17 ก.ย.2565 - เพจเฟซบุ๊ก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เผยแพร่บทความเรื่อง "ด้านมืดของการใช้งบพีอาร์ราชการ" โดย ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มีเนื้อหาดังนี้
เงินหลายพันล้านบาทต่อปีถูกใช้เพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์และจัดอีเว้นท์ของหน่วยงานรัฐ แต่มีคำถามเสมอว่า เงินที่เสียไปนั้นประชาชนได้ประโยชน์อะไร ถูกโกงกินมากแค่ไหน ควรใช้งบมากเท่าไหร่จึงเหมาะสม และงานแบบนี้ทำไมต้องจ้างเอกชน
ข้าราชการทำเองไม่ได้หรือ? ข้อมูลจากบริษัท นีลเส็นฯ ระบุว่า ในปี 2564 ภาครัฐใช้งบโฆษณา 2,559 ล้านบาท และในปี 2565 คาดว่าจะใช้งบเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 – 6 จากปีที่แล้ว เพื่อ “ซื้อสื่อ” หรือพื้นที่โฆษณาบนหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ป้ายโฆษณา สื่อออนไลน์ ฯลฯ (สถิติปี 2556 ใช้ไป 7,985 ล้านบาท - TDRI) ไม่รวมค่าจ้างเอเยนซี่ ออร์กาไน้เซอร์ ผลิตสื่อโฆษณา ค่างานพีอาร์ จัดงานอีเว้นท์เล็ก/ใหญ่ จัดทำสิ่งพิมพ์ ฯลฯ
ข้อมูลต่อไปนี้เป็นภาพรวมของคอร์รัปชันในการใช้งบโฆษณา ประชาสัมพันธ์และจัดอีเว้นท์ของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐ
โกงได้อย่างไรบ้าง? กิจกรรมเหล่านี้ มีทั้งที่เป็นไปตามแผนของหน่วยงานและที่เกิดขึ้นตามความต้องการเร่งด่วนของนักการเมืองหรือหัวหน้าหน่วยงาน แต่ละโครงการจึงอาจเกิดคอร์รัปชันซ้ำซ้อนได้มากถึง 4 รูปแบบ
1) เงินทอน หรือเงินใต้โต๊ะที่เอกชนต้องจ่ายร้อยละ 15 ถึง 30 สำหรับงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ หากเป็นงานอีเว้นท์อัตราจ่ายจะมากถึงร้อยละ 40 ถึง 70 ของงบประมาณโครงการ
เหตุที่งานอีเว้นท์ต้องจ่ายหนักกว่าเป็นเพราะ การตั้ง “ราคากลาง” ขาดฐานอ้างอิงชัดเจน เช่น ค่าจ้างดารานักร้อง ค่าระบบแสงสีเสียง เมื่อจัดงานก็ยากที่จะบอกได้ว่าผลงานมีคุณภาพขนาดไหน ครั้นเมื่อจบงาน “หลักฐาน” ทุกอย่างถูกรื้อทิ้งเหลือเพียงภาพถ่ายและรายงานบอกเล่า บางงานถูกจัดขึ้นในต่างประเทศ ดังนั้นถูกหรือแพง คุ้มหรือไม่ การตรวจสอบ/ประเมินเป็นเรื่องยากสำหรับคนนอกวงการ
2) ครอบงำสื่อ จากการตรวจสอบพบว่า งบประเภทนี้จำนวนมากไม่เปิดประมูลเป็นการทั่วไป แต่ใช้ “วิธีคัดเลือกหรือวิธีเฉพาะเจาะจง” ผู้มีอำนาจจึงฉวยโอกาสนำงบประมาณที่มีไป “อุดหนุนกลุ่มธุรกิจหรือสื่อที่เป็นเครือข่าย” คนกันเอง ใช้ต่อรองผลประโยชน์ ปิดปากสื่อ แทรกแซงหรือครอบงำสื่อบางรายให้เสนอข่าวบิดเบือน ตัวอย่างเรื่องนี้คือ กรณี ป.ป.ช. ฟ้องบุคคลในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ คดีโรดโชว์มูลค่า 240 ล้านบาท
3) สร้างภาพ โครงการจำนวนมากเน้นสร้างภาพ สร้างชื่อเสียงให้นักการเมือง หน่วยงานหรือตัวหัวหน้าหน่วยงาน มากกว่าสื่อสารให้ประชาชนรับรู้โครงการ บริการหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
4) โกงเล็กโกงน้อย เช่น เอาของขวัญของชำร่วยที่หน่วยงานซื้อหามา เช่น ปฏิทิน ไดอารี่ ร่ม แก้วน้ำ ฯลฯ ไปแจกชาวบ้านหรือพรรคพวก บางรายถึงขนาดพิมพ์ภาพและชื่อของตนเข้าไปด้วย
ทำไมต้องจ้าง ข้าราชการทำเองไม่ได้หรือ?
