'อ.ทองย้อย' แนะนำบทสวด 'มหากัสสปโพชฌังคสูตร'

อาจารย์ทองย้อยแนะนำบทสวดมหากัสสปโพชฌังคสูตร เผยเป็นโพชฌงค์ฉบับเต็มอยู่ในพระไตรปิฎก ชวนใช้สวดเสริมกับโพชฌงคปริตรก็ได้

21 ธ.ค.2565 - พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “มหากัสสปโพชฌังคสูตร” มีเนื้อหาว่า ช่วงเวลานี้ วัดต่าง ๆ มีการสวดบทสวดมนต์ที่เรียกว่า “โพชฌงค์” หน่วยงานและประชาชนทั่วไปก็ชักชวนเชิญชวนกันสวดด้วย ตามที่คณะสงฆ์ขอความร่วมมือ นับเป็นกิจที่ควรแก่การอนุโมทนา

ทำไมจึงสวดโพชฌงค์ คงมีผู้อธิบายให้รับรู้กันทั่วไปแล้ว ขอผ่านประเด็นนี้ไป

ผมเข้าใจว่า “โพชฌงค์” ที่สวดกันนั้นคงเป็นบทที่เรียกว่า “โพชฌงคปริตร” อันเป็นพระปริตรบทหนึ่งที่พระสงฆ์ท่านสวดในการเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคลซึ่งเราท่านย่อมได้สดับกันอยู่เนือง ๆ

“โพชฌงคปริตร” ดังกล่าวนี้อาจเรียกว่าเป็นโพชฌงค์ฉบับย่อ คือ เป็นบทที่โบราณาจารย์ท่านเก็บความในโพชฌงคสูตรในพระไตรปิฎกมาเรียบเรียงขึ้นและนิยมใช้สวดกันสืบมา

ยังมีโพชฌงค์สูตรซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโพชฌงค์ฉบับเต็มอยู่ในพระไตรปิฎก แต่ชาวเรา-คือ ทั้งชาววัด และชาวบ้าน-ไม่ได้นำมาสวดกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นโพชฌงค์ต้นฉบับ นับว่าชอบกลอยู่

ผมพิจารณาเห็นว่า โพชฌงค์ฉบับเต็มน่าศึกษาและน่าสวด จึงขออัญเชิญจากพระไตรปิฎกมาเสนอไว้ในที่นี้
โพชฌงคสูตรในพระไตรปิฎกเท่าที่เห็นมี 3 สูตร คือ มหากัสสปโพชฌังคสูตร มหาโมคคัลลานโพชฌังคสูตร และมหาจุนทโพชฌังคสูตร ในที่นี้ขอนำเฉพาะมหากัสสปโพชฌังคสูตรมาเสนอเพียงสูตรเดียวก่อน อีก 2 สูตรนั้นสาระสำคัญตรงกัน ต่างกันที่มหาโมคคัลลานโพชฌังคสูตรว่าด้วยพระมหาโมคคัลลานะอาพาธ พระพุทธองค์ทรงแสดงโพชฌงค์โปรด และมหาจุนทโพชฌังคสูตรว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงอาพาธ รับสั่งให้พระมหาจุนทะสาธยายโพชฌงค์ให้ทรงสดับ

ผู้สนใจรายละเอียดสามารถตามไปศึกษาได้จากที่มาเดียวกันกับมหากัสสปโพชฌังคสูตร

ท่านที่มีศรัทธาจะสวด ถ้าจะใช้มหากัสสปโพชฌังคสูตรนี้สวดเสริมเพิ่มขึ้นจากโพชฌงคปริตรที่สวดกันทั่วไปแล้ว ก็น่าจะดี

เวลานี้เราสวดมนต์โดยวิธีกางหนังสืออ่านกันทั่วไป เพราะฉะนั้น หากจะกางมหากัสสปโพชฌังคสูตรเพิ่มขึ้นอีกสักบทหนึ่งก็คงไม่ลำบากอะไร

คำเสนอแนะของผมก็คือ ควรจะอ่าน-เหมือนอ่านหนังสือ-ไปสักหลาย ๆ เที่ยวก่อน โดยเฉพาะควรทำความเข้าใจหรือหาความรู้จากคำแปลด้วย จะได้รู้ความหมายที่สวด แต่เวลาสวดออกเสียงสวดเฉพาะคำบาลี โดยไม่ต้องพะวงกับคำแปล อยากรู้ความหมายก็มาอ่านเอาทีหลังได้

โพชฌงคสูตรจะศักดิ์สิทธิ์หรือจะรักษาโรคได้จริงหรือไม่-นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ขออนุญาตเสนอแนะว่า-อย่าไปคำนึงถึง ประเด็น คือ สวดแล้วจิตของเราเป็นสมาธิ เป็นกุศล ทั้งได้ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมไปด้วย-เท่านี้ก็คุ้มค่าแล้ว ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่ประเด็น

ขออนุโมทนาสาธุการกับทุกท่านครับ
................................................
มหากัสสปโพชฌังคสูตร
................................................
เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา ราชะคะเห วิหะระติ เวฬุวะเน กะลันทะกะนิวาเป ฯ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถานใกล้กรุงราชคฤห์

เตนะ โข ปะนะ สะมะเยนะ อายัส๎มา มะหากัสสะโป ปิปผะลิคุหายัง วิหะระติ อาพาธิโก ทุกขิโต พาฬหะคิลาโน ฯ
ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะอาพาธ ไม่สบาย เป็นไข้หนักอยู่ที่ปิปผลิคูหา

