'นักเศรษฐศาสตร์' ตั้งคำถาม 5 ข้อ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำอย่างไรให้ไปถึงฝัน

'ดร.เกียรติอนันต์' ตั้งคำถาม 5 ข้อ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำอย่างไรให้ไปถึงฝัน แนะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ 5%-8% แล้วกระจายผลประโยชน์ให้ไปถึงแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำให้มากขึ้น ต้องเป็นการเติบโตที่แท้จริง แรงงานกับผู้ประกอบการต้อง Win-Win ยกระดับทักษะฝีมือ และป้องกันปัญหาแรงงานข้ามชาติทะลัก

9 ธ.ค.65 - ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อควา ม เรื่อง ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำอย่างไรให้ไปถึงฝัน... มีเนื้อหาดังนี้

ผมมีคำถามในใจ 5 ข้อที่ผมคิดว่าถ้าสามารถช่วยกันหาคำตอบได้ ก็น่าจะพอมีทางผลักดันค่าแรงขั้นต่ำให้ถึง 600 บาทโดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมมากจนเกินไปนัก (และบางประเด็นอาจจะเหมาะกับการยกระดับเงินเดือนเป็น 25,000 บาทนะครับ) เราวางสี วางพรรคลงก่อน แล้วช่วยผมหน่อยนะครับว่าถ้าเราต้องขับเคลื่อนนโยบายนี้จริง เราจะรับมือกับประเด็นเหล่านี้ยังไง...(จริง ๆ มีอีกคำถาม 2-3 ข้อแต่ขอเก็บไว้เป็นข้อสอบปลายภาคให้นักศึกษาช่วยกันคิดในเทอมหน้านะครับ)

1. ถ้าสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตติดต่อกันได้ 5% ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี จะทำให้เศรษฐกิจเราโตขึ้นอีกประมาณ 21.6% หากเพิ่มค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเวลา 4 ปี สมมติว่าเป็นกรุงเทพมหานครที่ตอนนี้ค่าแรงชั้นต่ำเท่ากับ 353 บาท การเพิ่มเป็น 600 บาท ใน 4 ปี เป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 70% นั่นหมายความว่า ในแต่ละปีค่าแรงขั้นต่ำจะต้องเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าจะให้เศรษฐกิจกับค่าแรงโตไปด้วยกันแต่ละปีเศรษฐกิจต้องโตไม่น้อยกว่าปีละ 14.2% ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ผมเลยขอตัดทางเลือกนี้ออกไปนะครับ อีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้มากกว่า คือ ยังรักษาการเติบโตไว้ที่ 5%-8% แล้วหาทางกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ไปถึงแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำให้มากขึ้น การออกแบบกลไกนี้มันซับซ้อนกว่า “การเติบโตแบบทั่วถึง” (Inclusive Growth) มันต้องเป็นกลไกระดับ “การเติบโตแบบกึ่งมุ่งเป้า” (Semi-Exclusive Growth) ที่ให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กตัวน้อย ให้ความสำคัญภาคธุรกิจรายย่อยและ SMEs และให้ความสำคัญกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด กลไกที่ว่านี้ควรจะหน้าตาเป็นยังไงกันดีครับ?

2. สืบเนื่องจากข้อ 1 การเติบโตที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นการเติบโตที่แท้จริง ไม่ได้เกิดจากนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ ดังนั้นเราตัดโครงการตระกูลคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน หรือการแจกเงินแบบต่าง ๆ ออกไปจากตัวเลือกได้เลยครับ เพราะนโยบายแบบนี้ใช้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะสั้น สิ่งที่เราต้องการเห็นคือคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานในระยะยาว จึงต้องเป็นการเติบโตที่เกิดจากเนื้อแท้ของระบบเศรษฐกิจ เกิดจากขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดจากการพัฒนาคุณภาพของคน นโยบายสารพัดแบบที่รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาเพื่อทำสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้น เราคงต้องหาเครื่องมือใหม่ หรือวิธีการใหม่ไปใช้กับแนวทางเดิม เครื่องมือ/แนวทางใหม่ที่ว่าจะเป็นแบบไหนได้บ้างครับ?

