คลอดกฎหมายสำคัญรวดเดียว 5 ฉบับ ทั้งเรื่องขีดเส้นงานยุติธรรม-บังคับสูญหาย-ปรับเป็นพินัย-ฟอกเงิน-กระทำผิดซ้ำทางเพศ
26 ต.ค.2565 - เมื่อวันอังคารที่ 25 ต.ค.เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎหมายสำคัญ ถึง 5 ฉบับที่มีการประกาศใช้แล้ว ประกอบด้วย 1.พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการ
ยุติธรรม (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการ
ยุติธรรม โดยให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน
เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดระยะเวลา
ดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมขึ้น เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
จะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้ อันจะยังประโยชน์
ให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยสะดวกและรวดเร็ว
2.พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ซึ่งจะให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยเหตุผลในการประกาศใช้ เนื่องจากผู้กระทำความผิดอาญาบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การฆาตกรรม การท้าร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ เมื่อถูกจำคุกจนพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีการติดตามจากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบ้างแต่ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายและไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการกระท้าความผิดซ้ำ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ส่วนหนึ่งยังมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดในรูปแบบเดียวกันหรือรูปแบบใกล้เคียงกันซ้ำอีก สมควรมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดมาตรการป้องกันการกระท้าความผิดซ้ำในความผิดดังกล่าว โดยการกำหนดให้มีมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เพื่อป้องกันสังคมและผู้เสียหายจากการกระท้าความผิดที่อาจเกิดขึ้นอีก และเพื่อส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดโดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งดังกล่าวอย่างเหมาะสม
3.พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง ประกอบกับ
แผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายได้กำหนดให้มีการปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดโทษอาญาให้เหมาะสมกับสภาพความผิดหรือกำหนดมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด และฐานะของผู้กระทำ
ความผิดเพื่อมิให้บุคคลต้องรับโทษหนักเกินสมควร หรือต้องรับภาระในการรับโทษที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจาก
ฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เนื่องจากกรณีที่กฎหมายกำหนดโทษปรับ ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีย่อมสามารถชำระค่าปรับได้ แต่ผู้มีฐานะยากจนและไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระค่าปรับได้จะถูกกักขังแทน ค่าปรับอันกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง ประกอบกับเมื่อคำนึงถึงข้อห้ามหรือข้อบังคับที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติแล้ว จะพบว่ามีข้อห้ามหรือข้อบังคับจำนวนมากอาจรุกล้ำเข้าไปในสิทธิพื้นฐานหรือสร้างภาระอันเกินสมควรแก่ประชาชน และนับวันจะมีกฎหมายตราออกมากำหนดการกระทำให้เป็นความผิดมากขึ้น หลายกรณีทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้กระทำความผิดเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางกรณีกระทำไปเพราะความยากจนเหลือทนทาน และเมื่อได้กระทำความผิดแล้ว ก็ต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น ถูกจับกุม คุมขัง พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประวัติอาชญากรเป็นประวัติติดตัวตลอดไป และในที่สุดไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่กระบวนการที่กล่าวมาย่อมสร้างรอยด่างให้เกิดแก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามีทางใดที่จะป้องกันมิให้ประชาชนจะต้องตกเข้าสู่กระบวนการนั้นได้ จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ตามสมควร แม้ว่าการกำหนดมาตรการอันเป็นโทษที่ผู้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อให้กฎหมายมีสภาพบังคับ แต่โทษนั้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้โทษอาญาเสมอไป ซึ่งนานาประเทศได้เริ่มปรับเปลี่ยนบทลงโทษจากความผิดอาญาเป็นมาตรการอื่นที่มิใช่โทษอาญามากขึ้นรวมทั้งการใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษทางอาญา เช่น การคุมประพฤติกรณีจึงสมควรที่ประเทศไทยจะพัฒนากฎหมายไทยให้สอดคล้องกับนานาประเทศ และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนยิ่งขึ้น โดยปรับเปลี่ยนโทษอาญาบางประการที่มุ่งต่อการปรับเป็นเงินตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ เปลี่ยนเป็นมาตรการปรับเป็นพินัยที่สร้างขึ้นใหม่ไม่ให้มีสภาพเป็นโทษอาญา โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าปรับที่ต้องชำระให้เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดให้สอดคล้องกันและในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนการชำระค่าปรับได้ โดยไม่มีการกักขังแทนค่าปรับดังเช่นที่เป็นอยู่ในคดีอาญา การเปลี่ยนสภาพบังคับไม่ให้เป็นโทษอาญาโดยกำหนดวิธีการดำเนินการขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะนี้ ย่อมจะช่วยทำให้ประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางอาญา และไม่มีประวัติอาชญากรรมติดตัวอีกต่อไปการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเป็นกลไกทางกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 77 และมาตรา 258 ค. ด้านกฎหมาย (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย นอกจากนั้นสำหรับกฎหมายบางฉบับที่กำหนดให้มีโทษทางปกครอง แต่บัญญัติให้ฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาเพื่อบังคับชำระค่าปรับทางปกครองไว้แล้ว สมควรเปลี่ยนโทษดังกล่าวเป็นมาตรการปรับเป็นพินัยเช่นเดียวกัน
4.พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2565 ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง ไว้อย่างชัดเจน และบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ยังไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในทรัพย์สินดังกล่าว อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติที่ให้ดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นถูกรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น ดังนั้น เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินเป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
และ 5.พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ ดังนั้น เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย สมควรกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปรามและมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ขรก.ฝ่ายศาลปกครอง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ 3 ราย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 9 ขรก.ประเภทบริหารระดับสูง สังกัดกระทรวงการคลัง
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ขรก.สังกัดมหาดไทย ประเภทบริหารระดับสูง 25 ราย
กิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ
ป.ป.ช.สะดุ้ง! ยก 6 เหตุผลปราบคอร์รัปชันไร้ประสิทธิภาพ คนโกงจึงเหิมลำพอง
สาเหตุที่การป้องกันและปราบปรามการทุจริตไม่ได้ผลไร้ประสิทธิภาพและพวก คนโกงคนชั่วหรือเหิมลำพอง อยู่ได้ก็เพราะ
ราชกิจจาฯ เผยแพร่หลักเกณฑ์การแต่งตั้ง-พ้นจากตำแหน่ง 'นางสนองพระโอษฐ์'
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่อง การดำรงตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์ ข้าราชบริพารในพระองค์
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพันเอกหญิงคุณหญิงมนัสสิยา ทิพยวชิราภักดิ์ เป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษ
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 313 ง ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 ประกาศ ให้นายทหารสัญญาบัตร แต่งตั้งเป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษ