'ชาญชัย' ชี้จัดซื้อป้ายสถานีกลางบางซื่อ ส่อโกงกันมานาน รัฐบาลไม่จัดการเด็ดขาด

7 ม.ค.2566 - นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการปรับปรุงเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ มูลค่าโครงการรวมภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 33,169,726.39 บาท ว่า  โครงการปรับปรุงเปลี่ยนป้ายชื่อดังกล่าวใช้วิธีการจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง ให้บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แต่หลักของวิธีการจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจงนั้น  รัฐต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว  หรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทย และไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้  หรือเป็นกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้พัสดุนั้นโดยฉุกเฉิน เนื่องจากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติหรือเกิดโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือวิธีคัดเลือก อาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง  ซึ่งกรณีนี้ ตนเชื่อว่า ไม่เข้าข่ายการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง
 
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร  ก็ได้มีการตรวจสอบการดำเนินการและพบว่า มีความผิดปกติเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างก่อนเริ่มโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่คณะกรรมการกำหนดราคากลาง ตั้งงบฯ ก่อสร้างครั้งแรกเมื่อเดือนพ.ค. 51 รวมทั้งสิ้น 73,347 ล้านบาท ต่อมามีการตรวจสอบปรับลดวงเงิน โดย ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 52  ให้เหลือ 61,278 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 ช่วง ของการก่อสร้างตลอดเส้นทาง ซึ่งมี 4 บริษัทใหญ่เข้าประมูล ในวันที่ 4 ก.ค. 54 หลังประกาศผลการเลือกตั้งในปีนั้นเพียง 1 วัน ทั้งนี้ บริษัทซิโน-ไทย เกรงว่า จะไม่ได้งาน จึงลดราคาจากการประมูลลงมาอีก 3,400 ล้านบาท ชี้ให้เห็นว่า ราคาประมูลงานนี้ บริษัทรับเหมาตั้งราคาประกวดสูงกว่าราคากลางที่ตั้งไว้มาก  เพราะยังสามารถลดลงได้อีก ต่อมาในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทางผู้ว่าฯ รฟท. และบอร์ด มีมติให้หาราคากลางที่เหมาะสม  โดยอ้างว่า ระเบียบสามารถเพิ่ม หรือลดวงเงินได้อีก 10% คิดเป็นเงิน 7,500 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มวงเงิน ทั้งที่ต้องกู้เงินลงทุนจาก ไจก้าของญี่ปุ่น ถือว่าเป็นการทำผิดระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฯ ผิดทีโออาร์ และ ผิด พ.ร.บ.การเสนอราคา พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
 
"ถือว่าเป็นอีกตัวอย่างโครงการทุจริต ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ควรสะสางตั้งแต่สมัยเป็นหัวหน้า คสช. เพราะได้ชูนโยบายปราบโกงเป็นเรื่องหลัก ซึ่งโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ในอดีต ที่มีการบวกตัวเลขจากราคากลางไว้มาก แม้จะส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช. แล้ว แต่ก็ถูกดองเค็มไว้ ไม่ได้ทำอะไร ทั้งๆ ที่มีหน้าที่โดยตรง เพราะหลายหมื่นล้านบาท จากหลายๆ โครงการ รวมกันได้หลายแสนล้านบาท ที่ไม่มีการรักษาผลประโยชน์ให้รัฐ ผมเคยขอความเป็นธรรมให้ประเทศไทย เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้ มาตรา 44 เพื่อย้ายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งให้คุณและโทษได้ ออกไปก่อน  และใช้กฎหมาย ปปง. เข้ายึด อายัดทรัพย์ เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของที่มาที่ไปของทรัพย์สิน การปราบโกงจึงจะสำเร็จ แต่จนมาถึงสมัยรัฐบาลนี้ ปัญหาดังกล่าวก็ยังถูกสะสมหมักหมมอยู่เหมือนเดิม" นายชาญชัย กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จุรินทร์' ยึดหลัก 4 ข้อ โหวตแก้รธน. เชื่อ สว. ลงมติมีเหตุผลอยู่แล้ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภา จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา

‘ชวน’ ร่อนหนังสือถึงผู้ตรวจฯ-กกต.แก้ปมผู้บริหารท้องถิ่นลาออกก่อนครบวาระ

นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าตนพร้อมด้วยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน  และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)