'ราษฎรอาวุโส' ทุบโต๊ะ โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู ฟางเส้นสุดท้ายต้องปฏิรูประบบพิทักษ์สันติราษฎร์

7 ต.ค.2565 - ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เผยแพร่บทความเรื่อง "โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู "ฟางเส้นสุดท้ายต้องปฏิรูประบบพิทักษ์สันติราษฎร์" โดยมีเนื้อหาดังนี้

๑. ตำรวจเครียดจัดฆ่าตัวตายสูง และฆ่าผู้อื่นตาย ตำรวจเป็นข้าราชการที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดและฆ่าผู้อื่นตาย เกิดกรณีกราดยิงที่หนองบัวลำภู ที่มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก

๒. สาเหตุ

(๑) เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจทางดิ่ง ทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน ทั้งนายและพลตำรวจ

(๒) ตำรวจผู้น้อยถูกบีบคั้นจากทั้งข้างบนและข้างล่าง ด้วยระบบรีดไถ ส่งส่วยนาย ทำให้เป็นที่เกลียดชังของประชาชน

(๓) ภาระหนักเกิน ลองไปดูที่สถานีตำรวจยามค่ำคืน เพราะต้องรับภาระอย่างโดดเดี่ยว

(๔) เงินเดือนน้อย ต่างจากตำรวจญี่ปุ่นที่เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการอื่น ๆ เพราะต้องคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน

๓. หลักคิดในการปฏิรูป ใช้หลักคิดระบบภูมิคุ้มกันประเทศ เลียนแบบระบบร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นระบบที่ดีที่สุดในจักรวาล ร่างกายมนุษย์แม้จะสมบูรณ์แข็งแรงเพียงใดถ้าไม่มีระบบภูมิคุ้มกันชีวิตก็ไม่รอด เพราะภยันตรายเกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกตัว ระบบภูมิคุ้มกันจึงสำคัญยิ่งและเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ ทุกระบบ ประเทศก็ควรมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ ทุกระบบ ระบบตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่ทั้งหมด

๔. แนวทางปฏิรูประบบตำรวจ

(๑) กระจายอำนาจพิทักษ์สันติราษฎร์ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ให้มีตำรวจที่ขึ้นกับชุมชนและตำรวจที่ขึ้นกับท้องถิ่น ยามชุมชนก็คือตำรวจของชุมชนได้รับเงินเดือนจากชุมชนจะรับผิดชอบต่อชุมชนสูง เพราะถ้าไม่รับผิดชอบชุมชนเขาก็ไล่ออก ตำรวจที่ขึ้นกับท้องถิ่นก็เช่นเดียวกันตำรวจชุมชนและตำรวจท้องถิ่น ไม่ต้องมีหน้าที่รีดไถ ส่งสวยนาย ตำรวจจึงเป็นที่รักของประชาชน ทุกชุมชนและท้องถิ่นควรมีตำรวจของตัวเองและถนอมรักตำรวจของตัวเองอย่างดี
มีเงินเดือนและสวัสดิการสูง

(๒) ลดภาระความรับผิดชอบ อะไรที่ให้คนอื่นทำได้ก็ควรกระจายภารกิจออกจากตำรวจ ชุมชนท้องถิ่นควรจัดให้มีอาสาสมัครความปลอดภัยของชุมชนและท้องถิ่น ดูแลความปลอดภัยทุกอย่างเป็นชุมชนปลอดภัย ท้องถิ่นปลอดภัย ทีมอาสาสมัครความปลอดภัยชุมชนท้องถิ่นทำงานเป็นทีมกับตำรวจชุมชนและตำรวจท้องถิ่น อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ

แค่ ๒ ประการนี้ คือ การกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น และระบบความปลอดภัยของชุมชนท้องถิ่นก็จะส่งผลให้ประชาชนมีความปลอดภัยสูง ตำรวจทั้งประเทศมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นที่รักของประชาชน ไม่เครียดอีกต่อไป

โดยสรุปทั้งประชาชนและตำรวจ ต่างถนอมรักซึ่งกันและกัน

๕. ปฏิรูปบทบาทขององค์กรตำรวจส่วนกลาง

องค์กรตำรวจส่วนกลางเหลือกำลังพลน้อย เพราะตำรวจเกือบทั้งหมดไปขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นแล้ว องค์กรตำรวจส่วนกลางแม้มีขนาดเล็กแต่มีบทบาทใหญ่ คือ

(๑) สนับสนุนระบบตำรวจทางวิชาการ

(๒) บทบาททางนโยบาย

(๓) เสริมกำลังตำรวจชุมชนท้องถิ่นในกรณีมีปัญหาที่เกินความสามารถของกำลังในชุมชนท้องถิ่น
ในทางวิชาการนั้น ต้องวิจัยสำรวจความปลอดภัยของประชาชนทั่วประเทศ และนำมาสังเคราะห์เป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของประชาชนทั้งประเทศ และทำการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์

ทำโครงการฝึกอบรมตำรวจทั้งประเทศให้มีคุณธรรมและสมรรถนะสูง

ตำรวจส่วนกลางก็ควรมีเงินเดือนและสวัสดิการสูงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

ดังนี้ ตำรวจทั้งประเทศจะเป็นคนเก่งและคนดี เป็นที่รักของประชาชน ไม่เป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรม แต่เป็นผู้ป้องกันโศกนาฏกรรมทางสังคม

๖. กลไกในการปฏิรูประบบพิทักษ์สันติราษฎร์คือคณะกรรมการอิสระปฏิรูประบบตำรวจ

ต้องเข้าใจหลักการของคณะกรรมการอิสระ อันได้แก่ การเฟ้นหาประธานซึ่งมีปัญญาบารมีเป็นที่เชื่อถือของสังคมแล้วให้ประธานเลือกกรรมการเอง โดยรัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้องนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตามข้อเสนอของประธาน รัฐสนับสนุนและเอื้ออำนวยความสะดวกในการทำงานของคณะกรรมการอิสระทุกทาง

ขอเสนอ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นประธานคณะกรรมการอิสระปฏิรูประบบตำรวจท่านเป็นอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม มีแนวคิดเรื่องการปฏิรูประบบความยุติธรรมแนวคิดประสบการณ์เรื่องระบบความยุติธรรมชุมชน ซึ่งพบว่าตำรวจคนเดียวกัน ถ้าอยู่ในระบบความยุติธรรมแนวดิ่งจะเป็นที่เกลียดชังของประชาชน แต่ถ้าอยู่ในระบบความยุติธรรมชุมชนจะเป็นที่รักของประชาชน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “ระบบ” กำหนดพฤติกรรมของบุคคล ไม่ใช่ กรรมส่วนบุคคลอย่างเดียว จึงสมควรปฏิรูประบบ

ขออวยพรให้การปฏิรูประบบตำรวจ สัมฤทธิ์ผล ประชาชนปลอดภัย ตำรวจทั้งประเทศเป็นคนเก่งและคนดี เป็นที่ถนอมรักของประชาชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘บิ๊กเอก’ ยกเสียงสะท้อนจากตำรวจ เจ็บปวดผู้มีอำนาจข่มขืนองค์กร ถึงเวลาต้องปฏิรูปตร.

อีกเสียงสะท้อนจากนายตำรวจ ที่สื่อสารออกมา อย่างเจ็บปวด เปรียบเทียบให้เห็นภาพองค์กรตำรวจ ผู้มีอำนาจทางการเมือง อดีตผู้บังคับบัญชาสูงสุด ทำอะไรไว้ ควรที่จะปฏิรูปตำรวจอีกหรือไม่

โพลชี้ชัดเจน ประชาชน อยากเห็นนายกฯ ปฏิรูปตำรวจ

นายนพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่ปรึกษามูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ และผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล เสนอผลการศึกษาเรื่อง ปฏิรูปตำรวจ กับ ศรัทธาจากประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวนทั้งสิ้น 1,597 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา

'สังศิต' เผยแพร่บทความ 'ตำรวจ : เดินหน้าหรือถอยหลัง' หนุนปฏิรูปเป็นตำรวจจังหวัด

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เพยแพร่บทความเรื่อง ตำรวจ : เดินหน้าหรือถอยหลัง มีเนื้อหาดังนี้

'จตุพร' จี้นายกฯปฏิรูปองค์กรตำรวจครั้งใหญ่ เพื่อกู้ภาพลักษณ์ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์กรณี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ หรือ ทนายตั้ม แถลงเส้นทางการเงินพนันออนไลน์โยงตำรวจยศ “บิ๊ก” ว่า