็ต้องรอดูกระบวนการว่าจะเป็นอย่างไร ขอกลับไปหารือกับทีมฝ่ายกฎหมายให้ชัดเจนก่อนโดยจะคัดเอาสำเนาคำพิพากษามาศึกษากันอย่างครบถ้วน เพื่อดำเนินการต่อสู้ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เหวง' สาธุ 'ณัฐวุฒิ' จะทวงยุติธรรมให้เสื้อแดง
นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำนปช. โพสต์เฟซบุ๊กว่า ณัฐวุฒิเคยแถลงต่อสาธารณชนว่าดีเอสไอแจ้งให้ทราบว่าตำรวจได้สอบสวน 99 ศพแล้ว 68 ศพที่เหลือไม่ได้ตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่และได้ส่งอัยการไปแล้ว อัยการตรวจสอบแล้วให้ยกเลิกการดำเนินการกฏ
ตั้งป้อมชน 'ระบอบทักษิณใหม่' ประเดิม 18 ธ.ค. บุก ป.ป.ช. หึ่งล็อบบี้หนักล้มคดีชั้น 14
วงหารือฝ่ายต้านรัฐบาล ตั้งป้อมชน 'ระบอบทักษิณใหม่' นำร่อง 18 ธ.ค. บุกตึก ป.ป.ช. หลังได้กลิ่นล็อบบี้หนัก 3 กรรมการฯ ล้มคดีชั้น 14
เสื้อแดงตาสว่างหรือยัง 'ใบอนุญาต' ประจานทักษิณ-เพื่อไทย!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์เรื่องใบอนุญาต2ใบในการจัดตั้งรัฐบาล โดยตั้งคำถามว่า ทำไมพรรคการเมืองกลับเลือกใช้วิธี “หมอบ สยบยอม เอาใจ” ผู้ออกใบอนุญาตที่ 2
'อนุสรณ์' โวลั่น 'อุดรธานี' ยังคงเป็นเมืองหลวงคนเสื้อแดง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.)ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี
เสื้อแดงไม่เข็ด 'จตุพร' ชี้เปรี้ยง 'ทักษิณ' โชว์เหลี่ยมต้มอีกแล้ว!
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า การปราศรัยของทักษิณ ชินวัตร ที่อุดร ส่อถึงอาการไม่มั่นใจในผลการพิจารณาคำร้องของศาล รธน. ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ย.นี้
ระวังปากพาจน! 'ทักษิณ' สามหาว เสี่ยงขัดแย้งประเทศเพื่อนบ้าน
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ทักษิณ ปราศรัย ระวังปากพาจน" โดยระบุว่า