แกนนำม็อบป่วนเอเปก ยืนกรานค้างคืนลานคนเมือง ขอคุยกทม.อย่าขับไล่ ไม่รู้จะไปนอนที่ไหน

16 พ.ย.2565 - เมื่อเวลา 18.50 น. ที่ลานคนเมืองบริเวณหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมราษฎรหยุดเอเปก 2022 กล่าวถึง 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มที่จัดกิจกรรมในครั้งนี้คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องยกเลิกนโยบาย BCG กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่พยายามนำเสนอเข้าที่ประชุมเอเปกรับรอง เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนชั้นนำในประเทศ

2.พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความชอบธรรมที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำกกลุ่มเอเปก และต้องยุติบทบาทการเป็นประธานในที่ประชุมโดยทันที และ 3.พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยุบสภา เปิดทางให้มีการเลือกตั้ง จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อันจะทำให้ได้มาซึ่งผู้นำประเทศที่สง่างาม คู่ควรกับการเป็นเจ้าภาพในการประชุมประชาคมโลกในอนาคต

น.ส.ภัสราวลี ยังกล่าวถึงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่สกัดกั้นกลุ่มผู้มาชุมนุมที่จะเดินทางเข้ามาชุมนุมยังลานคนเมือง ว่า มีการสกัดกั้นมวลชนที่จะเดินทางเข้ามาร่วมกับราษฎรหยุดเอเปกที่กทม.ถึง 5 ครั้ง ทั้งทางรถไฟ หรือรถตู้ ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้ามาใช้สิทธิเสรีภาพในที่แห่งนี้ ทั้งที่ประเด็นในครั้งนี้เป็นประเด็นเชิงทรัพยากร ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประชาชนโดยตรง และทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำถึงขนาดนั้น

"อยากฝากเตือนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะทำอะไรก็ขอให้นึกถึงหลักการประชาธิปไตยให้มาก และการที่พี่น้องประชาชนมาถึงกทม.เพราะปัญหาที่เขาพบเจอไม่เคยได้รับแสงส่องถึง ไม่ได้รับการพูดถึงจากรัฐบาลอย่างจริงใจเลย ซึ่งการสะกัดกั้นนั้นไม่เป็นผลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พี่น้องที่กำลังเดินทางมาเขาก็จะเดินทางมาถึงที่นี่ให้ได้ และร่วมกันส่งเสียงให้ได้มากที่สุด"น.ส.ภัสราวลี กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีในส่วนของกทม.บริเวณลานคนเมืองไม่อนุญาตให้ค้างคืน น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า หากทางกทม.ไม่อนุญาตให้ค้างคืน เราต้องมีการเจรจากับทางกทม.เรื่องการค้างคืนที่ลานคนเมือง เนื่องจากมีพี่น้องต่างจังหวัดเดินทางมาและไม่มีที่พักคงไม่สามารถให้พี่น้องค้างคืนที่อื่นได้ ตนเชื่อว่าทางกทม.คงไม่ใจร้ายไล่พี่น้องออกจากพื้นที่ไปนอนที่ไหนก็ไม่รู้

เมื่อถามถึงกรณีที่บางส่วนมองว่าการชุมนุมในครั้งนี้กระทบกับภาพลักษณ์ของการประชุมเอเปกนั้น น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า การชุมนุมในครั้งนี้ แน่นอนสิ่งที่กระทบต่อภาพลักษณ์ ตนคิดว่าเป็นภาพลักษณ์ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เองมากกว่า เพราะพล.อ.ประยุทธ์ พยายามจะใช้เวทีเอเปกในครั้งนี้เป็นผลงานหนึ่งของรัฐบาลตัวเอง ซึ่งนโยบายต่างๆที่นำเสนอไป เราจำเป็นที่ต้องพูดถึงความจริงว่านโยบายเหล่านั้นไม่ได้มีการก่อร่างสร้างตัวมาจากประชาชนเลย และไม่มีประชาชนเป็นส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบตั้งแต่แรก ทั้งนี้ ในกลุ่มคนที่อยู่ในชื่อคณะกรรมการ BCG ไม่มีภาคประชาชน มีแค่ฝั่งรัฐและกลุ่มนายทุน จึงเป็นความจริงที่สาธารณะชนควรต้องได้รับรู้ และการที่เราออกมาชุมนุม เรายืนยันว่าพลังของภาคประชาชนเองก็เข็มแข็งพอที่จะส่งเสียงให้ได้ตามระบอบประชาธิปไตยที่ปกครองในบ้านเรา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด

ศาลสั่งคุก 'อานนท์ นำภา' 2 ปี ผิด ม.112-พรบ.คอมพ์ รวมโทษจำคุก 5 คดี กว่า 16 ปี

ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำอ.1395/2565 ที่อัยการสำนักงานคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ฟ้อง นายอานนท์ นำภา ทนายความและแกนนำม็อบราษฎรในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินีฯ มาตรา 112