นักกฎหมายต้านแพคเกจก้าวไกลแก้ 112 ชี้ต้องเพิ่มโทษให้หนัก และครอบคลุมถึงชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไป


ดร.ณัฎฐ์ ค้านเสนอแพคเกจ แก้มาตรา 112 แก้ไขโทษหนึ่งปีของพรรคก้าวไกล ที่ถูกต้องและเหมาะสมต้องเพิ่มโทษให้หนักขึ้นและคุ้มครองให้ครอบคลุมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไป

7 ธ.ค.2565 - ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณี iLaw จัดสัมมนา จุดยืนของพรรคการเมือง กฎหมายอาญา มาตรา 112  โดยมีตัวแทนจาก พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทยและพรรคเพื่อไทย เข้าร่วม โดยนายรังสิมันต์  โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล  ได้นำเสนอแพคเกจแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง   ว่าเคยถามไปหลายครั้งว่า หากแก้ไขแล้วประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยดีขึ้นหรือไม่ อย่างไรทำไมถึงจมปลักจ้องจะแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงกฎหมายอาญาอื่นๆ ข้อเสนอให้แก้ไขลดโทษให้เบาลง ตนไม่เห็นด้วย แต่ควรจะเพิ่มโทษจำคุกและปรับให้หนักขึ้นและห้ามประกันตัว

"ความเห็นต่างทางการเมืองกับการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง หากไม่นำเรื่องการเมืองมายุ่งกับพระองค์ท่าน ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไข จะเห็นว่าในฐานความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คุณธรรมทางกฎหมายเฉพาะบุคคลที่บัญญัติไว้ ตั้งข้อสังเกตว่า ความผิดมาตรา 112 ไม่ครอบคลุมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไป หากแก้ไข ควรแก้ไขให้ครอบคลุมถึงด้วย ข้อเสนอให้แก้ไขโทษเบา เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่สบายใจและไม่เห็นด้วย เพราะแนวทางเสนอให้แก้ไขโทษให้เบาลง จำคุกไม่เกินหนึ่ง ทำให้คนบางกลุ่มที่ชอบกระทำซ้ำ ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ส่งผลให้ผู้กระทำความผิดมาตรา 112 มากขึ้นเพราะโทษเบา ซึ่งความเห็นต่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ควรเอามาเกี่ยวข้องกับการเมือง จะบอกว่า สาเหตุการแก้ไขโทษเพราะความเห็นต่าง ต้องถามว่า เห็นต่างเรื่องอะไร ต้องพูดให้ชัด จะทำให้ประชาชนสับสน"

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่ากรณีแนวคิดของนายรังสิมันต์ โรม ข้อเสนอแก้ไขลักษณะ 1 ความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และมาตรา 112 อยู่ในหมวด 1 ว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ฯ โดยแยกหมวดใหม่ โดยนายรังสิมันต์ อ้างว่ามีผลต่อการประกันตัว ซึ่งสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลจะปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ เกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งคดีว่าร้ายแรงหรือไม่และจะหลบหนีหรือไม่ แต่ละคดีย่อมแตกต่างกัน ข้อเสนอให้บัญญัติไปอยู่ในหมวดใหม่ ย่อมไม่มีผลกระทบต่อการปล่อยตัวชั่วคราว

"แต่จับไต๋ได้ว่า เป็นเทคนิคการแก้ไขกฎหมาย จากความผิดอาญาแผ่นดินมาเป็นความผิดต่อส่วนตัว เนื่องจากข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ผู้ร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษ คือสำนักพระราชวัง เป็นการจำกัดกรอบ ประชาชนทั่วไปพบเห็นการกระทำความผิด ไม่สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ เพราะหากเป็นความผิดต่อส่วนตัว ย่อมเป็นความผิดอันยอมความได้ หากแก้ไขแนวทางนี้ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะจะทำให้เกิดคดีมากมายและจะให้พระองค์ท่านซึ่งเป็นประมุขของรัฐ ยากลำบากต่อกระบวนการตัดสินใจ กฎหมายเดิมดีอยู่แล้ว เพียงเพิ่มเติมโทษ จำคุกตั้งแต่ ห้าปี ถึงยี่สิบปี ให้มันเข็ดหลาบ ไม่กลับมากระทำความผิดอีก

