'ไอติม' ชงเลิกภาษีผ้าอนามัยเพื่อสร้างสังคมเสมอภาค!

'ไอติม' ชงยกเลิกภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบ พร้อมจัดสรรสวัสดิการผ้าอนามัยนำร่องในสถานศึกษา ชี้การส่งเสริมสวัสดิการผู้มีประจำเดือนเป็นการร่วมสร้างสังคมที่เสมอภาค

22 ก.ย.2565 - นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ผู้อำนวยการสื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “3 ข้อเสนอลดภาระและความท้าทายของผู้มีประจำเดือน : ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย นำร่องจัดสรรสวัสดิการในสถานศึกษา สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับสังคม” ระบุว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสร่วมกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ของพรรคก้าวไกล หัวข้อ “ประจำเดือนสร้างชาติ สวัสดิการถ้วนหน้าเปลี่ยนประเทศ” เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับนโยบายสวัสดิการเพื่อผู้มีประจำเดือน ซึ่งเป็นประชากรเกือบ 20 ล้านคนทั่วประเทศ - โดยผู้ร่วมเสวนาคนอื่นๆ ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคการแพทย์ (พญ.ณัฐชา พูลเจริญ สูตินรีแพทย์) ภาคเอกชน (วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ ผู้ก่อตั้งผ้าอนามัยทางเลือก “ไอร่า”) ภาคประชาชน (ณฤดี จินตวิโรจน์ ผู้ผลักดันแคมเปญยกเลิกภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบ) และ ภัสริน รามวงศ์ (ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล)

สวัสดิการสำหรับผู้มีประจำเดือน ไม่ใช่แค่เรื่องของประจำเดือน แต่เป็นเรื่องของการสร้างสังคมที่คนทุกคนมีโอกาสเท่ากันและที่ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากปัจจัยที่เขาควบคุมไม่ได้ สำหรับผู้มีเพศกำเนิดหญิง การมีประจำเดือนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และสร้างความท้าทายใน 3 มิติ ได้แก่

1.มิติค่าใช้จ่าย ที่ผู้มีประจำเดือนต้องแบกรับมากกว่าผู้ไม่มีประจำเดือน

2.มิติสุขภาพ เนื่องจากการมีประจำเดือนส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจ ซึ่งอาจกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานและการใช้ชีวิต

3. มิติค่านิยมสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้มีเพศกำเนิดหญิงในสถานศึกษาที่ถูกล้อเลียนจากเพื่อน

ในเมื่อคนบางกลุ่มต้องเจออุปสรรคหรือความท้าทายมากกว่าคนกลุ่มอื่นเพราะปัจจัยที่เขาเลือกไม่ได้ รัฐจึงมีหน้าที่ในการเข้าไปปลดล็อกและทลายข้อจำกัดดังกล่าว

แม้ผู้เสวนาคนอื่นทุกคนจะมี “จุดร่วม” ที่ตรงกันในการสร้างความตระหนักเรื่องสวัสดิการประจำเดือน แต่ก็ได้สะท้อนมุมมองที่หลากหลายกันไปตามบทบาทการทำงานที่แตกต่างกัน

คุณภัสริน (จากภาคการเมือง) ได้กล่าวไว้ว่า ผู้มีเพศกำเนิดหญิงในสังคมไทยต้องเจอผลกระทบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ค่านิยม โรงเรียนในประเทศไทยมักปลูกฝังชุดความคิดว่าการมีประจำเดือนเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด (เช่น เด็กผู้หญิงจะเปลี่ยนผ้าอนามัยก็ต้องเก็บใส่กระเป๋าให้มิดชิด) หรือ ในแง่ค่าใช้จ่าย เนื่องจากผ้าอนามัยมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำ ทำให้ผู้หญิงที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจต้องทนใช้ผ้าอนามัยเพียงชิ้นเดียวตลอดวันเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย (เช่น พนักงานร้านนวดคนหนึ่งเล่าว่า เธอทำงานตั้งแต่ 10 โมงถึง 4 ทุ่มโดยไม่ได้เปลี่ยนผ้าอนามัยเลย) โดยปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีความก้าวหน้าเรื่องนี้ เช่น เคนยาเป็นประเทศแรกของโลกที่ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยเมื่อปี 2004 หรือ สหราชอาณาจักร ก็มีการส่งเสริมให้ผู้หญิงเลือกผ้าอนามัยที่เหมาะสมกับตัวเอง จึงมีการจัดผ้าอนามัยหลายรูปแบบไว้ตามสถานที่สาธารณะให้หยิบฟรี เช่น โรงพยาบาล สถานศึกษา

พญ.ณัฐชา (จากภาคการแพทย์) ได้กล่าวไว้ว่า แม้ทำงานเป็นสูตินารีแพทย์ แต่ต้องยอมรับว่าสวัสดิการเกี่ยวกับผ้าอนามัยเป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่ค่อยพูดถึง ทำให้ผู้หญิงหลายคนมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการมีประจำเดือน เช่น อายุเท่าไรจึงจะมีประจำเดือน ควรกินหรือไม่กินอาหารประเภทใดในระหว่างมีประจำเดือน จำนวนวันที่มีประจำเดือนควรเป็นเท่าไร เป็นต้น ดังนั้น การให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่เด็กและเยาวชน ทั้งเรื่องประจำเดือน เรื่องเพศสัมพันธ์ และการคุมกำเนิด จึงมีความสำคัญต่อการสร้างสุขภาพที่ดีของคนในสังคม เพราะจะช่วยลดปัญหาที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็น การตั้งครรภ์ก่อนพร้อม หรือ โรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์

คุณวรางทิพย์ (จากภาคเอกชน) กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่เลือกทำธุรกิจเกี่ยวกับผ้าอนามัย เพราะเห็นมาตั้งแต่เด็กว่าผู้หญิงมีทางเลือกน้อยมากในการเลือกผ้าอนามัยให้เหมาะกับสรีระของตัวเอง ทั้งที่ประจำเดือนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมานาน แต่กลับไม่มีนวัตกรรมด้านนี้ จึงต้องการสร้างผ้าอนามัยที่ใช้สะดวก ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ และย่อยสลายง่าย อย่างไรก็ตาม คิดว่ามาตรการทางภาษีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหา “ความจนประจำเดือน” ได้ เพราะต่อให้ไม่มีภาษีก็ยังมีคนที่เข้าไม่ถึงอยู่ดี รัฐจึงควรมีนโยบายอื่นมาช่วยเสริม รวมถึงการผลักดันให้มีงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพของผู้หญิง เพื่อมีข้อมูลครบถ้วนในการออกมาตรการต่างๆ การทำความเข้าใจเรื่องประจำเดือนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนทุกเพศ เพราะจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วยความเข้าใจมากขึ้น แม้ว่าสวัสดิการผ้าอนามัย อาจเป็นเรื่องที่คนบางกลุ่มไม่ได้ประโยชน์โดยตรง แต่นี่คือการรับประกันว่าสังคมเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ณฤดี (จากภาคประชาชน) กล่าวว่า สังคมไทยควรสร้างความเข้าใจว่าการมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาล้อเลียน และเป็นสิ่งที่สร้างภาระทางร่างกายและการเงินแก่ผู้หญิง จนอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่ผู้หญิงอยากยกเลิกมากที่สุดไม่ใช่ภาษีผ้าอนามัย แต่คือการยกเลิกประจำเดือน ดังนั้น ภาครัฐจึงควรสนับสนุนช่วยเหลือผู้มีประจำเดือนเท่าที่จะช่วยได้ หากยังไม่สามารถทำให้เข้าถึงฟรีได้ทันทีเพราะข้อจำกัดทางงบประมาณ ณ ปัจจุบัน ก็ควรเริ่มต้นจากการยกเลิกภาษี เช่นเดียวกับที่ประเทศอินเดียทำได้ หรือนำร่องแจกผ้าอนามัยฟรีในห้องน้ำมหาลัยฯ โดยปัจจุบันแคมเปญยกเลิกภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบ มีผู้ลงชื่อในเว็บไซต์ change.org มากกว่า 62,000 คน (https://bit.ly/3BAIytG) และได้ส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรีฯ สภาผู้แทนราษฎรแล้ว

หลังจบเสวนา ผมได้ร่วมกิจกรรมวาดภาพที่เพื่อสื่อถึงผู้หญิงและสวัสดิการประจำเดือน รวมถึงรับฟังการแสดงดนตรีเพื่อสื่อสารถึงความเสมอภาคทางเพศ โดย “น้ำ คีตาญชลี” และ “เอ้ กุลจิรา” ที่ได้ย้ำจุดยืนของการทำให้ “การมีประจำเดือนเป็นเรื่องสาธารณะ”

เพื่อสานต่อข้อเสนอจากภาคประชาชน และเพื่อออกแบบสังคมที่เป็นธรรม ผมและพรรคก้าวไกลเล็งเห็นถึงความสำคัญและความเป็นไปได้ ในการผลักดันนโยบายดังต่อไปนี้ ที่รัฐสามารถเดินหน้าได้ทันที:

1. ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายผู้มีประจำเดือน

2. จัดสรรสวัสดิการผ้าอนามัยนำร่องในสถานศึกษา เพื่อช่วยเหลือผู้มีประจำเดือนโดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน

3. สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องประจำเดือนกับเยาวชนและทุกภาคส่วนของสังคม

การส่งเสริมสวัสดิการผู้มีประจำเดือน ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้มีประจำเดือน แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนในการร่วมกันสร้างสังคมที่เสมอภาคและที่โอกาสของทุกคนเท่ากัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พริษฐ์' ชักแม่น้ำทั้งห้าชวนรัฐบาลยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบ

'พริษฐ์' แนะ 'รัฐบาล' ควรยื่นร่างแก้ไข รธน.เกี่ยวข้องกับ ส.ส.ร. ประกบฝ่ายค้าน มอง มี 2 ด่านต้องผ่าน ชี้ 'นายกฯ' ต้องเป็นผู้ยุติร้อยร้าว เชื่อยิ่งร่วมมือฝ่าฟันเท่าไหร่ โอกาสสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น

พรรคประชาชนจองกฐินซักฟอกรัฐบาลตามมาตรา 151

ปชน.จ่อเปิดซักฟอกรัฐบาล เข้มข้นเหมือนเดิม ย้ำ ายค้านเดินหน้าเต็มที่ ทั้งตรวจสอบ รบ.-เสนอกฎหมาย โยนถาม 'ทสท.' มีสส.ฝ่ายค้านกี่คน โว 'พรรคประชาชน' 140 คนพอแล้ว

ปธ.รัฐสภา ยันเปิดสมัยประชุม ธ.ค.เดินหน้าแก้ รธน. อยากให้สำเร็จในรัฐบาลนี้

ปธ.รัฐสภา ยันเปิดสมัยประชุม ธ.ค.เดินหน้าแก้ รธน. อยากให้สำเร็จในรัฐบาลนี้ เผยบรรจุแล้วทั้ง 17 ฉบับ ไม่ขัดกม.-คำวินิจฉัยศาล เหตุแก้รายมาตรา ไม่ต้องทำประชามติ ยกเว้นเสนอใหม่