15 องค์กรนักศึกษาร่อนแถลงการณ์คำวินิจฉัย 'นายกเถื่อน' ประณามใช้กฎหมายย่ำยีวงการนิติศาสตร์

15 องค์กรนักศึกษาร่อนแถลงการณ์คำวินิจฉัย ‘นายกเถื่อน’ ประณามการใช้กฎหมายย่ำยีวงการนิติศาสตร์

1 ต.ค. 2565 – เมื่อเวลา 13.30 น. สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมองค์กรนักศึกษา 15 องค์กร เรื่องคำวินิจฉัย “นายกเถื่อน” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายหลังจากที่วานนี้ (30 ก.ย.) มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อนั้น

สำหรับ แถลงการณ์ร่วม 15 องค์กรนักศึกษา ระบุว่า ตามคําวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2565 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อไปได้ แม้ว่าจะดํารงตําแหน่งครบ 8 ปีไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2565 ซึ่งหมายความว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถดํารงตําแหน่งถึงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2568 หรือดํารงตําแหน่ง ต่อเนื่องถึง 10 ปี 7 เดือน และ 12 วัน

ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารง ตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง” ชี้ให้เห็นว่า การดํารงตําแหน่งของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ครบ 8 ปี โดยให้เริ่มนับวาระ การขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้ มิใช่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นวันที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มทําหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

อย่างไรก็ดี ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ความว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลัง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นําความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม” เป็นการรับรองหลักการความต่อเนื่อง ของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ การเริ่มนับเวลาดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นการละเลยเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

นอกจากนี้ พิจารณาจากเจตนารมณ์ตาม มาตรา 158 วรรคสี่ การกําหนดระยะเวลาก็เพื่อมิให้ผูกขาด อํานาจในทางการเมือง (สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, 2562, น. 275) รวมทั้งเหตุผลในการยึดติดอํานาจมากเกินไป ซึ่งทั้งสองเหตุผลเป็นเจตนารมณ์พื้นฐานของกรอบการใช้อํานาจ การเริ่มนับเวลาการดํารงตําแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ พ.ศ.2560 เป็นการพิจารณาเพียงตัวอักษร แต่กลับมิได้เหลียวแลสภาพแวดล้อมในความเป็นจริง

สุดท้าย หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มดํารงตําแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.2560 ก็กลายเป็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนในฐานะนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ใช่หรือไม่

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ ระบุอีกว่า องค์กรนักศึกษาทั้ง 15 องค์กร ขอประณามการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักการ และเพื่อประโยชน์ของประชาชนไทย ซึ่งเป็นการย่ำยีวงการนิติศาสตร์ ซึ่งคําพิพากษาที่เคยประกาศออกไปจะคงอยู่เรื่อยไป

องค์กรนักศึกษา 15 องค์กร
1 ตุลาคม พ.ศ.2565

พศิน ยินดี ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชนกันต์ นภารักษาวงศ์ นายกองค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
สุทธิพงษ์ ลีโคตร นายกองค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา
ธนภัทร ขันชาลี นายกองค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สกลนคร
อิทธิพันธ์ ขวัญดํา นายกองค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กําแพงแสน
สถาปัตย์ เพชรศิราสัณห์ หัวหน้าพรรคจุฬาสามัญชน
กฤตภาส เชษฐเจริญรัตน์ นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริศนียาภรณ์ บุญจันทร์ ประธานสภานิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร
ต่อลาภ ชูชื่น ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ดารามี วานิ รักษาการประธานสภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
บัลลังก์ หวันหมาน นายกองค์การบริหาร องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ชิษณุชา ตะละภัฏ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร
พรหมพร สิทธิวงศ์ ผู้แทนกรรมการหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พงศ์ภัค สามงามยา ประธานสภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ละเอียดยิบ! มติศาลรธน. 5 ต่อ 4 'เศรษฐา' พ้นนายกฯ เซ่นฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนายจิระนิติ หะวานนท์ เริ่มอ่านคำวินิจฉัย

'ศิลป์ชัย' เตือนพรรคพวก ทำอะไรให้ระวัง ศาลรธน.จะขุดตั้งแต่สมัยเรียนว่าโพสต์อะไรเอาไว้บ้าง

เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ศาสนวิทยา dr.Sinchai Chaojaroenrat’ ของ ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ โพสต์ แนวร่วมขบวนการผู้ลี้ภัย

‘ก้าวไกล’ ระดมสาวกใส่เสื้อสัญลักษณ์ ก.ก. ร่วมฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรค 7 ส.ค. ที่อาคารอนาคตใหม่

เพจพรรคก้าวไกล - Move Forward Party โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า  เรียน ประชาชนที่เคารพ เนื่องจากวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป

'รังสิมันต์' รับสภาพคงสู้คดียุบพรรคยากขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้นตาย

'โรม' รับคงสู้คดียากขึ้น หลังศาล รธน.นัดชี้ขาดยุบก้าวไกล 7 ส.ค.นี้ ย้ำความสำคัญอยู่ที่กระบวนการ ยกพยานปากสำคัญควรได้ขึ้นไต่สวน ยันพรรคไม่ได้ล้มล้างการปกครอง