ส่วนข้อเสนอให้ความผิดตามมาตรา 112 กำหนดให้มีบทยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ อาทิ กรณีติชมด้วยความเป็นธรรมหรือติชมโดยสุจริต ดังเช่นมาตรา 329 นั้น หลักกฎหมายที่ว่า ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้น เป็นเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ตามมาตรา 330 วรรคสอง ตรงนี้ จะเป็นละเมิดต่อพระองค์ท่าน ขัดกับความในมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดมิได้"ดร.ณัฐวิฒฺ กล่าว

ส่วนที่นายรังสิมันต์ แถมแพคเกจเสริมโปรโมชั่น ข้อเสนอแก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หลายประเด็น ได้แก่ ประการแรก เสนอให้แก้ไขโทษยกเลิกโทษจำคุก ให้เหลือโทษปรับ ในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน มาตรา 136 ดูหมิ่นผู้พิพากษาหรือศาล มาตรา 198 ความผิดฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326 ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มาตรา 328 และดูหมิ่นซึ่งหน้า มาตรา 393

ตนเห็นว่า หากยกเลิกโทษจำคุก เหลือเพียงโทษปรับ จะทำให้ประชาชนไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทำให้สร้างความแตกแยกทางสังคมเพราะไม่ใช่เป็นเพียงความเห็นต่างแต่ความผิดเหล่านี้ เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวให้เกิดความเสียหาย หากเจ้าพนักงานหรือผู้พิพากษา ไม่มีหลักประกันการคุ้มครองและมีโทษถึงจำคุก ทำให้ไม่เกรงกลัวกระทำความผิด

ประการที่สอง เสนอให้แก้ไขโทษยกเลิกโทษจำคุก ให้เหลือโทษปรับความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาต มาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาทหรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี ปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท มาตรา 133 และความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศที่ได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี ปรับตั้งแต่หนึ่งพันถึงหนึ่งหมื่นบาท มาตรา 134

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวในประเด็นที่สองนี้ว่าจะเห็นได้ว่า ความผิดฐานดังกล่าวทั้งสองมาตรา กระทบต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ จะทำให้ต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น อย่าลืมว่า ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่นและมาลงทุน ในอดีตสนธิสัญญาเบาริ่ง ทำให้ประเทศไทยเสียสิทธิสภาพอาณาเขต ต้องศึกษาให้รอบคอบก่อนที่จะเสนอแก้ไข เพราะมีผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ

"หากพิจารณาแนวทางของแรมโบ้อีสาน ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ หัวหน้าพรรคเทิดไท แสดงจุดยืนปกป้องสถาบันกษัตริย์ให้คงอยู่ต่อไป เป็นแนวทางที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วย และรู้สึกไม่สบายใจกรณีนายรังสิมันต์ โรม ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลข้อเสนอแก้ไข หาก iLaw จัดอีก ควรเชิญทุกพรรคการเมืองที่มีความเห็นต่างด้วย ประชาชนจะได้รับข้อมูลทุกด้าน หากจะเสนอแนวทางแก้ไขมาตรา 112 ควรต้องแก้ไขโดยเพิ่มโทษให้หนักขึ้น ป้องกันปราบปรามไม่ให้กระทำความผิดซ้ำอีก" ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้อุณหภูมิการเมืองร้อนแรง หลังพรรคส้มเร่งแก้รธน. มาตรา 256 หักอำนาจ สว.

ดร.ณัฏฐ์ มือกฎหมายมหาชน เผยร่างแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ฉบับพรรคประชาชน อุณหภูมิการเมืองร้อนแรง หักอำนาจ สว.

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ

ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง

ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท