'ชัชชาติ' แจงน้ำท่วมกรุงเทพ แค่มีปัญหาบางเขต เร่งปรับปรุงเรื่องสื่อสารกับหน่วยงานให้ชัดเจน


“ชัชชาติ” ยันไม่มีวางยา หลังพบกระสอบในท่อระบายน้ำ “ลาดกระบัง” พร้อมขอบคุณ ”บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่ทำให้ประสานงานกรมชลฯ รวดเร็วขึ้น ย้ำ ไม่มีสั่งการข้ามหัวแน่นอน

15 ก.ย.2565 - ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์​ กล่าวถึงกรณีกระสอบทรายอุดท่อระบายน้ำเขตลาดกระบัง ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านได้โทรไปถามที่ผอ.เขต เพื่อถามถึงเรื่องราวว่าเป็นอย่างไร ซึ่งได้รับรายงานกลับมาว่า เป็นวิธีการบล็อคน้ำในถนน เพราะหากน้ำท่วมในถนนเยอะไม่สามารถดูดออกได้ แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งที่น้ำอาจไม่ท่วมมาก วิธีที่แก้คือไปบล็อคท่อระบายน้ำกั้นโซนนั้น เพื่อดูดออก และสาเหตุที่ต้องบล็อคน้ำคือเพื่อไม่ให้น้ำไหลวนเข้ามา อย่างน้อยทำให้ถนนหลักเดินทางสะดวกก่อน แต่หลังจากนั้นเมื่อน้ำไหลลงทั้งหมดแล้วก็สามารถเอาตัวอุดออกและน้ำก็จะไม่วนออกมา เหมือนเขื่อนกั้นชั่วคราว และหลังจากสอบถามทางผอ.เขตแล้ว ยอมรับว่ายังไม่เชื่อว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องจึงติดต่อหานายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. ว่าเป็นวิธีการที่ใช้ได้จริงหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า ทำได้ และขอยืนยันว่าไม่มีใครวางยา กทม.แน่นอน เพราะถ้ามีการวางยา คนที่รับผิดชอบในพื้นที่ก็จะต้องโดนไปด้วย

“ต้องเรียนตามตรงว่าผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เราก็มีหน้าที่กำกับภาพรวม แต่ปัญหาที่ผ่านมาหลายครั้งที่บล็อคแล้วลืมเอาออก แต่เข้าใจว่าประชาชนหวังดีว่าท่วมถนนจึงได้มาดูและเห็นท่อตัน จึงได้แจ้งทางทหารเรือมาช่วย ซึ่งตามคำอธิบายผมเข้าใจว่า การที่ต้องบล็อคน้ำ ต้องบล็อคที่ท่อระบายน้ำ เพราะท่อระบายน้ำไปลงที่คลอง หากน้ำคลองสูงกว่าน้ำจะย้อนท่อ และหากเราต้องการดูดน้ำถนนออกไปลงที่คลอง แต่น้ำในคลองสูงอยู่ต้องทำแนวกระสอบและอุดไม่ให้น้ำไหลตามท่อขึ้นมา แต่ในทางเทคนิคต้องรอยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือหากจะบล็อคก็ต้องอย่าลืมเอาออก เดี๋ยวก็คงต้องไปดูรายละเอียดและให้ทางสำนักระบายน้ำ รวมถึงได้แจ้งนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. เข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง และขอบคุณที่ช่วยกันแจ้งเข้ามา ” นายชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เราต้องมีการปรับปรุงเรื่องการสื่อสารให้มีความชัดเจนมากขึ้นกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่าจะมีการอุดท่อระบายน้ำตรงไหน และตนเชื่อว่าจากการที่ได้คุยกับคนจำนวนมาก เขารู้สึกดีขึ้น เพราะการทำเส้นเลือดฝอยที่ไม่ได้มีการลอกมากนาน ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาสิ่งที่ได้ทำไป ตนว่าได้ผลดี

“ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่กรุงเทพฯน้ำท่วม เป็นกรุงเทพฯบางส่วน เช่น ลาดกระบัง บางเขน ดอนเมือง แต่กรุงเทพฯ 80 เปอร์เซนต์น้ำไม่ได้ท่วม จากเท่าที่รายงานเมื่อเช้าปีนี้ฝนเยอะมาก ก็ต้องเรียนว่าต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่กทม. ที่ได้ทำงานอย่างหนัก รวมถึงมีการวางแผน ทำให้สามารถรับน้ำได้ในจำนวนมากได้ โดยที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯยังอยู่ได้ ไม่ได้ท่วมขังนาน แต่จุดที่เป็นจุดอ่อนก็ต้องยอมรับ ว่าต้องไปปรับปรุงเพิ่ม อย่างเช่น ลาดกระบัง ที่มีปัญหาอยูที่กายภาพ ” นายชัชชาติ กล่าว

ส่วนแผนการระบายน้ำในพื้นที่เขตลาดกระบังหลังจากเมื่อวานนี้ ได้พบกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือว่าในแผนระยะยาวจะต้องมีการทำทางด่วนน้ำเพื่อเป็นการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วกว่าเดิม

"ขอขอบคุณพล.อ.ประวิตร ที่ติดตามลงพื้นที่ด้วยตนเอง ทำให้การประสานงานกับกรมชลประทานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะ กทม.อาจจะไม่มีอำนาจมากพอในการสั่งการให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำได้มากเท่าที่ควรแต่พลเอกประวิตร เป็นประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สามารถสั่งการได้โดยตรง” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวย้ำว่า สำหรับการบริหารจัดการเรื่องสถานการณ์น้ำใน กทม.ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างดีมาโดยเสมอตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม ที่ได้ให้การช่วยเหลือสั่งการ ซึ่งกทม.เป็นท้องถิ่น อย่างไรก็ต้องอาศัยรัฐบาลใหญ่อยู่แล้ว สำหรับกรณีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์น้ำของกทม. ทั้งนี้ ยืนยันไม่ได้เป็นการทำงานข้ามหัวใครทุกอย่างมีข้อมูล และหลักฐานที่ชัดเจนมีระเบียบแบบแผนในการสั่งการ

ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ นายชัชชาติ กล่าวว่า ไม่ได้กังวล กังวลเพียงว่าจะแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างไร ขอขอบคุณทุกคำแนะนำ โดยวันเสาร์นี้ (17 ก.ย.65) จะนัดพูดคุยกับ นายเสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำร่วมกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 3 เตือนฝนถล่มภาคใต้ คลื่นลมอ่าวไทย-อันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 3 (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567)

โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้

อากาศเปลี่ยนแปลง ‘กทม.’ อุณหภูมิลดลง ‘เหนือ-อีสาน’ หนาวเย็น ‘ภาคใต้’ ฝนตก

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว