แก้เส้นเลือดฝอยเอาไม่อยู่ 'วิโรจน์' ชี้เปรี้ยงต้องทะลวงเส้นเลือดใหญ่

แฟ้มภาพ

11 ก.ย.2565 -​ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯโดยมีรายละเอียดดังนี้

น้ำท่วม กทม. แก้แค่เส้นเลือดฝอยเอาไม่อยู่ ต้องทะลวงเส้นเลือดใหญ่ด้วย

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. ในปี 2565 นี้ นั้นเกิดจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนเกินกว่าขีดความสามารถของระบบระบายน้ำที่มีอยู่ ซึ่งแตกต่างจากปี 2554 ที่เกิดจากน้ำเหนือที่หลากลงมาจากการพายุที่เข้าประเทศไทยถึง 5 ลูก โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดปี 2565 น่าจะพอๆ กับ ปี 2564 (ปี 65 น้อยกว่าปี 64 อยู่เล็กน้อย) แต่น่าจะมากกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 30 ปี

ที่ผ่านมา ส.ก.ก้าวไกล ได้ติดตาม และกำกับการตระเตรียมระบบระบายน้ำของ กทม. อย่างใกล้ชิด ยืนยันว่าฝ่ายบริหารก็พยายามเร่งรัดการลอกท่อระบายน้ำอย่างเต็มที่ และในหลายพื้นที่ก็พบปัญหาท่อระบายน้ำอุดตัน เนื่องจากไม่ได้ลอกท่อมานาน

ผมเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังเป็นอย่างดี และยืนยันว่าประชาชนสมควรที่จะไม่พอใจ และติติงระบบระบายน้ำของ กทม. แต่ผมคิดว่ายังเร็วเกินไปที่จะกล่าวโทษผู้ว่าที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเพียงไม่กี่เดือน

สิ่งหนึ่งต้องยอมรับกันตรงๆ ก็คือ ศักยภาพในการระบายน้ำของ กทม. นั้นมีปัญหาจริงๆ และลำพังแค่การลอกท่อระบายน้ำ ที่เป็นเส้นเลือดฝอย นั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะในหลายพื้นที่แม้ว่า ส.ก.ก้าวไกล จะได้เร่งรัดการลอกท่อระบายน้ำไปแล้ว มีเครื่องสูบน้ำไปประจำการแล้ว แต่น้ำก็ยังระบายได้ช้า และท่วมขังอยู่

น้ำที่ท่วมขัง ณ วันนี้ เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า แค่เส้นเลือดฝอย เอาไม่อยู่แน่ครับ

ผมคิดว่าสิ่งที่ผู้ว่า กทม. ต้องเร่งทำในปีงบประมาณหน้า คือ การทะลวงเส้นเลือดใหญ่ ควบคู่กับการดูแลเส้นเลือดฝอย ซึ่งหมายถึง การขุดลอก และขยายคูคลอง การปรับปรุงระบบประตูน้ำ และระบบปั๊มน้ำ ของทั้ง 3 ทาง ได้แก่ ทางเหนือ สถานีสูบน้ำคลองเปรมใต้ลงคลองรังสิต ทางด้านตะวันตก สถานีสูบน้ำกรมชล ผ่านคลองบ้านใหม่ บางเขน บางชื่อ สามเสน ลงแม่น้ำเจ้าพระยา และทางด้านใต้ คลองผดุงกรุงเกษม เพื่อให้มวลน้ำสามารถถูกลำเลียงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไหลออกทะเลอย่างเร็วที่สุด

ที่สำคัญคือต้องเร่งรัดการก่อสร้างเขื่อน เพราะการที่ไม่มีเขื่อนทำให้การขุดลอกคูคลองเป็นไปอย่างล่าช้า และพอคูคลองตื้นเขิน ก็ทำให้คลองมีปริมาตรในการเก็บกักน้ำที่จำกัด และระบบปั๊มน้ำก็ไม่สามารถเดินเครื่องได้อย่างเต็มที่

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำนอกจากคูคลอง ก็คือ อุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งเป็นแนวคิดในการสร้างคลองใต้ดิน เพื่อเป็นทางลัดน้ำ จากการหารือกับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ผมได้รับการยืนยันว่าอุโมงค์ระบายน้ำนั้นเป็นระบบที่มีประโยชน์มาก เพียงแต่ กทม. ต้องเร่งปรับปรุงให้มันสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เท่านั้นเอง นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญของผู้ว่า กทม. ในปีงบประมาณหน้า

จากปัญหาน้ำในคลองเปรมประชากรที่วางตัวเหนือใต้ขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา ล้นตลิ่ง เพราะต้องรับน้ำจากพื้นที่จากทางรถไฟ ไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา กินพื้นที่หลักๆ ได้แก่ บางซื่อ จตุจักร หลักสี่ บางเขน มีคลองที่แยกตั้งฉาก ระบายน้ำไปออกเจ้าพระยา ผ่านคลองบ้านใหม่ คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองสามเสน เป็นหลัก

ในวันที่ฝนหนัก น้ำจะถูกระบายผ่านคลองเปรมประชากร และการสูบน้ำระบายผ่านคลองที่ตั้งฉากออกแม่น้ำ จะเกิดความล่าช้า อุโมงค์คลองเปรมประชากร จึงถูกวางแผนให้เป็นคลองใต้ดินสำหรับพื้นที่นี้ต่อจากอุโมงค์พระราม 9 ที่รับผิดชอบการระบายน้ำในเขตดินแดง อุโมงค์บางซื่อที่ดูแลตั้งแต่หัวถนนลาดพร้าว สุทธิสาร และเขตห้วยขวาง อุโมงค์คลองตันที่ดูแลเขตบางกะปิ อุโมงค์บึงหนองบอนที่ดูแลเขตประเวศ สวนหลวง บางนา และพระโขนง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างมาก ที่ก่อสร้างมานานก็สร้างไม่ยอมเสร็จ แถมปัจจุบันยังเกิดปัญหาทางวิศวกรรม ที่ยังไม่ทราบว่าจะแก้ไขให้แล้วเสร็จได้เมื่อไหร่

อุโมงค์ระบายน้ำ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ เพียงแต่ที่ผ่านมา ไม่ยอมใส่ใจที่จะใช้ประโยชน์ของมันอย่างเต็มที่

จุดที่น้ำท่วมหนักในพื้นที่ กทม. ในตอนนี้ อยู่ที่เขตดอนเมือง บางเขน และลาดกระบัง ซึ่งปัญหาที่เขตดอนเมือง คงต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจาก จ.ปทุมธานี อย่างไรก็ตามถ้าหากสถานีสูบน้ำที่ปากคลองรังสิต สามารถสูบน้ำได้อย่างเต็มกำลัง น้ำที่เอ่อล้นตลิ่งน่าจะระบายได้ สำหรับในหมู่บ้าน หรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ ที่อยู่ในพื้นที่ จากคลองรังสิตลงมาถึงคลองหกวา ที่มีถนนลำลูกกาเป็นเหมือนคันกั้นน้ำมาจากทางเหนือ และพื้นที่ตามแนวคลองเปรมประชากร ก่อนถึงคลองรังสิต ที่มีชุมชนหนาแน่นเกือบตลอดสองฝั่งคลอง หากนำเอาเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่มาเร่งระบายน้ำ ก็น่าจะทุเลาปัญหาได้

อย่างไรก็ตาม ในวันอาทิตย์ที่ 11 ก.ย. นี้ ผมจะไปตรวจติดตามสถานการณ์ ที่ จ.ปทุมธานี และในวันอังคารที่ 13 ก.ย. จะไปดูหน้างานจริงที่เขตลาดกระบัง เพื่อประเมินสถานการณ์ และจะนำเอาข้อมูลที่ได้ มาวางแผนร่วมกับ ส.ส. และ ส.ก. ของพรรคก้าวไกล เพื่อเตรียมการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ให้ทันต่อสถานการณ์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผมยังคงให้กำลังใจท่านผู้ว่าชัชชาติ อย่างเต็มที่ และยืนยันว่าด้วยระยะเวลาอันจำกัด ท่านผู้ว่าได้พยายามทำในสิ่งที่สามารถจะทำได้ อย่างดีที่สุดแล้ว แต่โจทย์สำคัญคือปีหน้า ที่ผมยืนยันว่าแค่เส้นเลือดฝอยเอาไม่อยู่แน่ ต้องเร่งทะลวงเส้นเลือดใหญ่ด้วย

สู้ๆ ครับ อาจารย์ ผม และ ส.ก.ก้าวไกล ยินดีช่วยอาจารย์เต็มที่ครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตราดระทม! จมบาดาล 1 เมตร เดือดร้อน 3 พันคน

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนรักษ์คลองบางพระ ชุมชนวัดโบสถ์ ชุมชนกิจสวัสดิ์ ถนนเทศบาล 3, 5 ถนนพัฒนาการปลายคลอง ถนนกิตติพัฒนา ซอยสืบแสวงทรัพย์ ซอยร่มไทร ซอยสุเหล่าแขกปลายคลอง ซอยสมจริง ซอยศาลเจ้าแม่ตาเหล ยังคงทรงตัว

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 5 อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อน 'พระพิรุณ'

นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “พระพิรุณ” ฉบับที่ 5 (145/2567) โดยมีใจความว่า

อุตุฯ เตือนฝนฟ้าคะนอง 36 จังหวัด รับมือท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ประกอบกับพายุโซนร้อน