3. แรงงานกับผู้ประกอบการเป็นเหมือนลิ้นกับฟัน ยังไงก็ต้องอยู่ไปด้วยกัน อาจมีกัดกันแรงบ้างเบ้าบาง แต่ก็หนีกันไม่พ้น การปรับค่าแรงขึ้น การทยอยปรับค่าแรงถือว่าช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ให้นึกภาพแบบนี้ครับ เราเปิดร้านขายอาหาร ถ้าหน้าร้านมีลูกค้ามาเข้าแถวยาวเหยียดรอซื้ออาหาร การที่พนักงานในร้านเก่งขึ้น ช่วยให้ทำอาหารเสร็จ อร่อยและขายได้ไว้ขึ้น เจ้าของร้านที่ไม่ใจร้ายก็พอรับได้กับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าหน้าร้านมีลูกค้าหรอมแหรมแล้วยังต้องเพิ่มค่าแรงให้พนักงาน เจ้าของร้านก็อยู่ลำบาก ฉันใดก็ฉันนั้นหากคิดแบบ Win-Win ในเมื่อรัฐเป็นคนออกนโยบายนี้ รัฐก็มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการควบคู่กันไปด้วย ทั้งในด้านการบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนในช่วงเวลาปรับตัว และการช่วยหาลูกค้ามาเข้าแถวหน้าร้าน เราจะทำแบบนี้ได้ยังไงบ้างครับ?

4. สืบเนื่องจากข้อ 3 การ Upskill หรือ Reskill แรงงานจะยกระดับทักษะได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับทักษะที่เป็นทุนเดิมของแรงงาน แรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำ ทักษะที่เป็นทุนเดิมอาจจะไม่พอให้สามารถ Upskill หรือ Reskill ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานได้ การยกระดับค่าแรงโดยไม่ยกระดับทักษะฝีมือของแรงงานให้เพิ่มขึ้นมาด้วย ยิ่งบีบให้ผู้ประกอบการต้องหาทางออกด้วยการลดต้นทุน ลดคน หรือเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปใช้เทคโนโลยีแทน เราจะช่วยให้แรงงานกลุ่มนี้เก่งขึ้นใน 4 ปีได้อย่างไร?

5. การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบนี้แรงงานข้ามชาติก็ได้ประโยชน์เช่นกัน เราจะป้องกันปัญหาแรงงานข้ามชาติทะลักเข้ามาได้อย่างไร? ที่สำคัญถ้าเขาเข้ามาในประเทศแล้วเราต้องไม่เลือกปฏิบัติว่าใครเป็นแรงงานไทยใครเป็นแรงงานข้ามชาตินะครับ อย่าลืมว่าเป้าหมายหลักของค่าแรงขั้นต่ำคือช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์เป็นแรงงานข้ามชาติ มันก็ออกจะแปลกไปนิดนึงนะครับ

**** สุดท้ายนี้ ผมว่า ถ้าเรามีคำตอบที่ดีให้กับคำถาม 5 ข้อนี้ได้ เราไม่น่าจะหยุดแค่ 600 บาท กับ 25,000 บาท ลองคิดกันเล่น ๆ ดูครับว่า จริง ๆ ตัวเลขในใจของค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนคนจบ ป.ตรี ควรเป็นเท่าไหร่ดี****

ผมชวนคุยในเรื่องที่อยากจะคุยครบแล้วครับ หลังจากนี้หน้าเพจผมคงจะกลับไปเป็นเรื่องแมว ของกิน หนังสือ ฟุตบอล และเรื่องสัพเพเหระ...จนกว่าจะมีประเด็นอื่นที่ผมพอจะแสดงความเห็นได้ครับ...

ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านทั้งที่เป็นเพื่อนกันมานานและหลายท่านเพิ่งได้มาพบกันนะครับ ดีใจที่ได้รู้จักกับทุกคน ผมขอตัวไปเตรียมเสบียงเตรียมร่างกายดูบอลโลกก่อนนะครับ...

สุขสันต์วันศุกร์นะครับกัลยาณมิตรของผมทุกคน

ปล. สำหรับนักศึกษาที่กำลังคิดว่าจะลงเรียนกับผมในวิชา Contemporary Economic Issues (สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน) คำถามเหล่านี้คือตัวอย่างข้อสอบที่พวกเราจะต้องเจอครับ
#ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ #ผมเป็นคนสงขลา #ล้วนแก้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' งง รอมา 2 เดือน นโยบายกระตุ้นศก.ไม่มีอะไรชัดเจน ย้อนถามแจกเงินหมื่นช่วยอะไรได้

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า