สธ.วอน ส.ส.เร่งลงมติกฎหมายกัญชาเพื่อให้เกิดการต่อยอด

สธ.ขอบคุณ ส.ส. รับพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา แต่วอนเร่งลงมติเพื่อผลักดันให้เกิดวิจัยและพัฒนาอย่างรวดเร็ว

15 ธ.ค.2565 - นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ กล่าวว่า ขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรที่รับพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ..... เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 และขอให้สภาเร่งพิจารณา พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อเกิดการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดการวิจัยอย่างกว้างขวาง พร้อมกับเน้นย้ำถึงมาตรการในการดูแลความปลอดภัยหลังจากปลดพืชกัญชา กัญชงออกจากรายการยาเสพติด

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า การรับพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการพัฒนาพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขมีความตั้งใจว่าจะให้การพัฒนากัญชา กัญชง เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาสมุนไพร และเป็นผลิตภัณฑ์เรือธงที่จะนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ สู่เวทีโลก

ต่อข้อถามถึง ประเด็นความรีบร้อนในการปลดพืชกัญชาออกจากยาเสพติดนั้น นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการดำเนินงานที่เป็นขั้นตอน เริ่มจากปี 2562 ที่อนุญาตให้นำมาใช้เป็นยา และใช้ศึกษาวิจัย ในขณะเดียวกันก็มีการทำงานคู่ขนาน เพื่อให้เกิดการส่งเสริมให้เกิดการนำมาใช้ประโยชน์ที่ปลอดภัย พบว่า สารเมาหรือ THC ซึ่งเป็นสารที่ทางการแพทย์มีความกังวลว่าหากใช้ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งการสำรวจพืชกัญชาในขณะนั้นก็พบว่าสาร THC ในใบ ราก ต้น กิ่งก้านมีน้อยมาก และภูมิปัญญาไทยส่วนใหญ่ก็ใช้ส่วนที่ไม่ใช้ดอกดูแลสุขภาพ จึงปลดส่วนที่ไม่ใช่ดอกและเมล็ดออกจากรายการยาเสพติด หลังจากนั้นเราก็ติดตามการดำเนินงานมาตลอด พบว่า การศึกษาวิจัยเราเป็นไปอย่างล่าช้า ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่หากเทียบกับประเทศอื่นก็เป็นไปได้ช้า เพราะการขออนุญาตนำยาเสพติดมาทำวิจัยต้องขออนุญาตหลายกระบวนการ ทำให้เสียเวลามาก รวมถึงการปลูกของเกษตรกรก็ต้องมีความร่วมมือกับภาครัฐ ต้องผ่านกระบวนการขออนุญาต การใช้ยาก็มีระบบที่ต้องได้รับอนุญาตให้จ่ายยากัญชาได้ก่อน กว่าจะได้จ่ายยาก็ใช้เวลานาน

"สามจุดนี้ เป็นจุดสำคัญที่ทาง สธ. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่า ต้องทำให้ขั้นตอนสะดวกขึ้น เพื่อให้สามารถทำวิจัย ผลักดันให้มีผลิตภัณฑ์ยาอย่างรวดเร็ว อันเป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย Health for wealth ของกระทรวง และสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. ที่สภากำลังพิจารณาอยู่ในตอนนี้ ว่าจะมีคณะกรรมการวิจัยระดับชาติด้วย ส่วนที่กังวลเรื่องความปลอดภัย ในฐานะที่กระทรวงเป็นผู้ริเริ่มนโยบายนี้ เราก็มีการทำงานกับส่วนราชการต่างๆ ที่จะดำเนินการให้เกิดการใช้ประโยชน์บนฐานความปลอดภัย ด้วย 5 มาตรการ คือ การส่งเสริมการนำมาใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ การคัดเลือกการรักษาด้วยยากัญชาที่มีประสิทธิผล การป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด การบังคับใช้กฏหมายให้มีประสิทธิภาพ และการติดตามกำกับการดำเนินงานผ่านรูปแบบของคณะกรรมการร่วมของกระทรวง จึงนำเรียนมาเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ ว่าทางกระทรวงมีมาตรการที่เราดำเนินการ แต่ถ้าจะให้การควบคุมและส่งเสริมทำได้ดีกว่านี้ การมีพระราชบัญญัติคือคำตอบ เพราะจะทำให้เกิดการบูรณาการ การทำงานของทุกส่วนของประเทศ ที่จะดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน" นพ.ประพนธ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"สันติ" รมช.สธ. ยกต้นแบบ รพ.อัจฉริยะ รพ.ปากช่องนานา-เทพรัตน์ จ.นครราชสีมา ดึงเอกชนร่วมพัฒนาเขาใหญ่สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสร้างรายได้ประชาชนยั่งยืน

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจราชการก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์

สธ. ห่วง ปชช. ช่วงฤดูฝน พร้อมดูแลผู้ป่วยงูพิษกัด ไข้เลือดออกระบาด

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข

'หมอเปรมศักดิ์' แต่งตัวรอเป็น สว.! สายสีน้ำเงินแรงยกแผง

ว้าวุ่นเลย 'หมอเปรมศักดิ์' รอเป็นสว.! เปิดประวัติ มีอึ้ง สว.สายสีน้ำเงินแรงจริง ายกแผง อดีตหน้าห้อง 'อนุทิน' ญาติอดีตเพื่อนรักเนวินมาอันดับหนึ่ง พ่วงอดีตผู้สมัคร สส.ชุมพร -ตัวเต็งบุรีรัมย์