'ชัชชาติ' ไลฟ์สดแจงลาดกระบังจมเพราะฝนตกเป็น 2 เท่าของปกติภาวนาไม่ให้ถล่มซ้ำ

'ชัชชาติ' ชี้สถานการณ์น้ำลาดกระบังฝนตก 2 เท่าของปกติ เร่งสูบน้ำออก ย้ำหารือกับกรมชลประทานตลอดทั้งแผนระยะสั้น กลาง ยาว ด้าน 'ยงยศ' เผยถ้าฝนไม่ตกเพิ่มใช้เวลา 5 วัน เข้าสู่ภาวะปกติ

14 ก.ย.2565 - นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร ไลฟ์สดผ่านเพจชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขณะลงพื้นที่เขตลาดกระบังช่วงเช้า ก่อนพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าวันนี้เราอยู่ที่ลาดกระบังเป็นจุดที่สู้กันหนักสุด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะลงมาตรวจพื้นที่เราก็ลงมาให้ข้อมูลและหารือ และหากถามว่าทำไมลาดกระบังท่วมเพราะเดือน ก.ย. ลาดกระบังฝนตกเยอะมาก ถ้าดูค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาจากการเก็บข้อมูล 30 ปี เราเก็บข้อมูล 30 ปี ลาดกระบังมีน้ำเฉลี่ย 120 มิลลิเมตร วันที่ 1-14 ก.ย. เฉลี่ย 120 มิลลิเมตร โดยปีนี้ของจริงตกมาแล้ว 300 มิลลิเมตร เรียกว่า 2 เท่าของปกติ ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำยาก ซึ่งลาดกระบังจะถูกล้อม 3 ด้าน ด้านตะวันออกจะเป็น จ.ฉะเชิงเทรา ด้านใต้จะเป็น จ.สมุทรปราการ ลงทะเล ด้านตะวันตกคือแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะฉะนั้น กทม.พยายามดึงมาออกสถานีสูบน้ำพระโขนง แต่อีก 2 ด้านกรมชลประทานต้องช่วยกัน มีการหารือกันตลอด

หลังจากนั้น นายชัชชาติ ได้ให้ นายยงยศ เนียมทรัพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 กรมชลประทานกล่าวถึงสถานการณ์น้ำ ว่าปริมาณฝนตกในเขตฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยารวมกรุงเทพมหานคร และจังหวัดข้างเคียง คือสมุทรปราการ ปทุมธานี และฉะเชิงเทราบางส่วน นั้น ปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกลงมาตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ย. -ปัจจุบัน คิดเป็นปริมาณน้ำรวมประมาณ 726 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเยอะมากเทียบกับอัตราการสูบของเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันสูบน้ำได้ประมาณวันละ 48 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าเห็นจากกราฟ จะเห็นความต่างอัตราการสูบของเรายังน้อยกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำออก ซึ่งถ้าฝนไม่ตกเพิ่มก็ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5 วัน จะเข้าสู่ภาวะปกติ

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ลุ้นให้ฝนไม่ตกแล้วพยายามเร่งระบายให้เร็วที่สุดนี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมถึงมีน้ำค้างอยู่ในพื้นที่ลาดกระบังเยอะ เพราะมีปริมาณฝนมากกว่าที่ผ่านมา แต่ในระยะสั้นก็คือต้องลุยดูดน้ำกันให้เต็มที่และช่วยเหลือประชาชนปิดล้อม-สูบออก ซึ่งตอนนี้ก็ทำเต็มที่ แต่ในระยะกลาง-ระยะยาว ต้องคุยแผนซึ่งก็คุยกันอยู่แล้ว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีแผนต้องปรับปรุงการระบายน้ำในภาคตะวันออกให้ดีขึ้น อาจจะไปทางบางประกงหรือไม่ก็ลงไปทางคลองสำโรง ออกคลองลงทางใต้ ส่วนการระบายเข้ามาในกรุงเทพฯก็มีอยู่แล้วแต่คงทำอะไรมากไม่ได้เพราะว่าเป็นพื้นที่จำกัดที่ จะออกไปพื้นที่พระโขนง ถ้าสามารถแบ่งเบาออกทางภาคตะวันออกให้ดีขึ้นได้ แถวกรุงเทพชั้นในก็จะเบาลงด้วยทั้งสวนหลวง พระโขนง ก็ไม่ต้องแบ่งน้ำจากตรงนี้ไปสามารถระบายออกทะเลหรือออกบางปะกงโดยตรงได้

“นี่ก็เป็นการวางแผนในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งเราก็มีการคุยกันตลอด ระหว่าง กทม.กับกรมชลประทานร่วมมือกันตลอด คุยกันทุกวันจันทร์มีแผนใหญ่ แต่ว่าแผนยาวที่ต้องลงทุนเยอะ กทม.คงลงทุนเองไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นหลายจังหวัด คงต้องร่วมมือกับกรมชลประทาน แล้วก็การบริหารน้ำของประเทศไทยภาพรวม ซึ่งวันนี้ก็เห็นชัดเจนแล้วว่าฝั่งตะวันออกระบายน้ำลงยากเหมือนกัน ยิ่งสภาวะปัจจุบันโลกร้อนฝนมาเยอะกว่าที่เราคาด ก็จะเห็นแล้วว่าต้องเอาลงทะเลทางใต้หรือออกทางตะวันออกไปที่แม่น้ำบางปะกงต้องมีการเพิ่มกำลังสูบ หลังจากนั้นจะทำให้ลาดกระบังสะพานสูง มีนบุรี หนองจอกน่าจะปลอดภัยมากขึ้น ที่ผ่านมาลักษณะการระบายน้ำของกรุงเทพฯ จะเอาเข้าพื้นที่เลี้ยวเข้าไปในกรุงเทพฯซึ่งมีระยะทางไกลรวมกับอีกหลายคลองข้างในทำให้ประสิทธิภาพอาจจะรับมือไม่ไหว เดี๋ยวคงจะต้องวางแผนระยะยาวกัน” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวต่ออีกว่า ในปี 2554 น้ำเหนือไม่ได้มาถึงจุดนี้ น้ำฝนเป็นหลัก แถวนี้ไม่ได้หนักเหมือนกับแถวด้านบนเพราะฉะนั้น ถ้าเอาปี 2554 มาเป็นเครื่องชี้วัด ก็อาจจะได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกถึงความรุนแรงของปี 2554 เพราะปี 2554 คือน้ำเหนือ ซึ่งตรงนี้อยู่ไกลไม่ได้รับผลกระทบ

ส่วนการระบายน้ำ นายชัชชาติ กล่าวว่า เครื่องสูบน้ำตอนนี้จะเป็นตัวย่อยที่ดูดจากชุมชนออกมา สิ่งที่ต้องการคือการผลักดันน้ำซึ่งปัจจุบันผลักดันจากคลองประเวศเข้าพระโขนง คาดว่ามีอยู่ประมาณ 18 ตัวและปลายคลองก็มีเรือผลักดันน้ำสูบลงล่าง ตอนนี้ก็จะมีที่คลองหัวจระเข้ ต่อจากลำปลาทิวลงมาก็น่าจะติดตั้งเพิ่ม เข้าใจว่ากรมชลประทานก็เร่งระบายน้ำจากคลองสำโรงเพราะตัดคลองด้านนี้อยู่ ถ้าคลองสำโรงพร่องลงก็คิดว่าจะดันน้ำออกล่างได้เร็วขึ้นอย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบันมวลน้ำตกไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นเราจึงต้องมีเครื่องสูบน้ำแบบโมบายที่แต่ละส่วนนำมารวมกันอย่างเช่น เมื่อวาน (13 ก.ย.) รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำมามอบให้ 6 เครื่องจากทั่วประเทศ แต่เราไม่สามารถติดตั้งล่วงหน้าได้เพราะเราไม่รู้ว่าฝนจะวิกฤตที่ไหน จึงต้องเป็นเครื่องสูบน้ำโมบายและแก้ปัญหาตามสถานการณ์ แต่ระยะยาว เชื่อว่าถ้าทำฝั่งตะวันออกให้ดีขึ้นก็จะลดภาระกรุงเทพฯได้เยอะเพราะน้ำไม่ต้องเข้าไปในเมืองแล้ว ก็จะดีทั้งสวนหลวง สะพานสูง มีนบุรี หนอกจอก ลาดกระยัง ก็คงต้องคุยแผนว่าจะนำน้ำออกทางไหนดีอันนี้ก็คงต้องเป็นภาพรวม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ลุงป้อม' เปิดมูลนิธิป่ารอยต่อฯ รับอวยพรปีใหม่

'ลุงป้อม' สดใส เปิดมูลนิธิป่ารอยต่อฯ รับอวยพรปีใหม่ ย้ำพระราชเสาวนีย์พระพันปีหลวง ปกป้องป่าให้ลูกหลาน ด้าน ผบ.เหล่าทัพ ทยอยอวยพร 3 ป. วานนี้

เดินตามแนวพระราชดำริ...ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมชุมพร

ในช่วงวันที่ 13-15 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมามรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงได้พัดปก คลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคใต้ตอนล่างเคลื่อนลงสู่ทะเลอัน

จับตาการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของภาคอีสานตอนบน

ลุ่มน้ำสงคราม สาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ประมาณ 12,700 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7.94 ล้านไร่

ประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความยั่งยืนของการพัฒนาลุ่มน้ำเลย

ลุ่มน้ำเลย เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีแม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสายหลัก ที่มีต้นน้ำอมาจากอำเภอภูหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สูงลาดชัน

'อนุทิน' ลุย 'เกาะกูด' ยันของไทย ไม่มีวันยอมเสียดินแดนให้ใคร

'อนุทิน' ลงพื้นที่เกาะกูด ลั่นรัฐบาลนี้ไม่มีวันยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว พร้อมขอบคุณก๋งวัย 92 ปี ยืนยันเป็นของไทย 100%