กสม.ชี้กรณีสถานปฏิบัติธรรมกำหนดให้ผู้ต้องการบวชชีต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เป็นการเลือกปฏิบัติ พศ.และกรมการศาสนาควรเร่งเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้อง
08 ธ.ค.2565 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2564 เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งสุขภาพ ระบุว่า เว็บไซต์ของสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งได้แจ้งให้ผู้หญิงที่สนใจจะบวชชีกับสถานปฏิบัติธรรมแห่งนั้นต้องแสดงหนังสือรับรองของแพทย์ที่ระบุถึงผลตรวจเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus - HIV) ประกอบการพิจารณาขอรับบวชด้วย ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ในลักษณะดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ประสงค์จะบวช จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 ให้การรับรองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกายหรือสุขภาพ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ นอกจากนี้ มาตรา 31 ยังให้การรับรองเสรีภาพของบุคคลในการนับถือศาสนา ซึ่งย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน ด้วย
จากการตรวจสอบและการรับฟังข้อเท็จจริง สถานปฏิบัติธรรมผู้ถูกร้องชี้แจงว่า ไม่ได้มีเจตนาลิดรอนสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี การขอให้ผู้ที่ประสงค์จะบวชชีตรวจโรคต่าง ๆ ได้แก่ เอชไอวี วัณโรค ไวรัสตับอักเสบ และสารเสพติด เป็นไปเพื่อการดูแลคนที่มาอยู่รวมกันหมู่มากให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างถูกสุขอนามัยเท่านั้น ด้านกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวีสรุปได้ว่า เชื้อเอชไอวีจะไม่ติดต่อจากการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไป เช่น การจับมือ การใช้ห้องน้ำ การรับประทานอาหารร่วมกัน การสัมผัสเหงื่อ น้ำตา น้ำลายที่ไม่มีเลือด หรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อ เป็นต้น และไม่ติดต่อผ่านทางระบบหายใจ แต่จะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ หรือการได้รับเลือดจากผู้ติดเชื้อเท่านั้น อีกทั้งเชื้อเอชไอวีเป็นเชื้อที่ตายง่ายเมื่ออยู่นอกร่างกาย หากผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับประทานยาต้านเชื้ออย่างต่อเนื่อง ก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรง ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป และอาจตรวจไม่พบเชื้อหรือพบแต่น้อยมากในระดับที่ไม่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้
เมื่อตรวจสอบระเบียบปฏิบัติของมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กำหนดหนึ่งในคุณลักษณะของผู้ที่ประสงค์จะบวชชีไว้ในระเบียบว่า มิได้เป็นโรคที่ต้องห้าม อันเป็นโรคร้ายแรงหรือโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ ประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักชีแห่งหนึ่งซึ่งลงทะเบียนกับมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย เคยอนุญาตให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีบวชชีได้ในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากไม่ได้ขัดต่อระเบียบปฏิบัติ อีกทั้งการปฏิบัติธรรมในระหว่างการบวชชี ไม่มีกิจกรรมใดที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ของเชื้อ
ขณะเดียวกัน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)ได้ให้ข้อเท็จจริงว่า กฎ ระเบียบ พุทธบัญญัติไม่มีการบัญญัติกรณีการบรรพชาอุปสมบทให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีเพียงแนวทางการปฏิบัติในปัจจุบันที่การบรรพชาอุปสมบทให้กับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพระอุปัชฌาย์ในการพิจารณาว่าอาการเจ็บป่วยของโรคเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาพระธรรมหรือไม่ นอกจากนี้ กฎมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับการบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุสงฆ์ ก็กำหนดเพียงว่า ผู้ประสงค์จะบรรพชาต้องเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์ และมีเพียงข้อห้ามของมหาเถรสมาคมที่ไม่อนุญาตให้บรรพชาอุปสมบทกับคนที่มีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย เท่านั้น
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. จึงเห็นว่า การกำหนดให้ผู้ประสงค์จะบวชชีต้องแสดงเอกสารตรวจสุขภาพ โดยระบุให้ตรวจเชื้อเอชไอวีก่อนจะรับเข้าบวช เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่เกินสมควรแก่ความจำเป็น จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมโดยอาศัยเหตุแห่งสุขภาพ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า สถานปฏิบัติธรรมผู้ถูกร้องได้ยกเลิกเงื่อนไขให้ผู้ประสงค์จะบวชชีต้องแสดงหนังสือรับรองผลการตรวจเชื้อเอชไอวีแล้ว จึงถือว่า ข้อร้องเรียนได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม โดยให้ทั้งสองหน่วยงานประสานกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีให้กับหน่วยงานศาสนาต่าง ๆ อาทิ วัดพระพุทธศาสนา สำนักสงฆ์ สำนักชีไทย สถานที่ปฏิบัติธรรม และอื่น ๆ เพื่อให้มีความเข้าใจและมิให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมโดยอาศัยเหตุแห่งการติดเชื้อเอชไอวีมาเป็นข้อจำกัดที่ลิดรอนโอกาสในการเข้าถึงเสรีภาพในการปฏิบัติตามหลักศาสนาทุกศาสนา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุดม่วน! วธ.จัด ‘หมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์’ หนุนยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท
กสม.แนะแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินปชช. ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ
กสม. แนะกระทรวงพลังงานเร่งเสนอ ครม. แก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
พิกัด 11 วัด งานอารามอร่ามประดับไฟรับปีใหม่
เพื่อส่งมอบความสุขปลายปีและเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดกิจกรรม “อารามอร่าม 11 วัด 1 โบสถ์พราหมณ์1 พิพิธภัณฑ์ ประดับไฟฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2568 “ ถือเป็นอีกหมุดหมายที่ห้ามพลาดและไม่ได้จัดเป็นประจำ เพราะ
บอร์ด ICH ขึ้นบัญชี 10 มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม ‘งานนมัสการพระธาตุพนม-เสื่อกกจันทบูร-ผ้าหม้อห้อม-ตำนานสุบินกุมาร‘
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมครั้งที่ 3/2567 พิจารณาเห็นชอบให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
กสม.ชงนายกฯทบทวนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรภายในเขตอุทยานฯหวั่นกระทบสิทธิปชช.
กสม. เสนอแนะนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและชะลอพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ หวั่นกระทบสิทธิของประชาชนในวงกว้าง