'บิ๊กตู่' หนาว! นักกฎหมายใหญ่ออกโรงชี้ช่องเอาผิด เชื่อได้ว่ารู้เห็นหรืออาจเป็นผู้สั่งสลายม็อบเอเปก

19 พ.ย.2565 - นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้

#การสลายการชุมนุม ที่แยกถนนดินสอในวันนี้ #ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ #ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยกเลิกไปแล้วครับ

การสลายการชุมนุมในช่วงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยต้องทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน #พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เลย เนื่องจากมาตรา 3(6) บัญญัติยกเว้นไว้ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ใช้บังคับกับ “การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน”

แต่ #ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ยกเลิกไปแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งจะสลายการชุมนุมได้ จะต้องดำเนินการตามมาตรา 21, มาตรา 22, มาตรา 23 และมาตรา 24 จนครบถ้วนก่อน ซึ่งสรุปขั้นตอนได้ดังต่อไปนี้ครับ

#หนึ่ง ต้องแจ้งผู้ชุมนุมให้เลิกชุมนุมก่อน (ม.21 วรรคหนึ่ง)

#สอง ถ้าผู้ชุมนุมไม่เลิกชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องไปร้องขอต่อศาลให้สั่งเลิกการชุมนุม (ม.21 วรรคสอง)

#สาม ถ้าศาลเห็นว่าเป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และสั่งให้เลิกชุมนุม ก็ต้องไปปิดคำสั่งศาลและแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบ (ม.22 วรรคสี่)

#สี่ ถ้าผู้ชุมนุมไม่เลิกชุมนุมก็ให้ประกาศเป็น “พื้นที่ควบคุม” และกำหนดเวลาให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ (ม.23)

#ห้า เมื่อกำหนดเวลาครบแล้วจึงจะถือว่าผู้ชุมนุม “กระทำผิดซึ่งหน้า” แล้วถึงจะดำเนินการจับกุมผู้ชุมนุมได้ (ม.24)

ดังนั้น แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะอ้างว่า ผู้ชุมนุมขออนุญาตใช้สถานที่ชุมนุมเฉพาะที่ลานคนเมือง การเดินไปสถานที่อื่นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้มีการแจ้งให้เลิกชุมนุมแล้ว แต่การจะการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมได้ จะต้อง #ไปขอคำสั่งศาลให้สั่งเลิกการชุมนุม จึงจะดำเนินการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมได้ครับ

การสลายการชุมนุมที่แยกถนนดินสอในวันนี้ จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังมีการ #ยิงกระสุนยางโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่สหประชาชาติกำหนดไว้ว่า #ต้องยิงต่ำเท่านั้น ไม่ใช่ยิงตัว หรือยิงตาเช่นนี้ แล้วก็ยังมีการ #ทำร้ายสื่อมวลชนที่ไปรายงานข่าวบาดเจ็บไปหลายคน ทั้งๆ ที่สื่อมวลชนที่ไปทำหน้าที่ได้ใส่ปลอกแขนสื่อและแสดงตนว่าเป็นสื่อมวลชนแล้ว

เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจลืมไปว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถูกยกเลิกไปแล้ว และดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ จะไปสลายการชุมนุม หรือจับกุมผู้ชุมนุมโดยไม่ทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะไม่ได้ ที่จับกุมไปก็ต้องปล่อยตัว จะอ้างเหตุว่าดูแลความปลอดภัยผู้นำประเทศต่างๆ ที่มา #ประชุมเอเปก ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะ #สถานที่จัดประชุมอยู่ห่างไปเป็นสิบกิโลเมตร ครับ

การสลายการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในวันนี้ ผมเห็นว่าควรจะต้องมีการดำเนินคดีให้เป็นคดีตัวอย่าง เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก แล้วควรต้องฟ้องนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะนายกรัฐมนตรี #เป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ และเชื่อได้ว่ารู้เห็นหรืออาจจะเป็นผู้สั่งการด้วยซ้ำ

เพราะ #การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนายกรัฐมนตรีจะต้องเคารพ หากมีอะไรที่เกินเลยไปกว่ากฎหมาย ก็ต้องปฏิบัติกับผู้ชุมนุมตามกฎหมาย #มิใช่ใช้กำลังโดยผิดกฎหมายและเกินเลยไปเช่นนี้ครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลฯพิพากษาคดี กปปส. จำคุก 14 ราย ยกฟ้อง 19 ราย รอลงอาญา 4 ราย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลดโทษจำคุก ‘สุเทพ’ เเกนนำ กปปส.เพียงปีเดียว ไม่รอลงอาญา คดีนำมวลชัตดาวน์กรุงเทพ ปี 57 ส่วนพวกแกนนำอีก 14 ราย รับโทษหลั่นกันไป ไม่รอลงอาญาอยู่ระหว่างลุ้นประกันตัว รอลงอาญา 4 ราย ส่วนที่เหลืออีก 19 รายยกฟ้อง

มธ. จัดเสวนารุมสับระบบเลือก สว.ชุดใหม่ เป็นปัญหามากที่สุด ซับซ้อน ทำให้งงอย่างจงใจ

ศูนย์นิติศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “การเลือก สว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับอนาคตประชาธิปไตยไทย” เนื่องในงานรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535

'บ่อน้ำ' ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของอาจารย์ปริญญา

อาจารย์ปริญญา จบกฎหมายมหาชน จากเยอรมัน จึงน่าจะเป็นเหตุผล ที่ทำให้ อาจารย์ มักแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายของประเทศไทย อยู่หลายๆครั้ง ทำเหมือนไม่รู้ว่า “เมื่อเป็นคนไทยทำผิด ก็