28 พ.ย.2565 - ที่ศาลแขวงดุสิต ถนนนครไชยศรี ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลเเขวงเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส. ชลธิชา แจ้งเร็ว , น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก, นายณรงค์ ดวงแก้ว, นายชูเวช เดชดิษฐรักษ์, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูรณ์ผล และ นายชาติชาย แกดำ จำเลยทั้ง6 ในความผิดฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยคำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่าเมื่อ วันที่ 3 ส.ค. 2563 จําเลยทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นแกนนํากลุ่มเครือข่ายต่างๆ และเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ หรือเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบให้มีกิจกรรมการรวมกลุ่มชุมนุมสาธารณะ ร่วมกับ นายอานนท์ นําภา พวกของจําเลย ซึ่งถูกแยกฟ้องเป็นอีกคดีที่ศาลอาญา(คดี112) ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ชุมนุมเพื่อขับไล่จอมวายร้าย และปกป้องประชาธิปไตย ด้วยการร่วมกัน เสกคาถาผู้พิทักษ์ เพื่อปกป้อง ประชาธิปไตย และขับไล่อํานาจมืด จากคนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการตั้งเวทีปราศรัยอยู่บริเวณทางเท้าฝั่งหน้าร้านแมคโดนัลด์ รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดําเนินกลาง พวกจำเลยชักชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมรับฟังการปราศรัย โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคําสั่งของ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร หัวหน้าสถานีตํารวจนครบาลชนะสงคราม เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขว่าการจัดการชุมนุมต้องให้ความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ข้อความหรือป้ายต่างๆ ต้องเป็นข้อความที่ไม่หมิ่นประมาท ดูหมิ่นผู้อื่น และต้องไม่ยุยงปลุกระดม ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
จําเลยทั้งหกกันพวก ได้ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีพูดร้องเพลงปราศรัยโจมตีรัฐบาลเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เรียกร้องให้ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประชาชนสนใจเข้าร่วมชุมนุมและรับฟังปราศรัยจํานวนมาก ประมาณ 200-300 คน ยืนกันหนาแน่นแออัด ไม่เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร ผู้ใช้ทางเท้าได้รับความเดือดร้อน ไม่สะดวกในการสัญจรผ่านตามปกติ
ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมมีลักษณะสนใจฟังและคล้อยตามคําพูดของจําเลยทั้ง 6 กับพวก มีการร่วมกันปรบมือ ตะโกนโฮ่ร้อง แสดงความพึงพอใจ ผู้ชุมนุมมีการถือป้ายแสดงข้อความต่างๆ ในลักษณะดูหมิ่นรัฐบาล สถาบันฯ ให้ได้รับความเสียหาย ยุยงเสียดสีบุคคล ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทั้งจําเลยทั้ง 6 กับพวกไม่จัดให้มีมาตราการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ราชการกําหนด จึงเป็นการชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
เหตุเกิดที่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
โดยในวันนี้จำเลยทั้งหมดเดินทางมาศาล
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายกิตติศักดิ์ กองทอง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทนายความในคดีกล่าวว่า คดีนี้อัยการฟ้อง 3 ข้อหาประกอบด้วย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลยกฟ้อง2 ข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เเละให้ลงโทษปรับจำเลยทั้ง6 คนละ200 บาทกรณีใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยศาลให้เหตุผลที่ยกฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมจริงผู้ชุมนุมปฏิบัติตามมาตรการการชุมนุม มีการเว้นระยะห่างเเละป้องกันโรคติดต่อ ส่วนที่มีการลงมาบนพื้นถนนบ้างก็เป็นเวลาเพียงนิดเดียวเจ้าหน้าที่มาบอกก็เชื่อฟัง การชุมนุมก็ใช้ระยะเวลาไม่นาน
ในส่วนที่มีป้ายข้อความการชุมนุมโจมตีรัฐบาลเเละสถาบัน โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นความผิดอย่างไร ยกประโยชน์เเห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง
เหตุการณ์ชุมนุมในคดีนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่ อานนท์ นำภา นักกิจกรรมทางการเมืองและทนายความสิทธิมนุษยชน ปราศรัยในประเด็นสถานะอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ทำให้ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ศาลอาญา ในข้อหาตามมาตรา 112 และมาตรา 116 อีก 2 ข้อหา เพิ่มเติมจากข้อหาที่มีการดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 6 ในคดีนี้ ซึ่งสองข้อหาดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดเกิน 3 ปี เกินอำนาจการพิจารณาของศาลแขวง อัยการจึงแยกสำนวนของอานนท์ออกเป็นอีกสำนวนและยื่นฟ้องต่อศาลอาญาแทน
ภายหลังฟังคำพิพากษาเสร็จแล้ว มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นหมุดหมายที่ดี เพราะว่าคำพิพากษาที่ศาลว่าการชุมนุมแบบที่พวกเรากระทำนั้น ประชาชนสามารถทำได้รับรองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันว่า เป็นเหตุทำให้พวกเราต้องออกมาพูดปัญหาบ้านเมืองให้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลสั่งคุก 'อานนท์ นำภา' 2 ปี ผิด ม.112-พรบ.คอมพ์ รวมโทษจำคุก 5 คดี กว่า 16 ปี
ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำอ.1395/2565 ที่อัยการสำนักงานคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ฟ้อง นายอานนท์ นำภา ทนายความและแกนนำม็อบราษฎรในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินีฯ มาตรา 112
'พิธา' เผยไม่ได้เห็นต่าง 'ทักษิณ' เรื่องเปลี่ยนโครงสร้าง เหน็บอย่ามัวแต่พูด ถึงเวลาต้องทำแล้ว
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวระหว่างลงพื้นที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร
ชทพ.หนุนนิรโทษกรรมแต่ต้องไร้ ม.110-ม.112
'ชาติไทยพัฒนา' หนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ต้องเว้น ม.110 และ 112 เชื่อก้าวข้ามความขัดแย้งได้
'เทพไท' ซัดพรรคเพื่อไทยตระบัดสัตย์เรื่องนิรโทษกรรม
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช
'สามนิ้ว' โวยซื้อน้ำขวดในคุกไม่ได้ ต้องกินน้ำก๊อกมาเป็นอาทิตย์แล้ว
เพจ อานนท์ นำภา ของนายอานนท์ นำภา ต้องโทษม.112 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ไม่แน่ใจว่าทำไมช่วงนี้
'เพื่อไทย' แถบอกรายงานนิรโทษกรรมแค่การศึกษาหากแก้ 112 จริงไม่ยอมแน่
'พท.' จ่อเห็นชอบรายงาน-ข้อสังเกตนิรโทษกรรม บอก แต่ละพรรคโหวตอย่างไร เป็นเอกสิทธิ์ ด้าน 'นพดล' ย้ำ ไม่มีความคิดนิรโทษความผิดม.110 และ 112