ถอดรหัสคณิตศาสตร์ทางการเมือง 'ดร.ณัฎฐ์' แนะแก้เผ็ด งูเห่าลาออก ดึงเกมยุบสภาใกล้ครบอายุ

ถอดรหัสสมการคณิตศาสตร์ทางการเมือง 'ดร.ณัฎฐ์' ชี้องค์ประชุม กึ่งหนึ่ง รัฐบาลครองเสียงข้างมาก ไม่ปริ่มน้ำ ยังมีเสถียรภาพ แนะทำงานแก้ไขปัญหาปชช.ได้ใจกว่า แก้เผ็ด งูเห่า ลาออก ดึงเกมยุบสภาใกล้ครบอายุ

16 ธ.ค.2565 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยจำนวน ส.ส.ในสภา หลังมีสมาชิกลาออกจำนวนมาก ทำให้เหลือส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ได้ในสภา ณ วันที่ 15 ธ.ค. 2565 มีจำนวน 442 คน และองค์ประชุมคือ 221 คน แบ่งเป็น พรรคร่วมรัฐบาล 16 พรรค รวม 250 คนและพรรคฝ่ายค้านจำนวน 192 คน

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์นักด้านกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์”ในประเด็นจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ในสภาและทิศทางการเมือง กล่าวว่า ปกติของ ส.ส.ที่ประสงค์ย้ายค่ายตามโปรโมชั่นต่างๆ จะเห็นปรากฏการณ์การลาออกจาก ส.ส.เพื่อแสดงตนกับพรรคการเมืองที่จะไปสังกัดใหม่ เพราะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของอายุรัฐบาล การลาออก ทำให้สมาชิกภาพของ สส.สิ้นสุดลง ตามมาตรา 101(3) แห่งรัฐธรรมนูญ
.
ผลทางกฎหมาย มาตรา 105(1)เปิดช่องไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต เพราะอายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีของพรรคการเมืองนั้นๆเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่างลงโดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง แต่กรณีของ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ที่ย้ายพรรคมาจากกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ กลไกมาตรา 101 เปิดช่องให้ ส.ส.ไม่สิ้นสมาชิกภาพ แต่ต้องไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 101(1) แต่คะแนนบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่สิ้นไป ไม่สามารถโอนคะแนนไปได้ ทำให้ไม่มีรายชื่อเหลืออยู่ในบัญชีที่จะเลื่อนขึ้นมาแทนตำแหน่งที่ว่างลงให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ตามมาตรา 105(2) ตอนท้าย
.
ส่วนองค์ประชุม ได้บัญญัติไว้ใน หมวด 7 รัฐสภา ส่วนที่ 4 ว่าด้วยบทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง โดยถือสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ประกอบข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 25 วรรคสอง ปัจจุบัน มี ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ได้ในสภา ณ วันที่ 15 ธ.ค. 2565 มีจำนวน 442 คน โดยองค์ประชุมกึ่งหนึ่ง จำนวน 221 คน นั้น หากพิจารณาถึงฝ่ายรัฐบาลยังคงครองเสียงข้างมากในสภา คือ 250 เสียงจาก 16 พรรคการเมือง ส่วนฝ่ายค้านยังมีเสียงข้างน้อย 192 เสียง จาก 7 พรรคการเมือง หากถอดรหัสสมการทางการเมือง องค์ประกอบ 221 เสียงของทั้งหมดเท่าที่อยู่ในสภา ไม่ทำให้เสียงปริ่มน้ำ เพราะการลาออกของ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทำให้จำนวนเท่าที่มีอยู่ 442 เสียง สภายังเดินหน้าต่อไปได้ ประกอบกับเสียงฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านห่างกันถึง 58 เสียง การประชุมพิจารณากฎหมายสำคัญ รัฐบาลยังสามารถบริหารงานต่อไปได้ ไม่มีผลกระทบแต่ประการใด เว้นแต่การตีรวน ไม่เข้าประชุม จะทำให้องค์ประชุมล่ม ทางแก้มาตรา 120 วรรคสี่ รายงานการประชุมและบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคน ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบได้โดยทั่วไป แล้วประชาชนจะได้สั่งสอนลงโทษ ส.ส.เหล่านี้ในวันเลือกตั้ง เพราะการเข้าประชุมสภา คือ หน้าที่โดยตรงของ ส.ส. ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น ปรากฏการณ์ ส.ส.ลาออกเพื่อย้ายพรรค ย้ายค่ายใหม่ ถือเป็นปกติทางการเมือง หากเทียบเคียงในอดีตสมัยพรรคความหวังใหม่ของ บิ๊กจิ๋ว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ปรากฎการณ์ ส.ส.แห่ลาออก แต่รัฐบาลสมัยนั้นยังบริหารประเทศต่อไปได้เกือบครบวาระและยุบสภาช่วงใกล้ครบอายุสภา
.
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทิศทางการเมืองและการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองในการเข้าสู่สนามการเลือกตั้งมีช่องทางกฎหมายอย่างไร ดร.ณัฎฐ์ กล่าวว่า กฎหมายพรรคการเมืองที่แก้ไขใหม่ จะเป็นตัวแปรสำคัญ โดยวิธีการสรรหาผู้สมัคร พรรคการเมืองต้องมีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะหากขาดขั้นตอนหรือกระบวนการใด แล้วถูกร้องเรียนอาจถูกดำเนินคดีอาญา โดยการสรรหาผู้สมัครแบบแบ่งเขต กฎหมายกำหนดว่า จะทำได้ก่อนมีพระราชกฤษฎีกาวันเลือกตั้ง ดังนั้น สาขาและตัวแทนพรรคการเมือง อย่างน้อยหนึ่งที่ หรือถ้ามีหลายแห่ง พรรคต้องกำหนดให้สาขาใดหรือตัวแทนพรรคใด เป็นผู้สรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้น โดยจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองก่อน สำหรับวิธีการสรรหาแบบแบ่งเขต คณะกรรมการสรรหาต้องกำหนดวัน เวลา สถานที่ เพื่อให้ผู้สมัครสมาชิกพรรค มายื่นความประสงค์จะเป็นผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เมื่อได้ครบหรือปิดประกาศรับสมัคร คณะกรรมการสรรหาต้องตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าว ก่อนส่งให้สาขาหรือตัวแทนพรรค จัดประชุมรับฟังความเห็นผู้สมัคร โดยการจัดประชุม กฎหมายกำหนดให้ กกต. เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ และเมื่อสาขาหรือตัวแทนจังหวัดให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ส่งชื่อต่อคณะกรรมการสรรหาพิจารณาอีกครั้งว่า เห็นชอบหรือไม่ ก่อนส่งไปยังกรรมการบริหารพรรคพิจารณาครั้งสุดท้าย  ถ้าเห็นชอบรายชื่อผู้ใด ให้หัวหน้าพรรคออกหนังสือรับรองเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และยื่นต่อ กกต.ในวันสมัคร ส่วนผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีความคล้ายกัน ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองต่างๆ เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. หากมองในสภาพบังคับกฎหมาย ถือว่าสูญเปล่า จะต้องย้อนไปเริ่มต้นกระบวนการที่กฎหมายกำหนด หลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการใหม่
.
ส่วนการเตรียมความพร้อมสู่สนามการเมือง หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เทคนิคยุบสภาก่อนครบวาระ ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2566 จะเป็นช่องว่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 วรรคท้าย เปิดช่องให้ กกต.ประกาศวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ จะทำให้ Time Line การเลือกตั้ง ขยายออกไป อาทิ ยุบสภา วันที่ 20 มีนาคม 2566 จะทำให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งได้ปลายเดือนพฤษภาคม 2566 เพราะต้องบวกอีก 5 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ทั้งส่งผลให้กฎเหล็กการกำหนดกรอบหาเสียง 180 วันนับถึงก่อนวันเลือกตั้ง ตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 68(1)สิ้นผลไป อีกทั้ง มาตรา 97(3) แห่งรัฐธรรมนูญ ยังเปิดช่องให้ ผู้สมัคร ส.ส.สังกัดหรือย้ายพรรคเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลา 90 วัน ให้ลดลงเหลือ 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง ย้ำ ให้นับถึงวันเลือกตั้ง ส.ส. เช่น กรณียุบสภา 20 มีนาคม 2566 กกต.จะต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่เกิน 60 วัน โดย กกต.จะเคาะวันเลือกตั้งใหม่ จากเดิม 7 พ.ค.กรณีอยู่ครบวาระ เป็นปลายเดือน พ.ค. หากจะย้ายค่าย ย้ายโปร สามารถย้ายพรรคได้ ในเดือนเมษายน 2566 ไม่เห็นจะต้องมีความจำเป็นรีบร้อนลาออกจาก ส.ส.เลย