อะถะ โข ภะคะวา สายัณหะสะมะยัง ปฏิสัลลานา วุฏฐิโต เยนายัส๎มา มะหากัสสะโป เตนุปะสังกะมิ อุปะสังกะมิต๎วา ปัญฺญัตเต อาสะเน นิสีทิ ฯ นิสัชฺชะ โข ภะคะวา อายัส๎มันฺตัง มะหากัสสะปัง เอตะทะโวจะ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปะถึงที่อยู่ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระมหากัสสปะว่า

กัจจิ เต กัสสะปะ ขะมะนียัง กัจจิ ยาปะนียัง กัจจิ ทุกขา เวทะนา ปะฏิกกะมันติ โน อะภิกกะมันติ ปะฏิกกะโมสานัง ปัญญายะติ โน อะภิกกะโมติ ฯ
ดูก่อนกัสสปะ เธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กําเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกําเริบขึ้นไม่ปรากฏแลหรือ

นะ เม ภันเต ขะมะนียัง นะ ยาปะนียัง พาฬหา เม ทุกขา เวทะนา อะภิกกะมันติ โน ปะฏิกกะมันติ อะภิกกะโมสานัง ปัญญายะติ โน ปะฏิกกะโมติ ฯ
ท่านพระมหากัสสปะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม้ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กําเริบหนัก ยังไม่คลายไป ความกําเริบขึ้นย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ

สัตติเม กัสสะปะ โพชฌังคา มะยา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตันติ ฯ
ดูก่อนกัสสป โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อนิพพาน

กะตะเม สัตตะ ฯ
โพชฌงค์ 7 เป็นไฉน?

สะติสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
ธัมมะวิจะยะสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
วิริยะสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
ปีติสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
ปัสสัทธิสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
สะมาธิสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
อุเปกฺขาสัมโพชฌังโค โข กัสสะปะ มะยา สัมมะทักขาโต ภาวิโต พะหุลีกะโต อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ

ดูก่อนกัสสปะ สติสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความระลึกได้) เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อนิพพาน
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความสอดส่องสืบค้นธรรม) ...
วิริยสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความเพียร) ...
ปีติสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความอิ่มใจ) ...
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความผ่อนคลายสงบเย็นกายใจ) ...
สมาธิสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความมีใจตั้งมั่น) ...
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้คือความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง) เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อนิพพาน

อิเม โข กัสสะปะ สัตตะ โพชฌังคา มะยา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตันตีติ ฯ
ดูก่อนกัสสปะ โพชฌงค์ 7 เหล่านี้แล เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อนิพพาน

ตัคฆะ ภะคะวา โพชฌังคา ตัคฆะ สุคะตะ โพชฌังคาติ ฯ
ท่านพระมหากัสสปะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โพชฌงค์เป็นจริงดังพระดำรัส ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์ถูกต้องดังพระดำรัส

อิทะมะโวจะ ภะคะวา ฯ อัตตะมะโน อายัส๎มา มหากัสสะโป ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทิ ฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหากัสสปะปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า

วุฏฐาหิ จายัส๎มา มะหากัสสะโป ตัมหา อาพาธา ตะถา ปะหีโน จายัส๎มะโต มะหากัสสะปัสสะ โส อาพาโธ อะโหสีติ ฯ
ท่านพระมหากัสสปะหายจากอาพาธนั้นแล้ว และอาพาธนั้นอันท่านพระมหากัสสปะละได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
................................................
ที่มา: สังยุตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 19 ข้อ 415-419

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ท่านจันทร์' ชี้ชัด 'ว.วชิรเมธี' ผิดพลาดฉกรรจ์ เทศน์สวนทางคำสอนพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง

สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ หรือ ท่านจันทร์ สำนักสันติอโศก โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กถึงกรณี พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี) หรือ ว.วชิรเมธี ไปเทศน์ที่บริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป ว่า

'พิชิต' นำทีม พศ. แจง 'เชื่อมจิต' ไม่มีในพระไตรปิฎก เปิดช่องให้ดำเนินคดี

'พิชิต' เรียก 'สำนักพุทธฯ' แถลงยืนยัน 'เชื่อมจิต' ไม่มีในพระไตรปิฎก เปิดช่องให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง-ผู้เสียหาย ดำเนินคดีต่อ

ต้องอ่าน! อ.ทองย้อยชำแหละสันดานนักการเมือง

อ.ทองย้อยเขียนบทความเรื่องอนาคตบ้านเมืองเรา ตีแผ่สันดานนักการเมืองตอกย้ำผู้ทำงานสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ชี้คนที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองต้องบำเพ็ญตนแบบเดียวกับพระโพธิสัตว์

‘อ.ทองย้อย’ เขียน’ถวายข้อคิดเพื่อโปรดพิจารณา’ สิ่งที่เป็นหน้าที่ของสงฆ์

กรณีพระราชทานสมณศักดิ์เป็นอำนาจโดยตรงของพระราชา ฉันใด กรณีศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และสอนธรรม ก็เป็นหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์

'พล.ร.ต.ทองย้อย' เล่าประวัติศาสตร์เรือรบไทยมีอาถรรพณ์!

'พล.ร.ต.ทองย้อย' ไล่เรียงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ 4 เรือหลวง มีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจทั้งในเรื่องลำดับการเกิดเรื่องรวมทั้งความเกี่ยวข้องกับยุคสมัย

'อ.ทองย้อย' หวังให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันฉลาดเรื่องพระ!

พล.ร.ต.ทองย้อยออกบทความเรื่องช่วยกันฉลาดเรื่องพระ ชี้จะเป็นการช่วยพระรักษาพระธรรมวินัย เพราะทุกวันนี้ทั้งพระและฆราวาสต่างไม่รู้เรื่องที่พระห้ามทำและเรื่องที่ต้องทำ บอกคนรุ่นใหม่ที่ทะนงตัวว่าฉลาดช่วยฉลาดเรื่องพระอีกเรื่อง