งานเหล่านี้ข้าราชการทำเองได้ถ้าเป็นงานเล็ก งานภายในหรืองานที่จัดบ่อยๆ แต่หากเป็นงานขนาดใหญ่ซับซ้อนมาก ต้องการคุณภาพให้ดึงดูดและถูกตาต้องใจ ก็ยากมากที่ข้าราชการจะทำได้ เพราะขาด “ทักษะ” ในการสร้างสรรค์ การเขียน จัดคิวงาน ควบคุมสภาพแวดล้อม ความคล่องตัวด้านการเงิน ฯลฯ รวมถึงขาด “คอนเน็กชั่น” ในการจัดหาซัพพลายเออร์จัดแสงสีเสียง สเปเชี่ยลเอฟเฟค ของตกแต่ง ติดต่อดารานักร้อง วางแผนสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์/สื่อหลักที่เข้าใจและรู้จักกลุ่มเป้าหมายของงาน จึงสมควรแล้วหากต้องจ้างเอเยนซี่หรือออร์กาไน้เซอร์ “มืออาชีพและซื่อสัตย์” มาดำเนินการ
ข้อเสนอแนะ
1. “คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ” ควรกำหนดทิศทาง นโยบายและแนวทางในการดำเนินงานของภาครัฐให้ชัดเจน มีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมวางกลไกตรวจสอบ
2. เปิดเผยแผนงานประจำปี งบประมาณและข้อมูลโครงการ ของทุกหน่วยงานให้ประชาชนและบุคคลในวงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้รับรู้ล่วงหน้าอย่างไม่มีข้อจำกัด ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่แฝงอยู่ในโครงการอื่น รวมถึงเงินที่จ่ายออกมาจากหน่วยงานย่อย เช่น กองทุน
3. จัดให้มีการรวบรวมข้อมูลการใช้งบประมาณทุกรายการ ทุกหน่วยงานไม่มีข้อยกเว้น
4. ห้ามการประชาสัมพันธ์ที่เน้นตัวบุคคลและหน่วยงาน มากกว่าความสำคัญของเนื้องานที่ต้องการให้ประชาชนรับรู้
5. กำหนดสัดส่วนของงบประมาณเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์และจัดอีเว้นท์ ต่องบดำเนินการโครงการหลักที่เกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ อย่างสมเหตุสมผล
6. กิจกรรมสาธารณะเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์และกิจกรรมบางประเภทอย่างต่อเนื่อง เช่น หนังกลางแปลง ดนตรีในสวน ตลาดนัด ตลาดน้ำ งานแสดงศิลปะ งานเทศกาล ฯลฯ ภาครัฐอาจลดภาระโดยเปิดประมูลสิทธิ์จัดงานให้เอกชนเป็นรายปีหรือหลายปีต่อเนื่อง แล้วให้เขาไปหาสปอนเซอร์เอาเอง ภายใต้กติกา การกำกับดูแลของรัฐร่วมกับชุมชนและองค์กรภาคประชาชนที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ทั้งนี้รัฐอาจให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสมได้
ข้อ 4 นี้ต่างจากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของจังหวัด อย่างการออกร้านขายของหรือจัดประกวดพระเครื่อง ที่เอกชนขอจัดงาน ขอใช้สนามหน้าศาลากลางจังหวัด ศูนย์ประชุม ฯลฯ โดยผู้จัดงานต้องจ่ายใต้โต๊ะให้ผู้ใหญ่ในจังหวัดเซ็นต์อนุมัติหลักแสน แต่จะกี่แสนขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และจำนวนวันที่จัดงานแต่ละครั้ง
บทสรุป
การป้องกันเป็นวิธีรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมได้ดีที่สุด เพราะการวิเคราะห์ความโปร่งใสและคุ้มค่าทำได้ยาก การจับผิดยังต้องอาศัยการเปิดโปงของบุคลากรในหน่วยงานและผู้ประกอบการในวงการโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น เว้นแต่มีหลักฐานหรือเส้นทางการเงินที่ผิดปรกติหลุดรอดออกมาสู่สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลและบริการของรัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การสื่อสารที่ดีจะสร้างความเชื่อมั่นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในปัจจุบันบางอีเว้นท์ได้กลายเป็นเวทีแห่งความสุขและความหวังของประชาชน ดังนั้น อย่าปล่อยให้ความละโมบของพวกขี้โกงมาทำลายโอกาสดีๆ ของสังคมครั้งแล้วครั้งเล่าเลยครับ
ทุกท่านสามารถค้นหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ผ่านมาแล้วได้ในเว็บไซ้ท์ ACT Ai ด้วยคำค้นหา “ประชาสัมพันธ์+รัฐบาล” หรือ “ประชาสัมพันธ์+ชื่อหน่วยงาน” หากโครงการนั้นถูกบันทึกและระบุชื่ออย่างถูกต้องในฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลาง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
16 กันยายน 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
องค์กรต้านโกง แนะรัฐบาลแก้ไข 6 ข้อคอร์รัปชันที่นานาชาติมองไทย เพื่อเรียกความเชื่อมั่น
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ รัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันจริงหรือ? มีเนื้อหาดังนี้ .
'ดร.มานะ' แฉต่างชาติมองไทย ผ่าน 5 เรื่องคอร์รัปชั่น นักโทษชายชั้น 14 โจ่งแจ้ง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ ต่างชาติมองไทย ผ่าน 5 เรื่อง
ก้าวไกล ซัดงบประชาสัมพันธ์ภาครัฐเกือบ 3 พันล้าน ไร้หลักเกณฑ์ ไม่โปร่งใส งานซ้ำซ้อน
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ จำนวนกว่า 2,945 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นสองแบบคือ 1.แบบทางตรง และ 2.แบบที่ซ่อนอยู่ในคำสำคัญต่างๆ
อึ้ง! ปปช. เปิดตัวเลขติดสินบนทั่วโลก เสียหาย 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
'ป.ป.ช.' จัดเสวนาปราบโกง พบทั่วโลกติดสินบนเสียหาย 2 ล้านล้านดอลลาร์ 'ประธานหอการค้าตปท.' ชี้ เสถียรภาพการเมือง-ทุจริต กระทบการตัดสินใจลงทุน
ถึงบางอ้อ! 9 เหตุผลทำไมพ่อค้า 'ฟันราคาประมูล' งานรัฐ
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความในนเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้
วันต่อต้านคอร์รัปชัน (อยากให้มีวันนี้ทุกๆวันในประเทศไทย)
เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย (Anti -Corruption Organization of Thailand หรือ “ACT”) และเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน