ครป.เรียกร้องสอบสลายม็อบเอเปก พร้อมชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

19 พ.ย.2565 - คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) โดยนายเมธา มาสขาว เลขาธิการครป. ได้เผยแพร่แถลงการณ์ครป. ต่อกรณีรัฐใช้ความรุนแรงกับราษฎร หยุด APEC 2022 ระบุว่า จากกรณีที่กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ได้จัดให้มีการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และผู้ชุมนุมได้ประกาศเดินไปยังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้นำที่มาประชุมเอเปค เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นประธานการประชุม เนื่องจากไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ให้ยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจเศรษฐกิจสีเขียวที่กลุ่มทุนผูกขาดกำหนดและชี้นำ และเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออกจากนายกรัฐมนตรี แล้วยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ปรากฎว่าผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้กำลังเข้าสลาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการใช้กระสุนยางที่ดวงตา การทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม ผู้สื่อข่าว และพระสงฆ์ และมีการจับกุมผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวจำนวน 25 คน

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่าการชุมนุมและเดินขบวนของผู้ชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่รัฐไทยได้ให้สัตยาบันไว้ และยังได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นอกจากนั้นผู้ชุมนุมยังได้แจ้งการชุมนุม ตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งผู้ชุมนุมไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขที่ตกลง หรือที่กำหนดไว้ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ชุมนุมไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลง หรือกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลผู้ชุมนุมสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้ยุติการชุมนุม หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม จึงจะมีอำนาจในการสลายการชุมนุม โดยต้องปฏิบัติตามหลักสากล

การเข้าสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงและจับกุมผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวจึงขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และ ครป.ยังมีคำถามว่าการใช้กำลังสลายการชุมนุมครั้งนี้เป็นการปฏิบัติอย่างผิดขั้นตอน มิได้เป็นไปตามหลักสากล ไม่เป็นสัดส่วน และใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่

ครป.เห็นว่า กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารจัดการกับการชุมนุม ทั้งที่สามารถจัดการให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

ที่สำคัญอีกประการก็คือ การชุมนุมทางการเมืองระหว่างการประชุมครั้งสำคัญทั่วโลกเป็นที่รับรู้และยอมรับการชุมนุมว่าเป็นเรื่องปกติเพราะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ที่กติการะหว่างประเทศให้การรับรอง อีกทั้งยังเป็นดัชนีที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ประเทศนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด เคารพสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นอำนาจนิยมโดยสมบูรณ์เฉกเช่นพม่าที่ล้าหลังอย่างมิอาจปฏิเสธได้

ในกรณีนี้ รัฐยังมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ได้ โดยการให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้าไปยื่นหนังสือก็จะไม่มีภาพของการใช้ความรุนแรง และรัฐบาลเองก็จะได้รับเสียงชื่นชมในสายตาของประชาคมโลก ดังนั้น ครป. จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและสังคมไทยดังนี้

ประการที่หนึ่ง ขอให้สังคมร่วมกันประณามรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง และการจับกุมผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าว ที่ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และขัดต่อกฎหมายจากการสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักสากล

ประการที่สอง ขอให้องค์กรที่อิสระและเป็นกลาง ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นการสลายการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมฝูงชนไม่ได้ขออำนาจศาล บริเวณที่มีการสลายการชุมนุมมิได้ถูกประกาศตามพระราชกฤษฎีกาในสถานการณ์ฉุกเฉินเพราะอยู่นอกเขตรัศมี 5 กิโลเมตร การใช้กระสุนยางข้ามขั้นตอนและทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต

ประการที่สาม ให้รัฐบาลสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไขโดยทันที เนื่องจากการจับกุมโดยมิชอบ และหยุดสั่งดำเนินคดีกลั่นแกล้งคุกคามแกนนำภาคประชาชนทันที

ประการที่สี่ รัฐบาลต้องดูแล และชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เครือข่ายกัญชา' ประกาศเลิกม็อบหน้าทำเนียบฯแล้ว

ความคืบหน้าเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ที่นำโดยนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายฯ ที่ได้มาปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณเชิงสะ

คปท.ลุ้นศาลคุ้มครองชั่วคราว เล็งหาที่ชุมนุมใหม่เอาแม้วเข้าคุก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากบริเวณ เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ​ บริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล ถึงความเคลื่อนไหว การชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) และ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้อง

ศาลฯพิพากษาคดี กปปส. จำคุก 14 ราย ยกฟ้อง 19 ราย รอลงอาญา 4 ราย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลดโทษจำคุก ‘สุเทพ’ เเกนนำ กปปส.เพียงปีเดียว ไม่รอลงอาญา คดีนำมวลชัตดาวน์กรุงเทพ ปี 57 ส่วนพวกแกนนำอีก 14 ราย รับโทษหลั่นกันไป ไม่รอลงอาญาอยู่ระหว่างลุ้นประกันตัว รอลงอาญา 4 ราย ส่วนที่เหลืออีก 19 รายยกฟ้อง