"กลไกฝ่ายนิติบัญญัติยังสามารถทำงานต่อไปได้ควบคู่ฝ่ายบริหาร เพราะอำนาจยุบสภาอยู่ในมือของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดียว การลาออกจาก ส.ส.แม้จะเป็นสิทธิตามกฎหมาย ช่องทางแก้ยุบสภาใกล้ครบอายุสภาใช้วิธีดัดหลัง แก้เผ็ด พวกย้ายค่าย ย้ายโปร ย้ายพรรคการเมือง หรือ พวกวิ่งลอกย้ายพรรคเป็นว่าเล่น ดังนั้น รัฐบาลยังมีเสถียรภาพ เน้นทำงานแก้ไขปัญหาให้แก่ประเทศชาติเป็นหลัก ได้ใจประชาชนมากกว่า" ดร.ณัฎฐ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.ณัฏฐ์ มองการเมืองไทยปี 68 'รัฐบาลอิ๊งค์' มีเสถียรภาพ อยู่ยาวถึงปี 70

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้การเมืองไทยปี 2568 “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” กุมเสียงข้างมาก รัฐบาลมีเสถียรภาพ แม้เจอโรครุมเร้า นักร้องเรียนรายวัน ยังไม่มีตัวแปรใดล้มรัฐบาล ฟันธง รัฐบาลอยู่ยาวถึงปี 2570

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้เลือกตั้งอบจ.ระอุ! 'บ้านใหญ่' ยังขลัง-บางแห่งเสื่อมตามกาลเวลา

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ การเมืองท้องถิ่น อบจ. ระอุ บ้านใหญ่ยังขลัง แต่บางแห่งเสื่อมไปตามกาลเวลา ข้าราชการการเมือง ส.ส.ช่วยหาเสียงได้

ดร.ณัฏฐ์ ชี้ชัด 'ประชามติชั้นเดียว' แค่ยกแรก 'แก้รธน.ทั้งฉบับ' เจอด่านหิน-นโยบายขายฝัน!

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ กลไกแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านด่านหินยาก แม้เพื่อไทยใช้เทคนิคช่องทางพ้น 180 วัน ผ่านร่าง พรบ.ประชามติ เป็นเพียงนโยบายในฝัน  

ดร.ณัฏฐ์ ชำแหละ 92 ปีรัฐธรรมนูญ วัฏจักรการแย่งชิงอำนาจ!

ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม ระบุครบรอบ 92 ปีวันรัฐธรรมนูญ ยังวนเวียนอยู่กับวัฏจักรการแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง มากกว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

'นักกฎหมาย' โต้ยิบ 'กรมที่ดิน' ปมที่ดินเขากระโดง

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีกรมที่ดินชี้แจง 5 ประเด็นเกี่ยวกับที่ดิน 'เขากระโดง' ว่าคำแถลงของกรมที่ดิ